‘ตำรวจไทย’ กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายต่อ ‘คนรวย’
‘ตำรวจไทย’ กับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายต่อ ‘คนรวย’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของน้องแตงโม ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจอย่างใหญ่หลวงทั้งของ เบิร์ดคนรัก และ เพื่อนพี่น้องนักแสดงดารา รวมทั้งประชาชนผู้รักและชื่นชมเธอเสมอมา
เธอนับเป็นดาราสาวคนหนึ่งซึ่งนอกจากจะมี ความคิดและนิสัยตรงไปตรงมา ที่ได้ฟันฝ่ามรสุมชีวิตร่วมกับบิดาด้วยความยากลำบากมาอย่างยาวนาน
อีกทั้งยังมีความตื่นตัวทางการเมือง สนใจในเรื่องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของประชาชน จนกระทั่งเคยขึ้น เวทีการชุมนุมข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อหลายปีก่อน “วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์” อย่างเผ็ดร้อนฉะฉาน!
ทำให้ทุกคนประทับใจใน ความกล้าหาญ ที่เธอแสดงออกอย่างชัดเจนนับแต่นั้นเป็นต้นมา
และการเป็น นักการเมือง ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เธอเคยเปรยๆ ว่า สนใจ อยากได้โอกาสในการเป็นปากเสียงให้พี่น้องประชาชน
พฤติการณ์แห่งการตาย ของเธอ จนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และเชื่อถือได้ว่า เธอตกจากเรือเร็วของกลุ่มเศรษฐีไป ตรงจุดไหนของเรือ ด้วยเหตุและลักษณะอาการอย่างใด?
รวมทั้ง วัตถุอะไรได้ทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่บริเวณต้นขาขวาในเวลาที่เธอยังมีชีวิตและลมหายใจ รวมทั้งพยายามตะเกียกตะกายจนกระทั่งจมน้ำขาดอากาศหายใจตามรายงาน เหตุแห่งการตาย ที่ปรากฏตามผลการตรวจชันสูตรศพและ แยกธาตุ ของเจ้าพนักงานรัฐ
การที่ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จะสรุปว่า บาดแผลน่าจะเกิดจากโดนใบพัดหรือฟินเรือใต้น้ำ คงทำให้ ชาวเรือผู้มีประสบการณ์ รวมทั้งประชาชนผู้สนใจ เชื่อและยอมรับได้ยากอย่างยิ่ง!
เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า ในความเป็นจริงแทบเป็นไม่ได้ เพราะ พลังน้ำช่วงท้ายเรือขณะวิ่งจะดันทุกสิ่งที่ตกลงไปในน้ำออกทั้งสองข้างตลอดเวลา
ปัญหา พฤติการณ์ที่ตาย ของเธอที่ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนในเรื่องนี้ทำให้ผู้คนมีคำถามต่อการทำงานที่บกพร่องของตำรวจตั้งแต่แรกมากมาย
ตั้งแต่การ ไม่สั่งอายัดเรือเพื่อรักษาสภาพไว้ในทันทีที่เกิดเหตุ ปล่อยให้ผู้ต้องสงสัยนำไปเก็บไว้ในอู่อยู่หลายวัน ซ้ำยังได้แยกย้ายกันกลับบ้านไป!
รวมทั้งหลังพบศพได้มี “คำสั่งลึกลับของตำรวจผู้ใหญ่” ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร?
ให้เปลี่ยนสถานที่ส่งและตรวจศพจากสถาบันนิติเวช กระทรวงยุติธรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ตามปกติ ซึ่งอยู่ในระบบที่เปิดเผยกว่า ไปเป็นสถาบันนิติเวชตำรวจที่ แม้แต่รายงานผลการตรวจชันสูตรศพก็ถือเป็นความลับราชการ แทน
ส่งผลทำให้ประชาชน ไม่เชื่อถือเชื่อมั่น
เนื่องจากส่วนหนึ่ง เสียขวัญ มาจาก การสอบสวนที่แสนพิลึกพิลั่นของตำรวจผู้ใหญ่ ใน “คดีบอส” ที่ไม่ยังมีข้อสรุปความผิดฐาน “ซ่องโจรพลตำรวจเอก” ที่สุมหัวกันเปลี่ยนความเร็วรถจนกระทั่งป่านนี้!
ผู้คนจึงพากันวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจไปต่างๆ นานา และ พยายามช่วยกันหาพยานหลักฐานเกี่ยวกับสาเหตุการตกเรือของเธอเท่าที่จะทำได้ไปออกรายการโทรทัศน์รวมทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์
โดยไม่ยอมส่งมอบให้ตำรวจผู้ใหญ่คนใดดูหรือแม้แต่ให้รู้!
เพราะ ไม่เชื่อใจในความสุจริตและประสิทธิภาพ ในการทำงานของตำรวจทุกหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ คนรวยตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา
ปรากฏการณ์เช่นนี้ นับเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีความคิดและทัศนคติต่อองค์กรตำรวจเช่นนั้น
เนื่องจากแต่ละคน โดยเฉพาะคนยากจน ต่างได้พบและมี ประสบการณ์ที่เลวร้าย กับการทำงานของตำรวจมากมาย โดยเฉพาะในปัญหาที่ร้ายแรงเรื่อง ไม่รับคำร้องทุกข์!
รวมทั้ง การสอบสวนในบางคดีก็วิปริตสุดจะบรรยาย!
อย่างรายล่าสุด กรณี ไฮโซ ขับรถหรูราคาสามสิบล้านไปเฉี่ยวชนแผงราวกั้นริมถนนจนไฟไหม้ทั้งคันที่ อ.ท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
แต่ปรากฏว่า ตำรวจไม่ได้ “สั่งให้เป่าทดสอบความเมาตามกฎหมาย” เช่นที่ได้ปฏิบัติกับประชาชนทั่วไปในขณะตั้งด่าน ซ้ำประชาชนคนยากจนไม่ได้มีพฤติการณ์ขับรถประมาทหรือเกิดอุบัติเหตุอะไร ที่จะทำให้ตำรวจ มีอำนาจสั่งให้เป่าเพื่อตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 แต่อย่างใด?
อีกทั้งยังได้มี ตำรวจผู้ไม่รู้กฎหมาย ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า ไม่จำเป็นต้องทดสอบความเมาในกรณีนี้ เนื่องจากไม่มีคู่กรณีจากอุบัติเหตุแต่อย่างใด!
ทำให้ประชาชนผู้ขับรถที่ถูกตำรวจสั่งให้ เป่าเมา กันแทบทุกวัน ต่างพากันสงสัยว่า การไม่สั่งให้ผู้ขับรถที่เกิดอุบัติเหตุเป่าทดสอบความเมาโดยอ้างว่าไม่มีคู่กรณีอีกฝ่าย
เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?
แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นมี “นายพลตำรวจระดับกองบังคับการ กองบัญชาการ หรือตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่จำนวนมากมายคนใดออกมาให้สัมภาษณ์หรือ “ชี้แจงยืนยัน” ความเข้าใจในกฎหมายของตำรวจที่วิปริตเช่นนั้นกันแต่อย่างใด?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 2565