‘รัฐธรรมนูญ’กับ’อำนาจอธรรม’ในการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้ายและสั่งตำรวจ’ไปช่วยราชการ’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้เรื่องที่ตำรวจผู้ใหญ่ทุกระดับรวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสนใจ ไม่ใช่ปัญหาอาชญากรรมความไม่สงบเรียบร้อยของสังคม หรือ ความเดือดร้อนของประชาชน จากการที่ ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนทั่วประเทศส่วนใหญ่ “ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์” จากผู้เสียหายกันง่ายๆ!
ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่สุดตามกฎหมายเพื่อบังคับให้ “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” คือ “หัวหน้าสถานี” ต้องรีบดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยมิชักช้าตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 130 บัญญัติไว้ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาและสั่งฟ้องผู้ต้องหาเพื่อป้องกันมิให้หลักฐานทุกชนิดถูกทำลายหรือสูญหายไปตามกาลเวลา ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงทำให้เกิดความยุติธรรมอะไรได้
หรือปัญหา ตำรวจไม่ทำหน้าที่ตรวจตรารักษากฎหมาย ปล่อยปละละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการเปิด ผับเถื่อน จนเกิดไฟไหม้ทำให้มี คนตายถึง 21 คน
หรือเรื่อง บ่อนพนันใหญ่กลางกรุง ที่เปิดเล่นกันมานาน ซ้ำตั้งอยู่ห่างจากสถาน ที่ทำงานของ “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” และ “สถานีตำรวจ” เพียงห้าหกร้อยเมตร อะไร ซึ่งหลังจากการ ถูกชิงทรัพย์หรือประชาชนเรียกกันว่าปล้น ก็ ไม่เห็นนายพลตำรวจคนใดซึ่งมีอยู่มากมาย ไปเดินดูสถานที่เกิดเหตุ และหาเหตุผลว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันแต่อย่างใด ใครคือผู้รับผิดชอบในทุกระดับ?
แต่ในความคิดแทบทุกลมหายใจของพวกเขาคือเรื่อง การเลื่อนตำแหน่งและชั้นยศรวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย ในวาระประจำปีที่ไกล้จะถึงนี้
ใครจะได้ขึ้นที่ไหนหรือได้ย้ายไปตำแหน่งดีที่ต้องการตามหวังหรือไม่ แต่ละคนวิ่งใคร สายไหน ผ่านใคร เตรียมเงินไว้เท่าใด จ่ายให้ใคร ก่อนหรือหลังคำสั่งออกเมื่อใดและอย่างไร ชัวร์ไหม?
โดยเฉพาะใครจะได้เป็น ผบ.ตร. ต่อจากคนปัจจุบัน บิ๊กคนนั้นรุ่นนี้ บิ๊กคนนี้สายนั้น ทั้งตำรวจ พ่อค้า และสื่อหลายสำนักวิเคราะห์วิจารณ์ส่งเสียงเชียร์กันอย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย!
ในขณะที่ตำรวจส่วนใหญ่ กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นบุคคลผู้ไร้เส้นสายทั้งหญิงชายและไม่อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ หรือไม่ใช้เงินเป็นปัจจัยในการวิ่งเต้น ก็ไม่ต้องคิดหวังว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งหรือย้ายไปเป็นอะไรในหน่วยหรือสถานีที่ต้องการกับเขา
แทบทุกคนได้แต่ก้มหน้าทำงานแบบเหงาๆ ตามหน้าที่ นั่งนับปีรอให้ เข้าเกณฑ์ 33 เปอร์เซ็นต์ในหมู่ “ผู้ไร้ความสามารถ” ที่ราชการตำรวจและผู้บังคับบัญชาแม้กระทั่งพ่อค้าพากันเรียกอย่างหมิ่นหยามว่า “พวกอาวุโส”!
หรือบางคนที่อายุเกิน 55 ก็นั่งรอเวลาเกษียณอายุราชการ จะได้บำเหน็จบำนาญจำนวนสูงสุดไปเลี้ยงตัวครอบครัวในบั้นปลายชีวิต ไม่คิดหวังว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งหรือชั้นยศเพิ่มอะไร
และบางรายก็ตัดสินใจ ยื่นใบลาออก ไม่รอให้ถึงวันครบเกษียณอายุราชการในปีใด
เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายจนทนไม่ไหวต่อ “การบริหารงานของตำรวจที่ชั่วร้าย” เต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อฉลและเอาเปรียบกดขี่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างหน้าด้านกันมาแสนนาน เช่นนี้เต็มที!
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 76 ในหมวด 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ ได้บัญญัติไว้อย่างสวยหรูทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสองว่า
“รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตาม หลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้ง พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานรัฐ ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบ…”
รวมทั้งหมวด 16 ว่าด้วย การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม
(2) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายให้ชัดเจน และ สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา….
(4) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจและภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่ง ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
และมาตรา 260 บัญญัติว่า “ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย (1) ผู้ไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจมาก่อน เป็นประธาน (2) ผู้เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตำรวจตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง (3) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ จำนวนเท่ากับกรรมการตาม (2) (4) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คือ 6 เมษายน พ.ศ.2561
แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกมาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจนี้ อาจกล่าวว่ามีสภาพไม่ต่างไปจากกระดาษเพียงหน้าหนึ่งก็ได้!
เนื่องจากในความเป็นจริง ไม่ได้มีผู้มีอำนาจหรือข้าราชการตำรวจผู้รับผิดชอบคนใดให้ความสนใจยึดถือหรือนำไปปฏิบัติให้เกิดผลและสภาพบังคับเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จในหนึ่งปี โดย ต้องมีประเด็นเนื้อหาตามที่มาตรา 76 มาตรา 258 ง. (2) และ (4) บัญญัติไว้
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่ผ่านสภาไปกลับกลายเป็นร่างกฎหมายซึ่งไม่ได้มีที่มาจากคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว
โดยไม่มีรู้ว่าใคร คณะกรรมการชุดใดหรือ นายพลตำรวจที่นั่งรับส่วย คนใดเป็นผู้ร่างหรือร่วมร่าง อาศัยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือใคร และชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูประบบตำรวจอย่างแท้จริงอะไร?
นั่นจึงหมายถึงว่า กฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจตามความต้องการของประชาชนที่แท้จริงยังไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งที่เวลาหลังยึดอำนาจได้ผ่านมากว่า 8 หรือ 4 ปีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้!
และเป็นสาเหตุที่ทำให้ “การบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย” รวมทั้ง “การสั่งให้ไปช่วยราชการ” ของตำรวจทุกระดับในปัจจุบันยังเต็มไปด้วยการวิ่งเต้นหาเส้นสายทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านเพื่อเป็นช่องทาง “ซื้อขาย”
ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการ “จ่ายล่วงหน้า” หรือให้ช่วย “อุดหนุนของมีค่า”!
หรือว่าบางคนเสนอตัว “พร้อมรับใช้” เมื่อช่วยให้ได้เลื่อนตำแหน่งหรือแม้กระทั่ง “ได้อยู่ในที่เดิม” แล้ว “เก็บส่วยจากผู้กระทำผิดกฎหมาย” “ผ่อน” ให้เป็นรายเดือนก็ตาม!.