มหาดไทย อัยการ และศาล กับการ ‘คานอำนาจตำรวจ’ ช่วยประชาชน
มหาดไทย อัยการ และศาล กับการ ‘คานอำนาจตำรวจ’ ช่วยประชาชน
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัจจุบันนอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่นับว่าหนักหนาสาหัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนยากจนและ ผู้คนซึ่งไม่มีเงินเดือนประจำ เป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทที่มั่นคงแล้ว
ปัญหาสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินก็ อยู่ในสภาพเลวร้าย! สร้างความหวั่นไหวให้คนทั่วไปรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง
สวนทางกับสถิติอาชญากรรมของตำรวจที่รายงานต่อจังหวัดไปจนถึงรัฐบาลว่า การกระทำผิดทางอาญาทุกข้อหาลดลงอย่างต่อเนื่อง!
เรื่องตำรวจพนักงานสอบสวนถูกหัวหน้าสถานีหรือผู้มียศสูงกว่าสั่ง ไม่ให้รับคำร้องทุกข์ จากประชาชน บันทึกเลขคดี เพื่อไม่ให้มีการสอบสวนตามกฎหมายง่ายๆ จะได้ไม่ต้องรายงานเป็นสถิติคดีรายวันและประจำเดือน!
ยังคงเป็นความชั่วร้ายที่ ทำลายกระบวนการยุติธรรมของชาติ ลงอย่างย่อยยับมานับสิบปี!
โดยที่ไม่มีผู้มีอำนาจระดับใดหรือใคร ตระหนักเข้าใจ และ คิดแก้ไข ปัญหานี้แต่อย่างใด?
ถือเป็นความทุกข์แสนสาหัสของประชาชนที่ กระทรวงมหาดไทยไม่สามารถ “บำบัด” ตามคำขวัญ ซึ่งขึ้นป้ายโฆษณาไว้ หน้ากระทรวง และทุกจังหวัดได้
เมื่อความทุกข์ไม่ได้ถูกบำบัดให้หมดไป แล้วการ บำรุงสุข จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อครั้งหน่วยงานตำรวจยังเรียกว่า กรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทยและอัยการอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรี มีปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นมือไม้ในการ ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานประจำเดือน ของหน่วยตำรวจทุกระดับ
ปัญหาตำรวจไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแทบไม่ได้ เพราะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นภัยร้ายต่อความยุติธรรมอย่างยิ่ง
แต่หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่องค์กรตำรวจไทยได้แยกจากกระทรวงมหาดไทยไปใช้ชื่อตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อตัวนายกรัฐมนตรี
กลายเป็น นาทีทองของตำรวจผู้ใหญ่ ในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ต้องมีใครตรวจสอบประเมินผล และ ทำเงิน สร้างความร่ำรวยไปพร้อมกันอย่างสะดวกสบาย!
แหล่งอบายมุขที่เป็นสาเหตุอาชญากรรมและยาเสพติดสารพัดได้เกิดขึ้นมากมาย ไร้การตรวจสอบจากองค์กรใดทั้งสิ้น
ปัญหาตำรวจไทยไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชนโดยที่ไม่มีใครสามารถจัดการอะไรได้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจาก ในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ.2506 ได้มีการออก ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย ให้ตำรวจเป็นหน่วยรับผิดชอบการสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว
ตัดอำนาจการ เริ่มสอบสวนดำเนินคดีอาญา ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอลงทั้งหมดตาม ป.วิ อาญา นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ตำรวจไทยจึงสามารถก่ออาชญากรรมทั้ง ยัดข้อหา ไม่ว่าจะเป็นการออก หมายเรียก หรือ รายงานมั่วๆ ต่อศาล ให้ออกหมายจับ รวมทั้งไม่รับคำร้องทุกข์โดยไม่มีใครสามารถทำอะไรได้
เกิดปัญหาประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากมาย จนกระทั่ง ในปี 2509 จึงได้มีการออกข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติม ให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอมีอำนาจเรียกสำนวนในดคีที่มีประชาชนร้องเรียนจากตำรวจมาตรวจสอบหรือควบคุมการสอบสวนได้
แต่ใน ปี 2556 ได้มี ผบ.ตร.คนหนึ่ง “ออกคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย” ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ โดยอ้างว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานในสังกัดแล้ว
พร้อมสำทับเป็นคำสั่งฉบับต่อมาว่า ใครฝ่าฝืนจะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย กักยาม หรือแม้กระทั่ง กักขัง ทันที เนื่องจากมีพนักงานสอบสวนบางคนยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกฎหมาย
ส่งผลทำให้ อำนาจตรวจสอบการสอบสวนของผู้ว่าฯ และนายอำเภอที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกตาม ป.วิ อาญา เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ!
ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกฤษดา บุญราช เคยรายงานเรื่องนี้ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบขณะรับตำแหน่งใหม่ๆ ให้แก้ปัญหา
ซึ่งนายกฯ ก็ได้แต่พูดว่า “ให้ไปคุยกันดู” และไม่ได้สั่งการหรือติดตามปัญหาอะไรต่อไป!
ในท่ามกลางความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสของประชาชนซึ่งไม่มีผู้มีอำนาจคนใดคิดแก้ไขหรือจัดการ
อัยการรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง จึงได้หาทางแก้ปัญหาเท่าที่จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องแก้กฎหมายให้เกิดความยุ่งยาก รวมทั้งถูกขัดขวางทุกวิถีทางโดย กลุ่มวุฒิสมาชิกแต่งตั้งสายตำรวจ!
ได้มีการทำข้อตกลงร่วมหรือ MOU กับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมแพทย์นิติเวชรวมไปถึงมูลนิธิกู้ชีพและกู้ภัยต่างๆ ให้ช่วยแจ้งเหตุคดีอาญาสำคัญและรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานส่งให้อัยการพื้นที่เก็บรวมไว้เป็น สำนวนการสืบสวน ทันทีที่เกิดเหตุ เช่นคดีฆ่าหรือคดีที่ประชาชนสนใจ
อัยการไทยจะไม่ทำเพียงแค่ นั่งรอ นอนรอ อ่าน สำนวนการสอบสวน ของตำรวจ ซึ่งหลายคดีไม่มีโอกาสรู้ว่าเป็น นิยาย หรือไม่?
เมื่อได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแล้ว ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ได้ออกคำสั่งที่ 1190 /2565 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนภารกิจทันที โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายความมั่นคงภายในเป็นประธาน มีคณะทำงานรวม 15 คน 15 ตำแหน่ง
ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการร่วมค้นหาพยานหลักฐานกับพนักงานอัยการและอีกหลายหน่วยงานเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาสำคัญ
แก้ปัญหาอัยการ สั่งฟ้องแพะ หรือ ฟ้องมั่วๆ ไป แล้วสุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้ต้องหาเดือดร้อน คนร้ายตัวจริงลอยนวลกันมากมาย
นอกจากนั้น อัยการสูงสุด ยังได้เตรียมออกคำสั่งตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาสำคัญ ขึ้นในส่วนกลาง โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการเป็นฐานในการอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชน
สนับสนุนการรวบรวมพยานหลักฐานของอัยการจังหวัดและพื้นที่ในกรณีที่มีการร้องขอ หรือตามที่ อสส.สั่งการทันทีที่เกิดคดีสำคัญ
ส่วนศาลก็เริ่มตื่นตัวด้วยการที่ประธานศาลฎีกาได้ออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการออกคำสั่งหรือหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 มีใจความสำคัญคือ
ข้อ 42 การออกหมายขังในความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ต้องปรากฏด้วยว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหานั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกอย่างสูงเกินสามปี แม้ปรากฏหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำผิด แต่ หากไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น ศาลจะไม่ออกหมายขังก็ได้
ข้อ 43 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณา…………ให้เจ้าหน้าที่ศาลรวบรวมข้อมูลของผู้ต้องหาและพฤติการณ์แห่งคดีเพื่อประเมินความเสี่ยงตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด
และข้อ 44/1 แม้เป็นกรณีที่มีเหตุออกหมายขัง แต่ ถ้าศาลเห็นว่ายังมีวิธีป้องกันมิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ ศาลจะงดออกหมายขังและปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นก็ได้
ทั้งหมดนับเป็นความตื่นตัวครั้งใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อัยการ และศาล ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกกล่าวหาทางอาญาโดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิด
พยายามปิดช่องไม่ให้ตำรวจผู้ทุจริตใช้ศาลเป็นเครื่องมือให้ออกหมายขังหรือหมายจับประชาชนกันง่ายๆ และ “เสนอให้อัยการสั่งฟ้องกันมั่วๆ” เช่นที่ผ่านมาต่อไป.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 1 ส.ค. 2565