‘น้องแตงโม’ ถูกทำให้เสียชีวิตกับ’การสอบสวนแบบไม่ให้พบความผิด’!

ยุติธรรมวิวัฒน์

“น้องแตงโม” ถูกทำให้เสียชีวิตกับ“การสอบสวนแบบไม่ให้พบความผิด”!


พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

การตายของน้องแตงโมซึ่งถือเป็นการตายผิดธรรมชาติในกรณี ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ซึ่งถือว่า เป็นผลแห่งกระทำผิดอาญา พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องทำการสอบสวน รวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดร้องทุกข์กล่าวโทษหรือร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 129 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การตายโดยผิดธรรมชาติในกรณีที่มีผู้อื่นทำให้ตาย อาจเกิดได้ทั้งจากการกระทำโดยเจตนาหรือประมาท หรือเป็น “การกระทำความผิดอื่น” แต่ผลของการกระทำได้ก่อให้เกิดความตาย อันเป็นเหตุให้ผู้กระทำ ได้รับโทษหนักขึ้น เช่นความผิดฐาน “หน่วงเหนี่ยวผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 310 มีโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

หรือความผิดตาม มาตรา 278 ประกอบกับมาตรา 280 ฐาน “กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย” มีโทษสูงถึง ประหารชีวิต!

“กระทำอนาจาร”  คือ การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่น (คำพิพากษาฎีกาที่ 4024/2534)  การกอด จูบ ลูบ คลำ หอม จับ ที่มีลักษณะเป็นการลวนลาม ถือเป็น  “การกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย” ทั้งสิ้น (คำพิพากษาฎีกาที่ 2049/2550)

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนายปอ โรเบิร์ต และแซน ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

กระทำโดยประมาทคือการกระทำมิใช่โดยเจตนา แต่ เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ฯ เป็นความหมายที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ บัญญัติไว้

ซึ่งความผิดฐานกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ไม่ว่ากรณีใดเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ถ้าผู้กระทำ สำนึกในความผิดและได้บรรเทาผลร้าย เช่น ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายตามกฎหมายแล้วศาลก็มักจะใช้ดุลยพินิจ รอการลงโทษ เป็นส่วนใหญ่

ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่าทั้งนายปอ โรเบิร์ต หรือแซน ได้กระทำอย่างไรที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้น้องแตงโมพลัดตกจากเรือไปจมน้ำถึงแก่ความตาย?

ประกอบกับในวันที่ ผบ.ตร.ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคดีเมื่อเร็วๆ นี้ มีความตอนหนึ่งว่า  “….คดีนี้หากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนช่วงที่แตงโมตกเรือ การสอบสวนคงง่ายขึ้น  แต่เมื่อไม่มีพยานหลักฐานในประเด็นนี้ ตำรวจจำเป็นต้องหาข้อมูลพยานหลักฐานอื่นมาประกอบเพื่อตอบข้อสงสัยในส่วนนี้ให้ได้….”

จาก คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในวันที่แจ้งข้อหาดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสาม  พนักงานสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะแสดงได้ว่ามีการกระทำที่ถือเป็นความประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้น้องแตงโมถึงแก่ความตาย และ “ผู้ใด” เป็นผู้กระทำ?

ขัดต่อมาตรา 134 วรรคสอง แห่ง ป.วิ อาญา ที่บัญญัติว่า “การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่งจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหา” 

จึงถือได้ว่า เป็นการแจ้งข้อหาที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย!

ตามสภาพของการเกิดเหตุ ถ้าน้องแตงโมพลัดตกจากเรือเนื่องจากการกระทำโดยประมาทของบุคคลอื่นจริง เหตุการณ์ดังกล่าวก็จะ เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที และพยานหลักฐานที่จะแสดงว่ามีการกระทำประมาทโดยธรรมชาติก็คงมีแต่เฉพาะ บุคคลที่อยู่บนเรือที่อาจรู้ด้วยประสาทสัมผัส “ได้ยินด้วยหูหรือเห็นด้วยตา” ว่ามีการกระทำอย่างไรเกิดขึ้นในเวลานั้นเท่านั้น

สิ่งอื่นใด ย่อมไม่อาจชี้หรือแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำโดยประมาทดังกล่าวได้เลย 

และเมื่อไม่มีพยานหลักฐานเช่นนั้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าการที่น้องแตงโมพลัดตกจากเรือไป ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของบุคคลหนึ่งบุคคลใดในเรือ

ตามสภาพของเหตุการณ์และสถานที่เกิดเหตุประกอบกับพฤติการณ์ต่างๆ ของคนในเรือทั้ง 5 คือ ปอ โรเบิร์ต แซน กระติก และจ๊อบ หลังเกิดเหตุทุกคนย่อมตกอยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการตายของน้องแตงโมทั้งสิ้น

ฉะนั้น ลำพังถ้อยคำหรือคำให้การไม่ว่าใคร จึง ฟังว่าเป็นความจริงไม่ได้ เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบหรือสนับสนุนถ้อยคำนั้นให้สามารถเชื่อได้ ไม่ว่าจะในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษก็ตาม

พฤติการณ์ต่างๆ หลังเกิดเหตุของคนบนเรือทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นการไม่ไปพบกับตำรวจโดยเร็วตามวิสัยของคนทั่วไป  การร้อนรนไปปรึกษากับทนายหรือผู้รู้กฎหมายก่อนจะไปพบตำรวจเพื่อให้ถ้อยคำ รวมทั้งการแสดงออกถึงความรู้สึกผิดของปอและโรเบิร์ตเกินกว่าความผิดที่ต้องหาว่าประมาท เช่น การพยายามบวชให้ได้ การกราบไหว้ขอขมาคุณแม่น้องแตงโมในที่สาธารณะ การพูดคุยเรื่องเงินจำนวนมากเพื่อชดใช้ตามที่คุณแม่คำนวณไว้ถึง 30 ล้าน ซึ่งเกินกว่าความรับผิดในทางแพ่งกว่าห้าเท่าตัว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443)

ตลอดจนการแสดงออกถึงความพอใจ ไม่รู้สึกว่าถูกตำรวจแจ้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรมในความผิดข้อหาประมาทซึ่งตนไม่ได้กระทำ ตามที่ให้การปฏิเสธแล้ว

ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผิดปกติวิสัยเป็นอย่างยิ่ง

และ เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้คนสงสัยและอดคิดไม่ได้ว่า  การตายของน้องแตงโม น่าจะเกิดจากการกระทำความผิดที่มีโทษหนักกว่าการกระทำโดยประมาทหรือไม่?

เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า มีการกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้น้องแตงโมพลัดตกจากเรือไปจมน้ำถึงแก่ความตาย อีกทั้งโดยพฤติการณ์ต่างๆ ไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากการถูกใครทำให้ตายด้วยการฆ่า หรือเพียงแค่ทำร้ายแต่ส่งผลทำให้ถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 10 ก็ตาม

ก็ย่อมต้อง เกิดจากการกระทำโดยเจตนาของบุคคลในความผิดอื่น แต่การกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดผลคือความตายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตราหนึ่งมาตราใดอย่างแน่นอน!

ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ น้องแตงโมมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงถึง 93 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อได้พิจารณาจากวิสัยและสถานะของน้องซึ่งเป็นดาราผู้มีชื่อเสียงประกอบกับจำนวนขวดไวน์ในเรือแล้ว แสดงให้เห็นว่าคนอื่นๆ ในเรือทั้งหมดหรือแทบทุกคนต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่าน้องแตงโมอย่างมากหรืออาจหลายเท่า!

ซึ่งเมื่อทุกคนต่างอยู่ในอาการมึนเมามากน้อยต่างกันไปประกอบกับบรรยากาศ สถานที่ และเวลาที่ดึกแล้ว อาจเกิดเหตุจากชายคนใดคนหนึ่งหรือมากกว่าได้กระทำการลวนลาม (กอด จูบ ลูบ คลำ จับ หรือหอม) น้องแตงโม 

ทำให้น้องต้องปัดป้องและหลบหลีกในลักษณะหนึ่งลักษณะใดแล้วทำให้พลัดตกจากเรือไป หรือแม้กระทั่งกระโดดหนีเพื่อให้พ้นจากภัยลวนลามนั้น!

ซึ่งถือเป็นการ “กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย  เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย” ตามมาตรา 278 ประกอบกับมาตรา 280 (ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ)

ฉะนั้น การที่พนักงานสอบสวนรีบแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนายปอและโรเบิร์ต หลังเกิดเหตุเพียง 2 วัน ในความผิดตามมาตรา 291 ฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่ามีการกระทำประมาทเกิดขึ้น เป็นพฤติการณ์อย่างหนึ่งซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่า มีใครเจตนาช่วยผู้กระทำผิดให้ได้รับโทษน้อยลงหรือแม้แต่ไม่ต้องรับโทษหรือไม่?

เนื่องจากในการดำเนินคดีความผิดดังกล่าวโดยที่ไม่มีพยานหลักฐาน ก็เท่ากับเป็นการ “ตีกรอบ” หรือ “จำกัดวง” ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแต่เฉพาะข้อหาความผิดที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น

เป็นไปตาม ป.วิ อาญา มาตรา 131 ซึ่งบัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อ ประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา….”

เป็นการกำหนดให้สอบสวน ตามข้อหาที่มีโทษน้อยกว่าซ้ำยังไม่สามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันการกระทำผิดได้

ซึ่งหาก อัยการ ได้ สั่งฟ้อง ไป แต่ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานให้ศาลรับฟังจนสิ้นสงสัยพิพากษาลงโทษได้ และ ยกฟ้อง

เท่ากับเป็นการ คุ้มครองและป้องกันมิให้มีการสอบสวนหาพยานหลักฐานการกระทำผิดที่แท้จริง กับบุคคลใดอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่มีโทษร้ายแรงกว่าข้อหาใด

ถือเป็น เทคนิคทางคดี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในหมู่ พนักงานสอบสวนชั้นเลว

ใน การสอบสวนแบบไม่ให้พบความผิด รูปแบบหนึ่ง!.

 

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2565

About The Author