‘คดีน้องชมพู่’ ชุลมุนวุ่นวายเพราะการสอบสวนและการฟ้องคดีวิปริตผิดกฎหมาย ๒
“คดีน้องชมพู่” ชุลมุนวุ่นวายเพราะการสอบสวนและการฟ้องคดีวิปริตผิดกฎหมาย ๒
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” นั้น เจตนาในการกระทำของผู้กระทำก็เพื่อให้ผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำนั้นถึงแก่ความตาย ส่วนความผิดฐาน “ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกินเก้าปีไว้ ณ ที่ใด เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย” อันความผิดตาม ป.อาญา มาตรา ๓๐๖ ประกอบกับมาตรา ๓๐๘ นั้น เจตนาของผู้กระทำที่มีต่อเด็กผู้ถูกกระทำ ก็เพียงเพื่อให้เด็กที่ตนมีหน้าที่ดูแลอยู่พ้นไปเสียจากตนเท่านั้น ความตายที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น จึงอยู่นอกเหนือเจตนาของผู้กระทำ เพียงแต่ผู้กระทำอาจต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการที่ได้กระทำไปนั้น หากว่าความตายที่เกิดแก่เด็กนั้นเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมขึ้นได้จากการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๖ แห่ง ป.อาญา (ป.อาญา มาตรา ๓๐๘ ประกอบมาตรา ๖๓)
ความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่น” กับความผิดฐาน “ทอดทิ้งเด็ก” นั้น มีลักษณะของการกระทำที่กระทำต่อตัวเด็กต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำก็ยังต่างกันอีกด้วย (นำตัวไปปล่อยทิ้งเพื่อ……กับ ทอดทิ้งเพื่อ………..) ความผิดนั้นจึงเป็นความผิดที่ต่างกรรมกัน หรือความผิดคนละกรรม คนละกระทงความผิดกัน
การฟ้องในความผิดหลายกรรมหรือหลายกระทง ป.วิ อาญา มาตรา ๑๖๐ ได้บัญญัติให้ฟ้องแยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป แต่คำฟ้องนั้นกลับได้รวมความผิดทั้งสองฐานเข้าด้วยกัน โดยนำเอาการกระทำที่เป็นองค์ประกอบของความผิดและเจตนาของการกระทำในความผิดทั้งสองฐานนั้นมารวมผสมปนเปคลุกเคล้าให้เข้ากันให้ดูประหนึ่งว่าความผิดที่ฟ้องนั้น เป็นความผิดที่รวมการกระทำแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง (ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามพิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย) หรือเพื่อให้เห็นว่าความผิดที่ฟ้องนั้นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ฟ้องนั้นจึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ศาลต้องมีคำสั่งยกฟ้องตั้งแต่ชั้นตรวจคำฟ้องตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๑๖๑ แล้ว
ข้อ ๕ ป.วิ อาญา มาตรา ๑๕๐ ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่………….
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตหรือเพื่ออำพรางคดี ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นถึงห้วงเวลาของการกระทำอันเป็นความผิดไว้โดยชัดแจ้ง แต่เมื่อได้พิจารณาข้อความว่า “ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น” ประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา ๑๔๐, ๑๕๔ และ ๑๕๕ แห่ง ป.วิ อาญานั้น ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของการชันสูตรพลิกศพ คือนับตั้งแต่การชันสูตรพลิกศพได้เริ่มขึ้นจนกระทั่งเสร็จสิ้น
เมื่อการกระทำใดๆ อันเป็นความผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของการชันสูตรพลิกศพแล้ว ฉะนั้น บุคคลที่จะกระทำการใดๆ เช่นนั้นได้ ก็คงมีเพียงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพเท่านั้น ซึ่งผู้มีหน้าที่ดังกล่าวก็คือบุคคลทั้งหลายตามที่บัญญัติไว้ในบทบัญญัติว่าด้วย “การชันสูตรพลิกศพ” ใน ป.วิ อาญาเท่านั้น ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีฐานะเป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” ทั้งสิ้น (เป็นเหตุผลที่ต้องนำมาบทบัญญัติของมาตรา ๑๕๐ ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติมาบัญญัติไว้ใน ป.วิ อาญา ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ)
จำเลยที่ ๑ และ ๒ มิได้เป็นบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ และไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน จึงเป็น “ตัวการ” ในความผิดตามมาตรา ๑๕๐ ทวิ แห่ง ป.วิ อาญา ไม่ได้ ฟ้องของโจทก์ในข้อ ๑ (ค) จึงเป็นฟ้องที่ผิดกฎหมาย (เจตนารมณ์ของกฎหมาย)
บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๐ ทวิ แห่ง ป.วิ อาญา นั้น มีที่มาจากกรณีคดีวิสามัญฆาตกรรมนายสุเทพ เรือนใจมั่น หรือ “โจ ด่านช้าง” กับพวกรวม ๖ คน ที่ ต.วังพลับ อ.สองพี่น้อง จว.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ โดยมีพลตำรวจเอกสล้าง บุนนาค รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปรามขณะนั้น เป็นผู้บงการวางแผน จากเหตุดังกล่าวได้เกิดการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับศพ สถานที่เกิดเหตุ และบริเวณแวดล้อมของสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงผลการตรวจพิสูจน์ต่างๆ ข้อเท็จจริงของปัญหาดังกล่าวจึงได้ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายเพิ่มเติมไว้ โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒๑) พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๕
ข้อ ๖. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า ฟ้องนั้นต้องมี “ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำอันเป็นความผิดนั้น” ด้วย
คำว่า “สถานที่” นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่า เป็นสิ่งที่มีอาณาบริเวณหรือขอบเขตอันจำกัด เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่รู้ได้แน่นอนและเข้าใจกันได้เมื่อกล่าวถึงสิ่งนั้น นอกจากข้อเท็จจริงของสถานที่แล้ว กฎหมายยังบัญญัติว่าต้องมีรายละเอียดของสถานที่นั้นอีกด้วย แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ในข้อ ๑ (ค) ตอนท้าย ระบุไว้แต่เพียงว่า “เหตุตามฟ้องข้อ ๑ (ก) (ข) และ (ค) เกิดที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
“ตำบล” นั้น เป็นการแบ่งพื้นที่ในทางการปกครองตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งเขตตำบลในแต่ละตำบลนั้น ย่อมมีพื้นที่กว้างขวางนับได้หลายสิบตารางกิโลเมตร เขตตำบลจึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “สถานที่” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ (๕) แห่ง ป.วิ อาญา อีกทั้งคำฟ้องนั้นยังทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุตามฟ้องทั้งในข้อ ๑ (ก) (ข) และ (ค) นั้น เกิดขึ้น ณ ที่แห่งเดียวกัน ซึ่งเป็นการขัดกับสภาพของข้อเท็จจริงตามฟ้อง จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหานั้นได้เลย ฟ้องนั้นจึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ อาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) อีกเช่นกัน
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 18 ธ.ค. 2566