‘น้องแพรพลอย’ถูกแจ้งข้อหาหนักกว่า ‘ผู้ชายถ่อย’ ‘กฎหมายไทยมีปัญหา’ หรือว่า ‘ตำรวจผู้ใหญ่ความรู้ไม่พอ!’
‘น้องแพรพลอย’ถูกแจ้งข้อหาหนักกว่า’ผู้ชายถ่อย’ ‘กฎหมายไทยมีปัญหา’หรือว่า’ตำรวจผู้ใหญ่ความรู้ไม่พอ!’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณี น้องแพรพลอย ถูก “ชายไทยถ่อย” ใช้เบียร์ราดหัว ในร้านข้าวต้มกลางคืน เมื่อ วันที่ 8 กุมภา. เวลาประมาณ 05.00 น. พื้นที่ สน.ห้วยขวาง
สาเหตุเนื่องจากไม่พอใจเพียงเธอไม่ยอมชนแก้วด้วย!
ทำให้น้องเกิดโทสะและความเดือดดาลขึ้นทันที ลุกขึ้นเดินปรี่ตามผู้ชายคนนั้นไป เตะด้วยแข้งขวาสังหาร! จนหายแค้นพอประมาณ ที่บริเวณหน้าร้านตามสัญชาตญาณนักมวยหญิงซึ่งฝึกซ้อมอยู่เป็นประจำ
แต่หลังจากนั้นเธอก็ยังไม่หายแค้น เนื่องจากถูกเพื่อนห้ามปรามไว้ ไม่ทันได้ลงแข้งอย่างเต็มรูป ให้สาสมกับการกระทำผิด!
จึงได้ ใช้สิทธิในฐานะที่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ไปแจ้งความกับตำรวจ สน.ห้วยขวาง ให้ดำเนินคดีกับชายคนดังกล่าว หวังให้เข็ดหลาบ ไม่ให้ไปรังแกคนอื่นอีกด้วย
รวมทั้งคลิปการเตะถีบด้วยแม่ไม้มวยไทยที่น่าประทับใจก็ถูกเผยแพร่ออกไปให้ประชาชนดูจนเกิดความ ชื่นชมและสนใจในตัวน้องแพรพลอย กันอย่างมาก!
แต่ต่อมาเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่าเธอถูกตำรวจดำเนินคดีอาญาข้อหา ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามกฎหมายอาญามาตรา 391 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้งข้อหา ทะเลาะกันอย่างอื้ออึง หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะตามมาตรา 372 มีโทษปรับอีกไม่เกินห้าพัน!
ส่วนชายถ่อยคนนั้น หลังเป็นข่าวก็ได้เข้ามอบตัวและถูกแจ้งข้อหา กระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนตัวบุคคลหรือทรัพย์ ตามมาตรา 389 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
รวมทั้งข้อหา ทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ ตามมาตรา 372 ด้วยเช่นเดียวกันกับน้องแพรพลอย
ส่วนผลการดำเนินคดีใน ทุกข้อหา นั้น ทั้งสองถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับรวม คนละหนึ่งพัน ซึ่งตามข่าวบอกว่า ผู้ต้องหาชายเป็นคนจ่ายให้!
ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า คดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามกฎหมายที่ ป.วิ อาญา มาตรา 37 บัญญัติไว้
แต่ได้สร้างความกังขาให้กับประชาชนอย่างมากว่าเหตุใดน้องแพรพลอยจึงกลายเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีหนักกว่าผู้ชายที่รังแกเธอเช่นนี้!
ต่อมาโฆษก บช.น.ก็ได้แถลง ยืนยันว่า เป็นการแจ้งข้อหาที่ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงแห่งการกระทำผิดของทั้งสองคนรวมทั้งตัวบทกฎหมายแล้วทุกประการ?
แต่เหตุใด ความยุติธรรมตามกฎหมาย จึงค้านสายตาและความรู้สึกของประชาชนที่เป็นวิญญูชน จนตำรวจถูกก่นด่ากันขรมในโลกออนไลน์อย่างมากมาย!
บางคนถึงขนาดได้ตั้งคำถามว่า ถ้าประชาชนเอาเบียร์ราดหัวนายพลตำรวจหรือเมียบ้าง จะเสียค่าปรับเท่าไหร่!
ปัญหาคือ กฎหมายอาญาไทยไม่ได้มีบทบัญญัติที่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสุจริตชนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?
ประเด็นเรื่องการกระทำในการเตะถีบของน้องแพรพลอยไม่ใช่การป้องกันตัวตามกฎหมายอาญามาตรา 68 ที่จะทำให้ ไม่มีความผิด นั้น ไม่มีใครโต้แย้ง
รวมทั้งการแจ้งข้อหาว่าทำร้ายร่างกายผู้อื่นก็ถูกต้อง
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำเข้าลักษณะ “บันดาลโทสะ” เนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและได้กระทำผิดต่อผู้ข่มเหงไปในขณะนั้น
ซึ่งเป็นอำนาจของศาลในการที่จะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ โดยที่ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับเธอเลยมิใช่หรือ?
ตำรวจมีหน้าที่เพียงดำเนินการสอบสวนเสนอสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลพิจารณาว่า เธอควรถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างไร?
ซึ่งศาลจะพิพากษาให้ปรับเธอน้อยเพียงใดหรือ “อาจสร้างบรรทัดฐานใหม่” โดยไม่ปรับเลยก็ยังได้
เนื่องจาก เป็นการกระทำความผิดลหุโทษด้วยเหตุบันดาลโทสะ เช่นเดียวกับการพยายามกระทำความผิดลหุโทษ กฎหมายก็บัญญัติให้ ไม่ต้องรับโทษ ตามมาตรา 105
นอกจากนั้น การกระทำในการไล่เตะคนที่รังแกเธอดังกล่าว ก็ ไม่ใช่พฤติกรรมการทะเลาะกันกับใครแต่อย่างใด รวมทั้งผู้ชายถ่อยคนนั้นด้วย
อีกทั้งการใช้เบียร์ราดหัว ก็ไม่ใช่การกระทำให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนตัวบุคคลหรือทรัพย์แต่อย่างใด
เนื่องจาก “เบียร์ไม่ใช่ของโสโครก” ทั้งตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย
แต่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 397 คือ “กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ต่างหาก
นอกจากนั้น ในการดำเนินคดีความผิดลหุโทษ ก็ได้มีมาตรา 38 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าพนักงาน (พนักงานสอบสวน) เห็นว่า ผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุก ก็ให้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
คำถามก็คือ พนักงานสอบสวนใช้ดุลยพินิจอย่างไรที่จะอธิบายต่อสาธารณชนว่าผู้ต้องหาที่รังแกหญิงด้วยการใช้เบียร์ราดหัวขณะนั่งอยู่โดยไม่ได้มีเหตุสืบเนื่องมาจากการทะเลาะวิวาทกันมาก่อนเลยอะไร “ไม่เป็นการกระทำที่ควรได้รับโทษถึงจำคุก” ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
เช่นเดียวกับการดำเนินคดีความผิดลหุโทษที่ “ตำรวจปรับกันมั่วๆ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย” สร้างความคับแค้นใจให้กับผู้คนมากมาย!
ถ้าอธิบายไม่ได้ ก็มีหน้าที่ต้องสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลให้พิพากษาเท่านั้น
ซึ่งศาลอาจลงโทษ จำคุกสิบหรือสิบห้าวัน แต่ให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลานานเท่าที่กำหนดก็ได้
หรืออาจจะปรับในอัตราสูงไม่เกินหนึ่งหมื่น ทำให้ผู้กระทำรู้สึกว่าไม่คุ้มกับความคึกคะนอง ซ้ำยังต้องมีประวัติอาชญากรรมรังแกผู้หญิงติดตัวไปตลอดชีวิตอีกด้วย
ถือเป็น “ความยุติธรรมตามกฎหมาย” ที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับได้และไม่กล้ากระทำผิดกฎหมายเกิดความสงบสุข อย่างแท้จริง
ปัญหาอาชญากรรมและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมไทยนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุที่ตำรวจผู้รักษากฎหมายไม่ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและจริงจังต่างหาก หาใช่กฎหมายมีปัญหาอย่างที่หลายคนด่าว่ากันอย่างเสียหายแต่อย่างใด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุจากการทุจริตประพฤติมิชอบของตำรวจผู้ใหญ่ในการ “รับส่วยสินบน” จากผู้กระทำผิดกฎหมายหลายรูปแบบทั่วประเทศมากมาย
เช่นกรณีนี้ ตำรวจนครบาลปล่อยให้มีการ “จำหน่ายสุรา ประชาชนถือแก้วเหล้าเบียร์กินกันถึงตีสี่ตีห้า” ได้อย่างไร ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้จำหน่ายได้แค่เที่ยงคืน และ 01.00 น. สำหรับสถานบริการที่ได้รับอนุญาตจากรัฐเท่านั้น?
มีการดำเนินคดีอะไรกับผู้จำหน่ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้ง “ลงโทษทางวินัย” กับตำรวจผู้รับผิดชอบที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนหรือไม่?
นอกจากนี้ ตำรวจประเทศไทยโดยเฉพาะที่เรียกกันว่า ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ จำนวนมากก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อ หลักกฎหมายอาญา เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการ ดำเนินคดีต่างๆ ตามกฎหมาย เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและความสงบสุขอย่างแท้จริง!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2565