“ในร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนซ่อนกลพอสมควร เพราะอัยการจะเข้ามาได้ต่อเมื่อตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการเช่นนี้ความยุติธรรมก็สูญหายไปแล้ว”-ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

ในร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนซ่อนกลพอสมควร เพราะอัยการจะเข้ามาได้ต่อเมื่อตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการเช่นนี้ความยุติธรรมก็สูญหายไปแล้ว เพราะถ้าเป็นคดีที่ตำรวจไม่แจ้งก็จบสิ้นไประหว่างทาง เพราะหลักใหญ่อัยการต้องทราบตั้งแต่เริ่มต้น มาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นเป็นมาตรฐานที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถที่จะกุมอะไรแล้วเป่าได้โดยลำพัง

เรื่องคดีจะขาดอายุความ ที่ให้ฟ้องร้องไปก่อน เป็นการเอาเสรีภาพประชาชนเป็นตัวประกันในนามของอายุความ เป็นการผลักภาระการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ประชาชนไปว่าเอาข้างหน้า ทั้งที่โดยหลักจะต้องฟ้องคดีภายในอายุความ …ในร่างกฎหมายที่เขียนไว้ไม่มีนัยที่จะทำให้อำนาจของผู้ว่าฯบริหารจัดการทุกข์สุขได้ ไม่มีอำนาจให้ความดีความชอบอะไรได้ เพราะตอบสนองอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด”

 

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา จะแก้ปัญหาความอยุติธรรมในสังคมไทยได้แค่ไหน?”จัดโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) Police Watch และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่ที่เรื่องงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ความจริง กระบวนการยุติธรรมของไทยมาจากต้นทางซึ่งมาจากตำรวจที่มีอำนาจในการโยนความผิดให้ประชาชนโดยลำพังโดยที่อัยการไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยตรวจสอบสอบ กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีอยู่หลักสำคัญมีหลักเดียวเท่านั้น คือ การพิสูจน์ความจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาทางคดีนั้นมีความผิดหรือบริสุทธิ์

 

ศ.ดร.บรรเจิด ได้ยกเอาหลักการดังกล่าวไปวางดูว่าจะอยู่ในร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาหรือไม่ ดังนี้ 1.คือหลักความเป็นอิสระของคนที่อยู่ในกระบวนการ เช่น องค์กรตุลาการเขียนเรื่องหลักอิสระไว้ชัดเจน แล้วต้นทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีหลักประกันความเป็นอิสระให้หรือไม่ ถ้าต้นทางเบี้ยวบูด กลางทาง ปลายทางไม่มีวันตรงได้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขาดการให้หลักประกันความอิสระของพนักงานสอบสวนในคดี

 

2.การให้พนักงานอัยการเข้าไปมีส่วนร่วมการสอบสวนคดี ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้พยายามเขียนอ้อมไปอ้อมมาเพื่อให้เห็นว่าพยายามให้อัยการเข้าไปมีบทบาทในการสอบสวน การเขียนเช่นนี้เกรงว่าจะไปซ้ำรอยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอที่ให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวน ซึ่งตรงนั้นไม่ได้มีบทบาทเข้าไปช่วยกำกับทิศทางพิสูจน์ความจริง หลักใหญ่ใจความคืออัยการจะต้องรู้เห็นข้อเท็จจริงตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อจะช่วยกำกับทิศทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีเพื่อนำไปสู่ข้อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนั้นมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องคดีหรือไม่

 

เท่าที่ดูในร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนซ่อนกลพอสมควร เพราะอัยการจะเข้ามาได้ต่อเมื่อตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา กระบวนการเช่นนี้ความยุติธรรมก็สูญหายไปแล้ว เพราะถ้าเป็นคดีที่ตำรวจไม่แจ้งก็จบสิ้นไประหว่างทาง เพราะหลักใหญ่อัยการต้องทราบตั้งแต่เริ่มต้น มาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น เป็นมาตรฐานที่ไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถที่จะกุมอะไรแล้วเป่าได้โดยลำพัง ในต่างประเทศถ้ามีการร้องเรียนมาเขาต้องสำเนาส่งให้อัยการ 1 ชุด เพื่อให้อัยการได้รู้ตั้งแต่เริ่มต้นว่ามันมีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ อัยการประสงค์จะลงมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ทำได้ ณ นาทีนั้น นี่คือการสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนั้นมีความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น

 

เพราะฉะนั้นในมาตรา 15 ที่เขียนไว้ว่าพนักงานอัยการจะลงมาก็ต่อเมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ถามว่าถ้าพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการแจ้งในคดีที่สำคัญ แสดงว่าอัยการไม่มีโอกาสเข้ามาถ่วงดุลตั้งแต่เริ่มต้น ตรงนี้เป็นนัยสำคัญของมาตรฐานสากลที่ต้องให้งานสอบสวนกับอัยการเป็นเรื่องเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันคือการพิสูจน์ข้อเท็จจริง อัยการจะถ่วงดุลได้อย่างไรถ้าเห็นถ้าแค่ในสำนวน จึงต้องเข้ามาตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อกำหนดทิศทางในการแสวงหาข้อเท็จจริง ถ้าไปเขียนวกวนก็จะเหมือน ดีเอสไอ จะไม่ใช่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นประโยชน์เพื่อประชาชน พนักงานสอบสวน อัยการ ไม่ต้องมาขัดแย้งกันแต่เป็นฟังก์ชั่นที่ต้องทำงานร่วมกันในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี ที่อาจเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธ์หรือความผิดในคดีที่มีการกล่าวหา

 

3.กระบวนการยุติธรรมทางคดีอาญาต้องเชื่อมโยงประชาชน ในต่างประเทศจะมีกระบวนการถ่วงดุลจะมีคณะกรรมการจริยธรรมของการสอบสวน หมายความว่าถ้ากลไกการสอบสวนนั้นอาจจะบิดเบี้ยว คู่กรณีคู่ความที่เกี่ยวข้องมีอำนาจที่จะร้องไปที่คณะกรรมการในการเข้ามาสอบสวนจริยธรรมของการสอบสวนได้ แต่ในร่างพ.ร.บ.ทั้ง2ฉบับ ไม่มีกระบวนการเข้ามาตรวจสอบจริยธรรมของงานสอบสวน แต่ไปมีกร.ตร.(คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ”ซึ่งเป็นกรรมการรับเรื่องร้องเรียนทั่วไปของการทำงานของตำรวจ จึงอยากให้แยก ให้เห็นว่าตรงนี้เป็นเรื่องการสอบสวนไม่ใช่ภารกิจการปราบปรามทั่วไป จึงควรมีกระบวนการเฉพาะการสอบสวน ซึ่งเรามองไม่เห็น ว่ากระบวนการสอบสวนจะเที่ยงธรรมหรือไม่ แต่ไปโยงที่ กร.ตร.ซึ่งเป็นเรื่องร้องเรียนทั่วไปซึ่งให้ภาพเบลอมาก

 

4.การสร้างหลักประกันให้ผู้เสียหาย ในกรณีที่การสอบสวนดำเนินการไปถึงที่สุดแล้วไม่ฟ้องร้อง เราให้หลักประกันผู้เสียหายได้ไหมว่าถ้าไม่ฟ้องร้องให้เอาสำนวนนั้น เพื่อไปฟ้องร้องเองได้ เพราะการใช้อำนาจรวบรวมหลักฐานเป็นการใช้อำนาจรัฐซึ่งปัจเจกบุคคลไม่มีอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดการเอาเรื่องไปถึงศาลนั้นยังมีประชาชนเป็นทางสุดท้ายอยู่ซึ่งจะช่วยกำกับการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆได้

 

5.ใน ม.22 เรื่องคดีจะขาดอายุความ ที่ให้ฟ้องร้องไปก่อน เป็นการเอาเสรีภาพประชาชนเป็นตัวประกันในนามของอายุความ เป็นการผลักภาระการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ประชาชนไปว่าเอาข้างหน้า ทั้งที่โดยหลักจะต้องฟ้องคดีภายในอายุความ มีระยะเวลาของมัน 5 ปี 10 ปี 20 ปีถ้าฟ้องร้องไม่ได้มันเป็นความรับผิดของของกลไกการสอบสวนไม่ใช่ผลักภาระไปให้ประชาชน ซึ่งมันเป็นความรับผิดชอบของรัฐในการพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ในเบื้องต้นที่กล่าวหานั้นมีพยานที่จะมัดได้หรือแค่ไหนเพียงใด ไม่ใช่ผลักภาระนี้ให้กระบวนการศาลแล้วเอาเสรีภาพประชาชนเป็นตัวประกัน โดยไม่โฟกัสไปที่กระบวนการยุติธรรมที่จะต้องรับผิดชอบต่อเสรีภาพของประชาชน

 

6.ทีเขียนไว้ให้อัยการเข้ามาในคดีสำคัญ ขอเพิ่มเติมในคดีที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ให้อัยการสามารถเข้าได้ หากผู้เสียหายร้องขอเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกระบวนการสอบสวน เพราะคนที่จะไปฟ้องคืออัยการ เพราะฉะนั้นการให้อัยการรู้มันจะเสียหายตรงไหนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

7.การจัดวางโครงสร้างองค์กรตำรวจ เมื่อไม่แยกพนักงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นความอิสระจะไปโยงกับโครงสร้างองค์กรว่าจะจัดอย่างไร แม้จะให้พนักงานสอบสวนแยกสายงานแล้ว แต่การจัดโครงสร้างตำรวจที่ไปผนวกรวมกับราชการส่วนภูมิภาค โดยภาพรวมส่วนราชการภูมิภาคในจังหวัดหนึ่งมี มีโครงสร้างส่วนราชการซ้อนกันอยู่4 ชั้น 1.ราชการส่วนภูมิภาคคือ จังหวัด กับอำเภอ 2.ราชการส่วนกลางที่ไปอยู่ในจังหวัดรวมถึงตำรวจด้วย แต่ตำรวจไม่ได้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด 3.ส่วนราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว แยกออกเป็น เทศบาล อบจ.อบต.และ4.จังหวัดบูรณาการ ซึ่งมี18ภาค

 

ถามการจะแก้ปัญหาหนึ่งๆลองนึกถึงกรณี”ถ้ำหลวง”เป็นกรณีตัวอย่างถ้าผู้ว่าฯไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการก็ไมสามารถแก้ปัญหาทุกข์สุขของประชาชนได้ เช่นเดียวกับเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เขียนไว้เหมือนจะดีว่าในการดำเนินการในจังหวัดหนึ่งให้มีแผนในการดำเนินงานต่างๆแล้วให้องค์กรท้องถิ่นอุดหนุนได้ แต่ไม่ได้เน้นการบริหารจัดการที่เอาทุกข์สุขของประชาชน เป็นที่ตั้ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องมีอำนาจบังคับบัญชาตำรวจในจังหวัดในพื้นที่ได้ ถึงจะเชื่อมโยงโครงสร้างในการบริหารจัดการได้ ตัวอย่าง ถ้าปีนี้น้ำแล้ง ผู้ว่าฯสั่งปภ.ได้ แต่ถ้าจะแก้ปัญหาระยะยาวไม่ให้มีน้ำแล้ง ก็ไม่มีอำนาจ เพราะขึ้นอยู่กับกรมชล เช่นเดียวกับความปลอดภัย ถ้าจะแก้เรื่องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถึงจะมีการเขียนเรื่องแผนก็จริง แต่การสั่งการไม่มีอำนาจเลย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก ในร่างกฎหมายที่เขียนไว้ไม่มีนัยที่จะทำให้อำนาจของผู้ว่าฯบริหารจัดการทุกข์สุขได้ ไม่มีอำนาจให้ความดีความชอบอะไรได้ เพราะตอบสนองอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด

 

ถ้าทำในทิศทาง 7 ข้อ ถึงจะตอบโจทย์ประชาชนได้ ประชาชนทุกข์ยากอย่างยิ่งจากกระบวนการยุติธรรม การที่จะคลายทุกได้ จะต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมโปร่งใส ตรวจสอบพิสูจน์ความจริงได้ ปลายน้ำจะได้พิจารณาสำนวนการตรวจสอบพิสูจน์ความจริงอย่างถูกต้อง ถ้าทำในทิศทางนี้จะเป็นมาตรฐานสากลได้”ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว

About The Author