กสม. ชี้การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดนักศึกษาแบบเหมารวมและไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้การตรวจปัสสาวะหาสารเสพติดนักศึกษาแบบเหมารวมและไม่ได้รับความยินยอมเป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ป.ป.ส. ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด

เมื่อที่ 22 กันยายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ฝ่ายปกครองจังหวัดอุดรธานี โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอุดรธานี ได้ตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติด รวมประมาณ 1,000 คน โดยไม่ชัดเจนว่ามีกรณีจำเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดเสพยาเสพติด กสม. พิจารณากรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า อาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาคำร้อง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและคำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า การตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของบุคคลถือเป็นการกระทำที่อาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจในการตรวจหาสารเสพติดได้ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขเป็นหลักการในลักษณะที่คล้ายกัน ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดตรวจหรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายได้เฉพาะกรณีมีความจำเป็นและมีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเสพยาเสพติดเท่านั้น

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 เป็นการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกในการต่อต้านยาเสพติด ตามโครงการจัดระเบียบสังคมรอบสถานศึกษา (CAMPUS SAFETY ZONE) โดยไม่ได้ขอความยินยอมจากนักศึกษาเป็นการล่วงหน้า กสม. เห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีเจตนาที่ดีในการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษา เพื่อป้องปรามไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและค้นหานักศึกษาที่ใช้สารเสพติดนำเข้าสู่ระบบการรักษาและบำบัด แต่เมื่อการตรวจหาสารเสพติดดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะบังคับและไม่ได้ขอความยินยอมก่อน และยังมีลักษณะเป็นการเหมารวมเฉพาะกลุ่มบุคคลโดยไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดเสพยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 กสม. เคยให้ความเห็นในเรื่องที่มีลักษณะคล้ายกันกรณีการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นการตรวจปัสสาวะในลักษณะเหมารวมเฉพาะกลุ่มบุคคล โดยไม่มีเหตุอันควรเชื่อตามกฎหมายว่ามีบุคคลเสพยาเสพติดให้โทษว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของนักศึกษาในลักษณะเหมารวม จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลโดยไม่มีเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมายเช่นกัน ในชั้นนี้จึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ป.ป.ส.) ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดให้โทษประเภท 1 (แอมเฟตามีน) สรุปได้ดังนี้

ให้กำชับเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. หรือบุคคลจากหน่วยงานอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการตามประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบันอย่างเคร่งครัด กรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายว่าบุคคลนั้นเสพยาเสพติดให้โทษ และในกรณีขอความร่วมมือในการตรวจหาสารเสพติดจากปัสสาวะต้องแจ้งความประสงค์ในการดำเนินการกับผู้นั้นอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีการขอความยินยอมก่อนการดำเนินการและต้องได้รับความยินยอมโดยอิสระจากผู้จะถูกตรวจปัสสาวะโดยไม่มีเงื่อนไข และการให้ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีถ้อยคำที่ไม่กำกวม แยกออกจากส่วนอื่นได้อย่างชัดเจนในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ใช้ภาษาที่ชัดเจนและไม่ซับซ้อน และผู้ให้ความยินยอมสามารถยกเลิกความยินยอมได้ทุกเมื่อ อันสอดคล้องและเป็นไปตามหลักการให้ความยินยอมโดยอิสระเป็นมาตรฐานสากลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation: GDPR)

นอกจากนี้ในกรณีที่มีเหตุอันจำเป็นต้องขอความร่วมมือในการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติดในกลุ่มบุคคลที่เป็นเด็ก จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลของเด็กที่จะถูกตรวจปัสสาวะร่วมด้วย ซึ่งการดำเนินการนั้นต้องกระทำไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและการดำเนินการนั้นต้องไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วย

About The Author