‘รถหนัก’ ถนนพังทั้งประเทศ ก่ออุบัติเหตุ เจ็บตาย  ‘จ่ายส่วยตรงเวลา’  ตร.ผู้น้อยจับตามหน้าที่ไม่ได้

ยุติธรรมวิวัฒน์

รถหนัก” ถนนพังทั้งประเทศ ก่ออุบัติเหตุ เจ็บตาย     “จ่ายส่วยตรงเวลา” ตร.ผู้น้อยจับตามหน้าที่ไม่ได้

 

                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

               ภาพ รถบรรทุกดินหนัก ทับฝาบ่อพักสายไฟใน กทม.บริเวณถนนสุขุมวิทหักคาตา ผู้ว่าฯ และนักวิชาการรวมทั้งสื่ออ่อนโลกบางคนตั้งประเด็นปัญหาว่าอาจเป็นเพราะคอนกรีตปิดบ่อชั่วคราวระหว่างการทำงานไม่ได้มาตรฐาน!

หรือแท้จริงมีการ จ่ายส่วย ให้หัวหน้าหน่วยตำรวจทุกระดับผู้รับผิดชอบ จึงไม่มีการตรวจสอบและตรวจตราจับกุมดำเนินคดีตามหน้าที่

ขณะนี้ผู้คนสนใจกันแต่ว่า สติกเกอร์ดาวเขียว ที่ติดกระจกหน้ารถบรรทุกบริษัทนี้ทุกคันนั้นหมายถึงอะไร?

เป็นสัญลักษณ์ว่าได้ จ่ายส่วย ให้ตำรวจครบตรงตามกำหนดแล้วหรือไม่ จึงสามารถบรรทุกหนักกันได้ขนาดนั้น

ส่วนประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เขาไม่สงสัยกันแต่อย่างใด

เขาคิดด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ว่า ถ้าไม่จ่าย ไม่ว่าจะมีสติกเกอร์ติดเป็นสัญลักษณ์หรือไม่ 

ประชาชนทั่วไปจะสามารถบรรทุกได้หนักเกือบสี่สิบตันโดยไม่มีตำรวจหน่วยใดตรวจจับกันเลยเช่นนี้หรือ?

ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการพิสูจน์ว่า ตำรวจคนไหนหรือระดับใดรับส่วยรถบรรทุกผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่าจะในรูปแบบใด

เอาเป็นว่า หัวหน้าหน่วยตำรวจและผู้ได้รับมอบหมายในทุกระดับที่ “มีหน้าที่รับผิดชอบ” การตรวจสอบจับกุม แล้วไม่ทำหน้าที่

จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการและประชาชนอย่างร้ายแรงกันเช่นนี้

ถือว่ามีความผิดทางวินัย ที่จะต้องลงโทษ “ไล่ออก” หรือ “ปลดออก” จากราชการด้วยกันทุกคน 

ตามข้อเท็จจริงทางหลวงในประเทศไทยทุกสาย ได้ ถูกออกแบบให้รับน้ำหนักบรรทุกแค่ 21 ตัน เท่านั้น

เป็นน้ำหนักบรรทุกลงเพลาไม่ว่ารถจะมีกี่ล้อก็ตาม

ถือเป็นน้ำหนักบรรทุกสูงสุดที่มีความคุ้มค่าตามงบประมาณการก่อสร้าง

แต่หากจะออกแบบและก่อสร้างให้รับน้ำหนักให้มากกว่านั้น ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่า

โดยเฉพาะ สะพาน ทั่วไทย จะต้องออกแบบและสร้างใหม่ทั้งหมด

ถ้ารถทุกคันบรรทุกหนักตามที่กฎหมายกำหนด จะทำให้ถนนลาดยางแอสฟัลต์มีอายุใช้งานถึง 7 ปี จึงจะมีการซ่อมครั้งแรก

หากเป็นถนนคอนกรีต จะมีอายุใช้งานถึง 30 ปี

แต่เนื่องจาก ระบบตำรวจไทยที่เต็มไปด้วยการทุจริตและไร้ประสิทธิภาพในความเป็นจริง ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตลอดมา

ซ้ำช่วงเวลาหนึ่ง ยังได้มีนักการเมืองเรืองอำนาจ เสนอให้ขยายน้ำหนักบรรทุกไปเป็น 25 ตัน เมื่อประมาณยี่สิบปีมานี้

อ้างว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของการบรรทุกหนักผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย รัฐไม่สามารถแก้ไขได้!

ก่อให้เกิดปัญหาทางหลวงทุกสายทั่วไทย ชำรุดเสียหายในเวลาอันรวดเร็ว หลังเสร็จการก่อสร้างนับแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยเฉพาะ ถนนสายรองในท้องถิ่นอำเภอและตำบลหมู่บ้าน ที่สร้างเพื่อรองรับการบรรทุกเพียง 18 หรือ 12 ตัน แทบ จะพังในเวลาไม่กี่เดือนหลังเปิดใช้

เนื่องจากในข้อเท็จจริง รถบรรทุกจำนวนหนึ่งซึ่งจ่ายส่วยให้ตำรวจหัวหน้าหน่วยทุกท้องที่รถแล่นผ่าน ไม่ได้บรรทุกกันแค่ 25 ตันกันแต่อย่างใด

เพราะหากรถบริษัทใดที่ จ่ายส่วย ให้ตำรวจทุกหน่วยและทุกสถานีที่รถแล่นผ่านตรงตามเวลา  ก็จะไม่มีการตรวจตรา ไม่ว่าจะบรรทุกหนักกี่สิบตัน ก็ตาม

ประเทศไทยจึงมีปัญหาอุบัติเหตุ ผู้คนบาดเจ็บพิการและล้มตายมากมาย

ติดอันดับหนึ่งหรือสองของโลกต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีจนกระทั่งบัดนี้!

นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา บอกว่า มิใช่เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็ถูกต้อง

แต่เมื่อท่านมีอำนาจรัฐสูงสุดอยู่ในขณะนี้  ก็ควรบอกประชาชนว่าจะมีวิธีจัดการหรือแก้ปัญหาอย่างไร

รถบรรทุกหนัก เคลียร์ตำรวจแบบพรีเมียม คือบรรทุกได้ไม่จำกัด นั้น

แค่ ดูด้วยตาก็รู้ ฟังเสียงรถแล่นด้วยหูก็สามารถบอกได้ว่าประมาณกี่ตัน

ตำรวจผู้เป็นเจ้าพนักงานดูหรือฟังแล้วถือว่ามีเหตุควรสงสัย ก็สามารถเรียกให้คนขับหยุดรถ นำไปตรวจสอบโดยใช้เครื่องชั่งของเอกชนที่มีอยู่มากมายได้แสนง่าย

คลาดเคลื่อนไปก็ไม่เกินสองสามตัน

แต่ปัญหาเรื่องรถบรรทุกหนักหรือรถบรรทุกผิดกฎหมายทั่วไทยก็คือ การ จ่ายส่วย ให้ตำรวจหัวหน้าหน่วยผู้รับผิดชอบในหลายรูปแบบแทบทั้งสิ้น

ตำรวจผู้น้อยทุกคนที่ตรวจตราอยู่ตามถนนหนทางไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน จึงไม่สามารถแตะต้องได้

ใครขืนจับ รับรองว่าไม่กี่เดือนหรือแค่ไม่กี่วันจะถูกย้ายเปลี่ยนหน้าที่ ไม่ให้มีอำนาจตรวจจับรถผิดกฎหมายอีกต่อไป

นายกรัฐมนตรีบอกไม่ชอบคำว่า “ปฏิรูป” หรือแม้แต่ “สังคายนาตำรวจ” หากจะใช้วิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป

ช่วยบอกประชาชนให้ทราบหน่อยว่า “จะทำอย่างไร”?   

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 13 พ.ย. 2566

 

About The Author