‘ผู้เสียหาย’จากการกระทำความผิดอาญาทำไมต้องเดือดร้อน’หาหลักฐาน’ไปให้ตำรวจและอัยการ?

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘ผู้เสียหาย’จากการกระทำความผิดอาญาทำไมต้องเดือดร้อน’หาหลักฐาน’ไปให้ตำรวจและอัยการ?

            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เหตุการณ์เสียชีวิตของ น้องแตงโม ที่เป็นกรณี ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ตามกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 148 (2) ซึ่งตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การแจ้งข้อหาต่อ คนบนเรือทั้งห้า ว่า ประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ซึ่งคือการกล่าวหาว่า “ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และทั้งห้าสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”

แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่มีใครไม่ว่าจะเป็น ตำรวจผู้ใหญ่และอัยการนนทบุรี ออกมาชี้แจงว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนได้ร่วมกันกระทำประมาท หรือ ต่างคนต่างกระทำพร้อมกัน ด้วย พฤติกรรมอย่างไร? และ “การกระทำนั้น” เป็นเหตุทำให้น้องแตงโมตกจากเรือจมน้ำตาย?

การสอบสวนของตำรวจที่สรุปว่า น้องไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือโดยที่ อีกสี่คนไม่รู้และไม่เห็นอะไร แล้วเสียหลักตกน้ำไปเองตามคำให้การในฐานะพยานของแซน แต่กลับ กลายเป็นผู้ต้องหา ในเวลาต่อมา

ก็ต้องถามทั้งตำรวจและอัยการว่า ผู้ต้องหาทั้งสี่หรือแม้กระทั่งห้าคนรวมทั้งแซน ได้กระทำประมาทอย่างไรที่เป็นเหตุให้น้องแตงโมถึงแก่ความตาย?

หากอัยการอธิบายต่อประชาชนไม่ได้ แล้ว สั่งฟ้องมั่วๆไปเพราะ เกรงใจตำรวจผู้ใหญ่!

รวมทั้งไม่ต้องการให้ผู้บัญชาการตำรวจภาค ทำความเห็นแย้งตาม ป.วิ อาญา มาตรา 145/1 ซึ่งถูกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งที่ 115/2557 แก้ไขจากที่กฎหมายให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดกลายเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภาคผู้มีความเห็นเสนอให้อัยการ “สั่งฟ้อง”

ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำความเห็นแย้ง ก็ จะไม่ยืนยันความเห็นเช่นเดิมนั้นได้อย่างไร!

ถือเป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวนที่วิปริตและผิดไปจากเจตนารมณ์ของ ป.วิ อาญา สร้างความเดือดร้อนเสียหาย และ ความอยุติธรรม ให้เกิดขึ้นในประเทศมากมาย

และถ้าอัยการพื้นที่จำเป็นและจำใจต้องสั่งฟ้องไป แต่ในที่สุดไม่สามารถพิสูจน์ความผิดจนสิ้นสงสัยได้ แล้วทำให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ข้อเท็จจริงก็จะสวิงกลับกลายเป็นน้องแตงโม “มีความคิดพิเรนทร์” ไปนั่งปัสสาวะท้ายเรือและพลัดตกน้ำเองทันที!

ไม่มีใครต้องรับผิดทางอาญาและทางแพ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายอะไรให้ “คุณแม่” แม้แต่บาทเดียว!

รวมทั้งหากเป็นกรณีที่มีผู้กระทำผิดอาญาด้วยข้อหาอื่น  ไม่ว่าจะเป็นการลวนลามกระทำอนาจารในลักษณะที่มีการใช้กำลังประทุษร้าย แล้วน้องแตงโมมีปฏิกิริยาปัดป้อง หลบเลี่ยง หรือเบี่ยงตัวหนี จนทำให้พลัดตกเรือไป

มีโทษตามกฎหมายร้ายแรงถึง ประหารชีวิต!

หรือเกิดจากการทำร้ายด้วยความมึนเมาและโทสะในลักษณะหนึ่งลักษณะใดจนทำให้น้องพลัดตกจากเรือไป ซึ่งถือเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

รวมทั้งอาจเป็นกรณีที่ ถูกฆ่าโดยเจตนา ไม่ว่าจะเป็นการ ใช้มีดกรีดขาให้เลือดไหลอย่างโหดร้าย ในเรือ!

หรือแม้กระทั่งนำตัวไป ฆ่าบนบก ตามที่คุณแม่ได้รับข้อมูลและหลักฐานจาก ผู้หวังดี บางกลุ่มมา?

อาชญากรผู้กระทำความผิดอาญาข้อหาฉกรรจ์ทั้งหมดเหล่านี้ ก็จะลอยนวลกันทันที!

ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าคุณแม่มีพยานหลักฐานอะไรจากที่ได้ ข้อมูลลึกลับ จากคนบางกลุ่ม รวมทั้งในเครื่องโทรศัพท์มือถือของน้องที่ได้รับคืนมาจากตำรวจ

หลังจากนำไป ตรวจส่องภาพและคลิปส่วนตัวของเธอมากมาย แล้วไม่พบหลักฐานการกระทำผิดอาญาว่าเป็นการฆ่าหรือแม้แต่ทำร้ายอะไร?

ทำให้คุณแม่ตัดสินใจส่งไปให้ บังแจ็ค ที่อเมริกาช่วยตรวจสอบและกู้ข้อมูลให้

บังแจ็คกลับพบภาพและคลิปหลักฐานการกระทำที่น่าสงสัยว่าน้องไม่ได้ตายเพราะการตกเรือมากมาย!

ส่งผลให้คุณแม่ตัดสินใจมอบอำนาจต่อทนายให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองใน ข้อหาฆ่า อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเพราะไม่ไว้ใจในการจะส่งพยานหลักฐานนั้นให้ตำรวจ

หรือแม้แต่อัยการที่กำลังพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี อย่างไหนจะดี หรือ ส่งผลเสียหายเลวร้ายน้อยกว่ากัน!

นับเป็นเรื่องน่าเศร้าของ กระบวนการยุติธรรมอาญาประเทศไทย ที่ปัจจุบันผู้เสียหายในทุกคดีต้องดิ้นรนกันทุกวิถีทางในการหาพยานหลักฐานการกระทำผิดต่างๆ ไปมอบให้ตำรวจในชั้นการสอบสวนร้องทุกข์

หรือแม้แต่ทำหน้าที่พลเมืองดีไปแจ้งกล่าวโทษในกรณีที่เป็นความผิดต่อรัฐ

ซ้ำยังไม่รู้ว่า เมื่อขวนขวายหามาได้และนำไปมอบให้ตำรวจแล้วจะถูกนำไปรวมไว้ในสำนวนการสอบสวนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งอาจทำสูญหาย หรือมีการ สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน นั้นให้ไม่น่าเชื่อถือไป

ทำให้ผู้เสียหายหลายคนต้องเก็บหลักฐานที่สำคัญเหล่านั้นไว้ และใช้ความพยายามรวมทั้งความอดทนในการยื่นฟ้อง “พิสูจน์ความผิดอาญาแผ่นดิน” ต่อศาลกันเอง!

และจะยิ่ง “วังเวง” หนักขึ้น หากศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่ง “ไม่ประทับฟ้อง” หรือ “พิพากษายกฟ้อง”!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 30 พ.ค. 2565

About The Author