ตำรวจ ‘พกปืนผิดกฎหมาย’ กันมากมาย นายกรัฐมนตรีจะควบคุมอย่างไร?
ตำรวจ“พกปืนผิดกฎหมาย”กันมากมายนายกรัฐมนตรีจะควบคุมอย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
หลังเหตุการณ์ สังหารหมู่เด็กๆ และประชาชนถึง 37 คน โดยใช้ทั้งมีดและปืนของ อดีตตำรวจ ผู้มีความคับแค้นใจในจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ทำให้รัฐตื่นตัวเรื่องปัญหายาเสพติดและการพกพาอาวุธปืนของประชาชนขึ้นในระดับหนึ่ง
ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2565 แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณาแก้ปัญหาทั้งสองเรื่อง โดย เป็นประธานเอง ประชุมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 12 ต.ค.2565
ได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น ยาเสพติดก็ให้มีการควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ในการผลิต เร่งสืบจับบุคคลตามหมายจับ และ ค้นหาผู้ค้าและติดยาทั่วประเทศ “ขึ้นบัญชีไว้”
ส่วนเมื่อได้ รายชื่อ ที่ตำรวจและกระทรวงมหาดไทยส่งให้ จริงบ้างเท็จบ้าง! แล้ว นายกฯ รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะนำไปทำอะไร ตามกฎหมาย ต่อไป?
หากพูดว่า ถ้าไม่ติดคุก ก็ไปวัด เหมือนที่ นายทักษิณ ชินวัตร ส่งสัญญาณ กดดัน ให้ข้าราชการปฏิบัติ
การปราบปรามด้วย การยัดของกลาง หรือ ฆาตกรรมอำพราง โดยมี ตร.ผู้ใหญ่นั่งรอให้ข่าว ว่าเป็น การฆ่าตัดตอน ของผู้ค้ายา ก็จะเกิดขึ้นตามมา และส่งผลทำให้ปัญหายาเสพติดทั่วประเทศลดลงได้ เป็นที่พอใจของคนจำพวกหนึ่ง อย่างแน่นอน!
ในเรื่องอาวุธปืน ก็ได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยเข้มงวดเรื่องการออกใบอนุญาต ต้องมีแพทย์ตรวจร่างกายและจิตใจ หรือหากในกรณีที่เป็นข้าราชการก็ต้องมีการรับรองของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งเร่งปราบปรามการครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย
แต่พิจารณาแล้ว ไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ให้ประชาชนต้องตื่นเต้นกันแต่อย่างใด!
ต่อปัญหาอาวุธปืนแท้จริงเกิดจาก หลักคิดที่ผิด ของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ปล่อยให้ประชาชนโดยเฉพาะข้าราชการตำรวจทหารซื้อหรือขายปืนกันได้ง่ายๆ!
ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของคนมีเงินทั่วไปหรือในกรณีที่เป็นข้าราชการ ก็มีโครงการ สวัสดิการปืนทันสมัยขายในราคาถูก เป็นระยะๆ มา ล่อใจ เพื่อให้แต่ละคนได้ซื้อเป็นทรัพย์ส่วนตัว เก็บไว้ขายเก็งกำไร กันตลอดเวลา!
ส่วนปัญหาเรื่อง ใครจะได้ประโยชน์เป็นเงินหรือทรัพย์สินอะไรในแต่ละโครงการ บ้างหรือไม่ ไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือหาหลักฐานมายืนยันได้?
เป็นการขายปืนภายใต้คำโฆษณาว่า เพื่อให้ข้าราชการตำรวจทหารได้มีไว้ใช้ในการป้องกันชีวิตทรัพย์สินของตน
และบางคนก็มี ความคิดพิกลพิการ ว่า เพื่อให้ใช้ในการปฏิบัติราชการ!
เนื่องจาก รัฐไม่สามารถทำให้สังคมมีความปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรมสารพัด รวมทั้ง หลอกรัฐบาล ว่า ไม่สามารถซื้อปืนมาให้ตำรวจใช้ได้อย่างเพียงพอ
เป็น “คำเท็จ” ที่ตำรวจผู้ใหญ่ใช้หลอกสื่อมวลชนและประชาชนต่อปัญหาสารพัดที่เกิดขึ้นอย่างได้ผลตลอดมา
ทำให้คนมีเงินจำเป็นต้องซื้อ ปืนที่ชอบด้วยกฎหมาย มาไว้เพื่อใช้ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของตน ส่วนคนยากจนก็ต้อง เสี่ยง หา ปืนเถื่อนราคาถูก มาไว้ป้องกันชีวิตของตนเองและลูกเมียด้วยเช่นกัน!
และเมื่อเป็นปืนผิดกฎหมาย ไม่ว่าคนจนจะเก็บซ่อนไว้ในบ้านหรือพกพา ก็ล้วนแต่เป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนตลอดเวลา สามารถถูกตำรวจตรวจค้นและจับกุมได้อย่างไร้ข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนคนมีเงินหรือข้าราชการตำรวจ ทหาร ผู้ซื้อปืนที่ชอบตามกฎหมายมาไว้ในครอบครอง หากต้องการจะพกพา ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน
ขออนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ คือนายอำเภอในเขตอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัด หากใครต้องการ พกปืนทั่วไทย ก็ต้องให้ ผบ.ตร.เป็นผู้อนุญาต
ซึ่งปัจจุบันทั้งข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากขอใบอนุญาตพกปืน เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และต้องยื่นคำร้องทุกปี
วิธีที่คนมีเงินทำกันก็คือ เสี่ยงพกปืนที่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากใครทั้งสิ้น ซึ่งหากถูกตำรวจตรวจพบ ก็พร้อมจะ จ่ายเงินเคลียร์ ให้ผู้จับทุกระดับจนเป็นที่พอใจ!
หรืออาจใช้วิธีเป็นสมาชิก ชมรมยิงปืนของหน่วยตำรวจ ทหาร เพื่อจะได้อ้างว่าเป็นการพกพาปืนไปเพื่อฝึกซ้อม?
คิดกันว่า เสียเงิน ก็ยังดีกว่าถูกฆ่าตายเพราะไร้อาวุธปืนป้องกันตัว
ส่วนคนเป็นข้าราชการโดยเฉพาะ กลุ่มตำรวจล้วนเข้าใจผิดคิดว่า ทุกคนมีหน้าที่ป้องกันปราบปราบอาชญากรรมอยู่ตลอดเวลา จึงสามารถพกพาอาวุธปืนติดตัวได้ไม่ว่าจะแต่งเครื่องแบบหรือไม่!
ซึ่งตามกฎหมายแท้จริง หาเป็นเช่นนั้นไม่
พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 8 ทวิ บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจ ซึ่ง อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่
นั่นหมายถึงว่า เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ อาญา มาตรา 2 (16) จะมีสิทธิพกอาวุธปืนได้ ก็ต่อเมื่อเป็น ผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจและพื้นที่ที่ถูกมอบให้รับผิดชอบ เท่านั้น
เช่นตำรวจประจำสถานีที่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่สายตรวจป้องกันอาชญากรรม ก็ย่อมมีอำนาจ พกปืนที่ทางราชการจัดให้ ตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องมี ใบพก ตามข้อยกเว้นของ พ.ร.บ.อาวุธปืน มาตรา 8 (1) ดังกล่าว
แต่เมื่อ ออกเวร แล้ว ก็ย่อมถือว่าไม่ใช่ ผู้มีหน้าที่ ที่จะสามารถพกปืนราชการหรือส่วนตัว ไปกินเหล้า หรือ ร่วมสังสรรค์งานฉลอง เดินทางข้ามอำเภอหรือจังหวัด ไปที่ไหนโดยไม่มีใบอนุญาตให้พกพาได้
หาก ตำรวจคนใดต้องการจะพกอาวุธปืนส่วนตัวเพราะกลัวชีวิตจะไม่ปลอดภัย แม้กระทั่งเป็นนายเวรฝ่ายบริหารงานสนับสนุนหรืออำนวยการไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจป้องกันอาชญากรรมอะไร และไม่อยากรอความคุ้มครองของตำรวจด้วยกัน ก็ต้องได้รับอนุญาตในการพกพาเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
ส่วน ปัญหาที่บางคนอาจบ่นว่า ไม่สามารถปฏิบัติได้หรือปฏิบัติยาก รวมทั้งอาจมีจำนวนมากบอกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ไม่อยากมีอาชีพตำรวจอีกต่อไป
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะต้องนำมาพิจารณาหากต้องการแก้ปัญหาการพกอาวุธปืนผิดกฎหมายและถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรมสารพัดอย่างแท้จริง.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 31 ต.ค. 2565