‘งานสอบสวน ตร.’ ล้มละลาย สงสัย ‘เหตุการตาย’ ไม่ผ่าศพ จบไปแล้ว!

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘งานสอบสวน ตร.’ ล้มละลาย สงสัย ‘เหตุการตาย’ ไม่ผ่าศพ จบไปแล้ว!

                                                             พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

สิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจนหรือชนชั้นใดก็คือ การได้มีชีวิตและลมหายใจนั่งดูโลกจนสิ้นอายุขัยไปตามธรรมชาติ

ในทุกสังคมประชาธิปไตย กระบวนการตามกฎหมายที่เป็นหลักประกันว่าผู้ ทำให้คนอื่นตายโดยมิชอบ ต้องถูกลงโทษอาญาทุกคนก็คือ

 “การชันสูตรพลิกศพ”

นับแต่ปี พ.ศ.2477 เป็นต้นมา หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีการประกาศใช้ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้ในหมวด 2

ความตายผิดธรรมชาติของบุคคล ทุกกรณีจะต้องมี การชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่เป็นการประหารชีวิตตามกฎหมาย ความตายตามธรรมชาติก็คือ การตายตามอายุขัยหรือมีโรคที่รักษาไม่ได้จนหยุดหายใจ

ส่วน ตายผิดธรรมชาติ ก็คือ (1) ฆ่าตัวตาย (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย (4) ตายโดยอุบัติเหตุ และ (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

คือ เจ้าพนักงานของรัฐยังสรุปไม่ได้แน่ชัด

การชันสูตรพลิกศพเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนท้องที่กับแพทย์นิติเวช โดยต้องแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบ

แต่ถ้าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำโดยเจ้าพนักงานอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่หรืออยู่ระหว่างควบคุม ต้องแจ้งให้อัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ชั้นปลัดอำเภอร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย

โดยพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัยการ

วัตถุประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพก็เพื่อให้ทราบ “เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย”

รวมทั้งให้รู้ว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน และตายเมื่อใด หากตายโดยคนทำร้าย ก็ให้รู้ว่าใครกระทำ

ความตายในบางกรณีระบุเหตุทันทีไม่ได้เพราะมองไม่เห็น ก็จำเป็นต้องมีการผ่าศพแยกธาตุนำอวัยวะไปพิสูจน์

กฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ สั่งแพทย์และพนักงานแยกธาตุของรัฐ จัดการ ทำรายงานสภาพศพตามที่พบหรือปรากฏจากการตรวจ

พร้อม แสดงความเห็นถึงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้

คดีที่อดีตเมียรองผู้กำกับตำรวจในจังหวัดราชบุรีถูกกล่าวหาว่าวางไซยาไนด์ฆ่าคนไปถึงสิบหกคนหรืออาจมากกว่านั้น

ปัญหาที่ทุกคนควรตั้งคำถามก็คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคมที่ปกครองโดยกฎหมาย?

ถ้าเธอวางยาฆ่าคนจำนวนมากตามข้อสันนิษฐานของเจ้าพนักงานเช่นนั้นจริง เหตุใดจึงไม่ถูกจับกุมดำเนินคดีตั้งแต่กรณีแรกที่ฆ่า

เพราะถ้าได้ผ่าศพและแยกธาตุหาสาเหตุการตายรายแรกหรือแม้แต่รายที่สองสาม ก็ต้องพบว่าแต่ละศพมีสารไซยาไนด์ในร่างกายในปริมาณที่ทำให้ตายได้

ส่วนผู้ตายจะกินเข้าไปเอง หรือใครแอบใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่มหลอกให้ทานก็สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป

อย่างไรก็ตาม การ ผ่าศพและแยกธาตุ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกระทำต่อความตายผิดธรรมชาติทุกกรณี

หากกรณีใดสามารถระบุได้แน่ชัดแล้ว ไม่ต้องผ่าตรวจก็ได้

ในกระบวนการชันสูตรพลิกศพ แพทย์นิติเวชเป็นผู้ พลิกศพไปมา ตรวจหาบาดแผลร่องรอยตามร่างกาย

หากพบแผล รูหรือรอยใดชัดแจ้งที่ทำให้ตายได้ซึ่งอาจเป็นการฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นหรือสัตว์กระทำหรืออุบัติเหตุ แพทย์ทั่วไปก็สรุปได้ไม่ยาก

แต่หากเป็นการวางยาพิษในปริมาณน้อย แต่ส่งผลทำให้ตาย คล้ายคนหัวใจวาย ในเวลาต่อมาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

ก็จะเกิดปัญหาว่าถ้าไม่ผ่าศพแยกธาตุ แม้แต่แพทย์นิติเวชก็ไม่อาจรู้ได้ว่ามีสารพิษอะไรอยู่ในร่างกาย และเป็นเหตุให้บุคคลนั้นหยุดหายใจหรือไม่?

การตัดสินใจผ่าศพเพื่อให้พบเหตุของการตาย กฎหมายจึงบัญญัติให้เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน โดยหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

เนื่องจากต้องพิจารณาพยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุรวมทั้งพฤติการณ์แวดล้อมอื่นประกอบ ซึ่งในส่วนนี้แพทย์ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

งานสอบสวนคดีอาญา จึงมีความสำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างยิ่ง

ตาม ป.วิ อาญา แต่ไหนแต่ไรได้กำหนดให้ทั้งฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดได้ไม่ต่างกัน

แต่ หลังปี 2506 รัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยให้ตำรวจเป็นหน่วย รับผิดชอบการสอบสวนฝ่ายเดียวทั่วราชอาณาจักร!

ปัญหาการสอบสวนไม่เป็นไปตามกฎหมายก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนมากมาย

รวมทั้ง ความคิดอุตริ ในการแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นตำรวจแห่งชาติ ที่ ผูกขาดอำนาจสอบสวน ไว้

ยิ่งทำให้ระบบตำรวจและงานสอบสวนของชาติเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง!

ปัจจุบัน พนักงานสอบสวน หัวใจกระบวนการยุติธรรม ผู้ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความคิดและดุลยพินิจของตนด้วยความสุจริตได้

เนื่องจากต้องอยู่ภายใต้ระบบการปกครองตามชั้นยศและวินัยแบบทหารของ หัวหน้าพนักงานสอบสวน ซึ่งก็คือตำรวจผู้ทำหน้าที่ หัวหน้าสถานี ซึ่ง ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและได้ตำแหน่งมาด้วยการซื้อขายหรือวิ่งเต้นกันอย่างไร้คุณธรรม

คำสั่งอะไรไม่ว่าผิดหรือถูก พงส.ก็ต้องก้มหน้าทำไป เพื่อมิให้ถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายหรือจับผิดลงทางวินัยที่กระทำกันได้แสนง่าย  เช่น พบหน้าแล้วไม่ทำความเคารพ ฯลฯ

ปัจจุบันพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพทำงานแบบซังกะตายไปวันๆ เนื่องจากมองไม่เห็นความเจริญก้าวหน้าและอนาคตหรือเหมือนตำรวจสืบสวนหรือแม้แต่จราจร

ฉะนั้น เรื่องการส่งศพที่ตนสงสัยเหตุการตายไปให้แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ผ่าพิสูจน์นำรายงานมาพิจารณาประกอบความเห็นในสำนวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งบางกรณีที่เป็นจังหวัดห่างไกล ก็ต้องควักเงินเป็นค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิครั้งละ 2,000-3,000 บาท

โดยที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนหัวหน้าสถานีและตำรวจแห่งชาติไม่ได้สนใจในปัญหาเหล่านี้

พวกเขาจึงแก้ปัญหากันด้วยวิธี สอบปากคำญาติปิดปาก ว่า ไม่ติดใจสาเหตุการตาย จึงไม่ต้องส่งศพผ่าตรวจ ปิดคดีกันเป็นส่วนใหญ่!

ข้อสงสัยของสังคมแม้แต่พ่อแม่ว่า “แอม” ฆ่าลูกของตนคนก่อนนี้ที่รู้จักกันแล้วตายและเผาไปแล้วด้วยหรือไม่ และรวมทั้งหมดกี่สิบศพ ล้วนแต่จบไปแล้ว

เพราะเมื่อไม่ได้มีการผ่าศพหาวัตถุพยานไว้ รัฐจะไปทำอะไรได้ในเวลานี้!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 1 พ.ค. 2566

About The Author