‘นายกรัฐมนตรี’ต้องชี้แจง จะจัดการให้ทักษิณ’ติดคุก’เหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร

ยุติธรรมวิวัฒน์

นายกรัฐมนตรี’ต้องชี้แจง จะจัดการให้ทักษิณ’ติดคุก’เหมือนคนทั่วไปได้อย่างไร

                                                                                                                                                                                                                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

โจทย์ใหญ่ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30  ของประเทศไทยในขณะนี้

ไม่ใช่มีแต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเร่งหาเงินเข้าประเทศ หรือดำเนินโครงการสวัสดิการลดแลกแจกแถมพร้อมคำมั่นสัญญาอีกมากมายตามที่ พรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมรัฐบาล ได้โฆษณาหาเสียงกันโขมงโฉงเฉงไว้แต่อย่างใด

แต่ยังมี ปัญหาใหญ่ ที่พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดหรือเขียนเป็นนโยบายอะไรไว้ให้ปรากฏก็คือ

“ความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมทางอาญา”

นายเศรษฐา จะรู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยเฉพาะ ในชั้นจับกุมและการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจ

มีปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนและสังคมร้ายแรงเพียงใด?

เป็น กระบวนการยุติธรรมที่สร้างความคับแค้นใจ ให้ประชาชน ตั้งแต่การ ถูกตำรวจตั้งด่านขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบตามกฎหมาย!

หรือถูกออก หมายเรียกเป็นผู้ต้องหา ได้แสนง่าย รวมไปถึง หมายจับ

หรือแม้กระทั่งเมื่อเป็น ผู้เสียหาย จากอาชญากรรม

ประชาชนเดินขึ้นสถานีตำรวจไปแจ้งความ ตำรวจก็ไม่รับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายให้ง่ายๆ!

หลายคนต้องขวนขวาย จ้างทนาย หรือแม้แต่ร้องขอให้ นายหน้ารับแจ้งความ ช่วยนำพาไป

เพื่อจะได้เป็นข่าว ออกรายการดังทางทีวี ตำรวจผู้ใหญ่จึงจะกระวีกระวาดดำเนินการสอบสวนให้

 นายกรัฐมนตรี รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน การล้มคดี ทุกประเภทของตำรวจได้เกิดขึ้นทั่วประเทศมากมาย!

โดยไม่ต้องมีแม้แต่เอกสาร นิยายสอบสวน ส่งให้อัยการ ตรวจ และ สั่งไม่ฟ้อง เช่นแต่ก่อนด้วยซ้ำ!

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทย กำลังอยู่ในสภาพ ล้มละลาย

ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือเชื่อมั่นกันแทบทุกขั้นตอน

บั่นทอนความสงบสุขและความมั่นคงของชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน!

กรณี นายทักษิณ ชินวัตร หนีหมายจับของรัฐไทยไปนานกว่า 15 ปี และมีภาพการเดินทางกลับมาเพื่อรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลฎีการวม 10 ปี

การที่มีคนบางพวกบางกลุ่มไปรอต้อนรับและแสดงความยินดีเพราะมีบุญคุณ หรือคิดหวังให้หนุนช่วยได้ตำแหน่งทางการเมือง ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของพวกเขาเหล่านี้

แต่กรณีที่ ตำรวจผู้มีหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีหมายจับเหมือนกับประชาชนทั่วไป

ไม่ว่าจะเป็นการ อ่านและแสดงหมายจับ พร้อม เข้าควบคุมตัวทันที

แต่กลับมีภาพการ ยืนทำความเคารพ และปล่อยให้มีอิสระในการเคลื่อนไหวเดินไปทักทายกับคนนั้นคนนี้ มีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส

เป็นการ ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมไทย ให้ผู้คนคับแค้นใจมากขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะภาพ ตำรวจในเครื่องแบบ ซึ่งหมายถึง ตัวแทนแห่งรัฐ ยืนทำความเคารพ ผู้กระทำผิดกฎหมายหนีหมายจับ

ยิ่งบาดใจประชาชน โดยเฉพาะคนที่เคยถูก ตำรวจจับเหมือนหมูเหมือนหมา เวลาพลั้งเผลอกระทำผิดไม่ว่าเรื่องใด

นอกจากนั้นยังสะท้อนถึง จิตใจที่อ่อนแอ ของตำรวจไทย ที่ไม่รู้ว่าอะไรควรและไม่ควร

เป็นการกระทำผิดวินัยข้อหา ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

นอกจากนี้ การควบคุมตัวเข้าไปรับโทษในเรือนจำ เรื่องง่ายๆ ก็กลายเป็นการกระทำที่มีเงื่อนงำ!

เพราะเข้าไปยังไม่ทันข้ามวัน ก็ถูกย้ายกลางดึกให้ไปนอน “โรงพยาบาลตำรวจ” ในห้องพิเศษ

ด้วยเหตุผลว่าจำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายโรคที่ โรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์หมดความสามารถ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ปัญหาก็คือ คนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวโลกไม่เชื่อว่าความจริงเป็นเช่นนั้น

“จรรยาแพทย์” ทั้งของโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ เป็นเรื่องที่ถูกผู้คนตั้งข้อสงสัยมากมาย

โดยยังไม่มีผู้รับผิดชอบคนใดชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าอาการป่วยที่บอกเกิดขึ้นอย่างฉับพลันนั้นคือโรคใด และได้มีการนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเรือนจำอย่างสุดความสามารถก่อนหรือไม่?

พยายามรักษาแล้ว อาการใดที่ทำให้หมดความสามารถ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในโรงพยาบาลตำรวจ

ขณะนี้อาการที่ว่าอันตรายไม่สามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์นั้นผ่านไปแล้วหรือไม่?

และรัฐจะควบคุมตัวกลับไปขังไว้ในเรือนจำเช่นเดียวกับประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติผู้ต้องรับโทษกันอยู่มายมายเมื่อใด?

เป็นปัญหาใหญ่ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องชี้แจงให้ประชาชนหายสงสัย

เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าใจและยอมรับว่า “กระบวนการยุติธรรมอาญาไทย” ในทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

ไม่มีใครสามารถ “เลือกปฏิบัติ” กับใครเป็นพิเศษได้

ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะมี “อำนาจ” หรือ “ฐานะทางเศรษฐกิจ” ต่างกันเพียงใด.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 28 ส.ค. 2566

About The Author