ครม.ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายป้องกันการทรมาน สี่มาตราฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมร้ายแรง

ยุติธรรมวิวัฒน์

ครม.ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายป้องกันการทรมาน สี่มาตราฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมร้ายแรง

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

           

            กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งกำลังส่งผลให้เกิดการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมของชาติครั้งใหญ่ อยู่ในขณะนี้ โดยที่ไม่ต้องรอ พ.ร.บ.ตร.แห่งชาติ หรือ ตำรวจแห่งจังหวัด อะไร ก็คือ

พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์  2566 

เป็นกฎหมายมีความก้าวหน้า ทั้งเนื้อหาความผิด (สาระบัญญัติ) และวิธีการสอบสวนดำเนินคดี (วิธีสบัญญัติ) เป็นสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก

อาจกล่าวได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องประชาชนถูกเจ้าพนักงานรัฐโดยเฉพาะตำรวจจับกุมและคุมตัวโดยมิชอบ ละเมิดต่อร่างกายจิตใจ นำตัวไปขังไว้ในรถตู้หรือสถานที่ลึกลับ

รีดความลับ หรือเจรจาต่อรองกับญาติเรียกค่าไถ่ ส่งส่วย ตร.ผู้ใหญ่แล้วปล่อยตัวไป!

แม้กระทั่ง ทำให้หายตัว หรือที่ประชาชนคนไทยเรียกกันว่า ถูกอุ้มฆ่า

จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ กว่า 99 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นสำคัญที่สุดของกฎหมายมีสองเรื่องตามมาตรา 22 คือ

เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบการจับต้องบันทึกภาพและเสียงการจับและควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมาย ไม่ว่าเป็นการจับความผิดซึ่งหน้าหรือจับตามหมายไว้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน

และวรรคสอง ต้องแจ้งการควบคุมตัวนั้นให้นายอำเภอและอัยการจังหวัดทราบ “ทันที” ซึ่งหมายถึงในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ มีรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนดไว้

กรณีการจับในกรุงเทพมหานครให้แจ้งสำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และอัยการเขตพื้นที่

สองเรื่องนี้คือมาตรการสำคัญที่สุดในการป้องกันมิให้เจ้าพนักงานของรัฐจับและควบคุมตัวประชาชนโดยมิชอบ

และ การสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ทั้งนายอำเภอ อัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตำรวจ

ผู้พบเห็นการกระทำผิดทุกคนสามารถแจ้งให้ทุกหน่วยตามที่กล่าวนี้สอบสวนดำเนินคดีได้

ไม่ต้องเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกกระทำแต่อย่างใด       

มีบทบัญญัติความผิดฐาน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีโทษ จำคุกถึงสามปี อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นใน สถานีตำรวจสุไหงโก-ลก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผู้บังคับบัญชาบ้าอำนาจ ลงโทษตำรวจ 14 คนด้วยวิธีพิเรนทร์และโหดร้าย ไม่มีในกฎหมาย โดย

“ให้ถอดเสื้อและรองเท้ายืนตากแดด”!

เป็นการประเดิมความผิดมาตรา 6 เป็นรายแรก

เป็นหน้าที่ทั้ง ผบ.ตร. อธิบดีกรมการปกครอง อัยการสูงสุด และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หน่วยหนึ่งหน่วยใด ต้อง “สอบสวนดำเนินคดี” ตาม ป.วิ อาญา โดยมิชักช้า

นำตัวผู้ที่กระทำรวมทั้งผู้บังคับบัญชาผู้สมคบหรือสนับสนุนมารับโทษตามกฎหมาย

หัวหน้าหน่วยคนใดไม่ทำหน้าที่ ก็มีความผิดอาญาด้วยเช่นกัน

ปัญหาใหญ่ที่เกิดกับกฎหมายฉบับนี้ก็คือ  การที่ ผบ.ตร.ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอให้เลื่อนการใช้สี่มาตราสำคัญอันเป็นมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพออกไป คือมาตรา 22–25

แต่การเลื่อนใช้กฎหมายนี้ไม่ว่ากี่มาตราไม่สามารถออกพระราชกฤษฎีกาได้ เช่น บางฉบับที่บัญญัติให้อำนาจไว้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับสภาพพื้นที่

จึงมีหนทางเดียวที่สามารถทำได้คือ การออกพระราชกำหนด ที่ถือเป็นเรื่องใหญ่

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติให้เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพื่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

ประกอบวรรคสองที่ต้องทำโดยคณะรัฐมนตรี  เมื่อ มีกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น

การอ้างเหตุผลมั่วๆ ว่าตำรวจไม่มีความพร้อมเรื่องกล้องบันทึกภาพและเสียง ขอให้เลื่อนการใช้กฎหมายออกไป ในขณะที่หน่วยงานพลเรือนที่มีอำนาจจับกุมตามกฎหมายหลายฉบับอีกมากมายเขาพร้อมหมด

หรือแม้แต่ใครไม่พร้อมด้วยเหตุสุดวิสัยอย่างใด ก็สามารถบันทึกเหตุผลนั้นไว้ได้ ไม่ได้มีโทษอาญาต้องติดคุกติดตะรางแต่อย่างใด

การออกพระราชกำหนดเลื่อนการใช้กฎหมายที่รัฐสภาเห็นชอบให้ตราขึ้นออกไป จึงไม่เข้าเงื่อนไขความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

สอดคล้องกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 172 ไม่มีผลตามกฎหมายแต่อย่างใด

พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ ต้องบังคับใช้ทุกมาตรานับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป 120 วัน คือ 22 กุมภาพันธ์ 2566

แต่เมื่อเจ้าพนักงานบางหน่วยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายไว้ ไม่ว่าการบันทึกภาพและเสียงการจับและควบคุมตัว รวมไปถึงการแจ้งให้นายอำเภอและอัยการทราบเพื่อตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำย้อนหลังได้

อาจทำให้หลายคดีมีปัญหา ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ อย่างน้อยก็ทำให้น้ำหนักคำให้การต่างๆ ของเจ้าพนักงานผู้จับมีความน่าเชื่อถือลดลง

มีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประเทศไทยเห็นเป็นเรื่องเล่นๆ ที่จะสามารถออกพระราชกำหนดให้งดการบังคับใช้พระราชบัญญัติมาตราใดก็ได้

และเมื่อกฎหมายบังคับให้ต้องนำเข้าสู่สภาผู้แทนฯ เพื่อรับรอง และเห็นว่าคงไม่สามารถผ่านไปได้

ส ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็ใช้วิธีเข้าชื่อกันยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซื้อเวลาออกไป

รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดของประเทศไทย กลายเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนฯ สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือปู้ยี่ปู้ยำกระทำการตามใจกันอย่างไรก็ได้!

โดย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบตามกฎหมายอะไรเลยกระนั้นหรือ?.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 พ.ค. 2566

About The Author