‘ใบสั่งปีศาจ’ สั่งแล้วต้องจ่าย ‘ตามจำนวนที่กำหนด’ เจ้าพนักงาน ‘งดใช้ดุลพินิจ’ ปรับอย่างเป็นธรรม
“ใบสั่งปีศาจ” สั่งแล้วต้องจ่าย “ตามจำนวนที่กำหนด”
เจ้าพนักงาน “งดใช้ดุลพินิจ” ปรับอย่างเป็นธรรม
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้สังคมไทยได้มีปัญหา ผู้คนพูดจากันเซ็งแซ่เรื่องการอนุญาตให้มีและพกพาอาวุธปืน เนื่องจากหลายกรณีได้มีผู้นำไปใช้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงมากขึ้นทุกวัน
รวมทั้ง แบลงก์กัน หรือที่ตามกฎหมายคือ พ.ร.บ.อาวุธปืนเรียกว่า สิ่งเทียมอาวุธปืน
ก็มีคนนำไป ดัดแปลงเป็นอาวุธปืนจริงยิงได้ “เจ็บจริง ตายจริง” อย่างกรณีเด็กชายอายุ 14 นำไปใช้ไล่ยิงผู้คนที่ห้างสยามพารากอนเมื่อหลายวันก่อน ตาย 2 เจ็บ 5 นั้น
ปัญหาแท้จริง ไม่ใช่เรื่องการนำเข้า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” เพราะแท้จริงไม่ใช่ปืนที่จะสามารถนำไปใช้ยิงคนตายได้ หรือเป็นผลสะสมมาจากการเล่นเกมที่บ่มเพาะความก้าวร้าว หรือการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่อย่างใด
เพราะ นั่นเป็นปัจจัยนามธรรมทางสังคมที่รัฐควบคุมได้ยาก
หากแต่อยู่ที่ “ความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของตำรวจทุกหน่วยซึ่งมีหน้าที่” ในการปล่อยให้มีร้านดัดแปลง “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ให้เป็น “ปืนเถื่อน” โฆษณาขายอยู่เกลื่อนเว็บออนไลน์มากมาย!
ทั้งคนดี คนร้าย เด็กและผู้ใหญ่หาซื้อกันได้แสนง่าย
โดยตำรวจแห่งชาติเพิ่งมาขมีขมันทำหน้าที่สืบจับดำเนินคดีกันหลายรายหลังจากเกิดเหตุร้ายที่สร้างความเสียหายต่อชาติและประชาชนอย่างมากมายไปแล้ว?
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งทำให้ประชาชนชาวไทยรู้สึกฮือฮาและสะใจอย่างมากก็คือ
กรณีที่ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 27 กันยายน 2566 ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี คือ นางสุภา โชติงาม หรือจอมพันธ์
ให้ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563 และประกาศเรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศดังกล่าว!
แม้ผลคำพิพากษาคดีนี้จะยังไม่ถึงที่สุด เพราะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผู้ถูกฟ้องยังสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้
แต่ก็ ทำให้คนไทยได้เข้าใจหลักความยุติธรรมจาก ความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด
โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ใน การกำหนดจำนวนค่าปรับแบบตายตัวทั่วประเทศ
เป็นปัญหาที่ “พวกนายพลตำรวจผู้ไม่รู้กฎหมาย” ได้ออกคำสั่งให้ตำรวจทุกสถานีปรับประชาชนแบบมั่วๆ ขัดต่อกฎหมายและหลักความยุติธรรมกันมานานนับสิบปี
แม้จะไม่ได้ถึงขนาดทำบัญชีค่าปรับแนบท้ายประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เริ่มในปี พ.ศ.2563
โดยไม่ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจใช้ดุลพินิจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิด พ.ร.บ.จราจร ให้สอดคล้องกับพฤติการณ์ของการกระทำผิด รวมทั้งสถานะทางเศรษฐกิจของบุคคลในแต่ละพื้นที่
คำพิพากษาที่สำคัญอยู่ในตอนท้าย มีดังนี้
…….ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) เป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจออกประกาศกำหนดเกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบได้ ซึ่งหมายถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดหลักเกณฑ์หรือกรอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรในการกำหนดค่าปรับจราจรเท่านั้น หาใช่ให้ใช้อำนาจกำหนดจำนวนค่าปรับไว้ล่วงหน้าเป็นอัตราคงที่แน่นอนตายตัวแต่อย่างใดไม่ และโดยที่มาตรา 140 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติ ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจใช้ดุลพินิจในอันที่จะเลือกใช้มาตรการตามที่กฎหมายกำหนดว่าจะว่ากล่าวตักเตือนหรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับ และ ในกรณีที่เลือกออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับนั้น จะให้ชำระเป็นจำนวนเท่าใดย่อมมีอำนาจดุลพินิจที่จะกำหนดได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กำหนดสำหรับใช้ในการเปรียบเทียบ
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกประกาศพิพาทโดยกำหนดไว้ในข้อ 3 วรรคหนึ่ง ว่า จำนวนค่าปรับเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ และวรรคสองกำหนดว่า บรรดาประกาศข้อกำหนด หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในประกาศนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ใช้ประกาศนี้แทน………
จะเห็นได้ว่า การกำหนดจำนวนค่าปรับดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับเจ้าพนักงานจราจรใช้ในการพิจารณากำหนดจำนวนค่าปรับเพื่อออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระต่อไปแต่อย่างใด
หากแต่มีลักษณะ เป็นการกำหนดจำนวนค่าปรับไว้ล่วงหน้าเป็นอัตราคงที่แน่นอนตายตัวโดยที่เจ้าพนักงานจราจรไม่อาจใช้ดุลเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนให้เหมาะสมและเป็นธรรมตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้มีอำนาจดุลพินิจได้ ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดอัตราค่าปรับแก่ผู้กระทำผิดแทนหรือตัดอำนาจดุลพินิจของเจ้าพนักงานจราจรในตำแหน่งอื่น
กรณีจึงขัดหรือแย้งกับมาตรา 140 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจในการออกประกาศดังกล่าว
ดังนั้น ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 จึงเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประชาชนคนไทยผู้เคยเจ็บช้ำน้ำใจจากการถูกจับและปรับของตำรวจตามคำสั่งและประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนด ค่าปรับตายตัว ไว้อย่างไม่เป็นธรรม มานานนับสิบปี
เป็นการปรับที่ไม่สอดคล้องกับพฤติการณ์กระทำผิดในแต่ละกรณีและพื้นที่ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรมีหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรม
ทุกคนต่างรู้สึกสะใจและดีใจกันใหญ่ ที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่เป็นการรักษาหลักความยุติธรรมไว้เช่นนี้
แต่แทนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะรีบกระวีกระวาด รีบแก้ไขแบบใบสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อลดความเดือดร้อนและไม่พอใจของประชาชน
ผู้รับผิดชอบบางคนยังมีความคิดที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัย
เพื่อเป็นการซื้อเวลาและหวังว่าจะได้ไม่ต้องรีบแก้ไข หรือปฏิบัติตามคำพิพากษาที่เป็นการรักษาหลักความยุติธรรมในสังคมเอาไว้.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 9 ต.ค. 2566