‘หมอกระต่าย’ จะไม่ตาย ถ้านายกฯปฏิรูปตำรวจให้ ‘เคารพ’ และ ‘รักษากฎหมาย’ อย่างเคร่งครัด
หมอกระต่ายจะไม่ตาย ถ้านายกฯปฏิรูปตำรวจให้“เคารพ”และ“รักษากฎหมาย”อย่างเคร่งครัด
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์ความสูญเสียถึงชีวิตของ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ผู้ถูก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.คฝ.บช.น. “ซิ่ง” รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน อย่างคึกคะนอง ชนตายคาทางม้าลาย
ขณะเดินข้ามและกำลังจะพ้นด้านหนึ่งของถนนพญาไทหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น.
นำความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวงมาสู่ครอบครัวและญาติมิตรในวงการแพทย์พยาบาลรวมทั้งประชาชนผู้สนใจปัญหาความปลอดภัยในสังคมไทยจำนวนมาก
ไม่มีคำขอโทษหรือการแสดงความเสียใจใดๆ ไม่ว่าจากบุคคลใดที่จะทำให้ความเจ็บปวดของพ่อแม่และครอบครัวหมอกระต่ายจางหายไปง่ายๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกนานเท่าใด!
ปัญหาประชาชนขับยานพาหนะด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนรถหรือคนเดินถนน ที่เรียกกันว่า “อุบัติเหตุ” นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศด้วยสาเหตุต่างๆ กัน
แต่เหตุใดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในแต่ละปีจึงมีสถิติสูงมากอย่างน่าตกใจ และเป็นเหตุทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายในลำดับต้น หรือแม้กระทั่ง ที่หนึ่ง ของโลก!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับรถชนคนขณะกำลังเดินอยู่ใน ทางข้ามตามกฎหมาย หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทางม้าลาย” ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (12)
ซึ่งหมายถึง “พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทางหรือทั้งสองข้าง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทางซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน” นั้น
ถือเป็นเรื่องใหญ่ในทุกสังคม และไม่ใช่เรื่องจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุที่เกิดจากการกระทำของ ตำรวจผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายที่ขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทอย่างร้ายแรงเช่นประเทศไทย!
มันเกิดขึ้นได้อย่างไรที่มีตำรวจนายหนึ่งขี่รถจักรยายนต์ขนาดใหญ่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนส่งเสียงดังกึกก้องวิ่งอยู่กลางกรุง แม้กระทั่ง เข้า-ออกกอง บัญชาการตำรวจนครบาลไปส่งหนังสือราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ได้อย่างสบาย!
ขี่ผ่านเขตพระราชฐานและสถานที่ราชการสำคัญทั้งตำรวจและทหารไปมาก็มากมาย!
แต่ไม่เคยถูกตำรวจไม่ว่านายใดหรือหน่วยใด ตรวจพบและจับกุม เพื่อหยุดยั้งไม่ให้กระทำต่อไปแต่อย่างใด?
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนอะไร?
ระบบบริหารงานตำรวจของไทย ภายใต้เครื่องแบบและชั้นยศที่โอ่อ่าอลังการยิ่งกว่าทหาร มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรักษากฎหมายอย่างแท้จริงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญทั่วโลก ซึ่งตำรวจอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการเมืองหรือจังหวัดมากน้อยเพียงใด?
การปฏิรูประบบตำรวจไทยให้สอดคล้องกับระบบตำรวจในประเทศที่เจริญทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังหาเสียงอยู่ในขณะนี้ทุกคน ต้องคิดและกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียงและดำเนินการ หากต้องการลดความสูญเสียของประชาชนจากปัญหาอาชญากรรมและอุบัติเหตุจราจรในกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง
เหตุการณ์ความสูญเสีย หมอกระต่าย ได้ส่งผลทำให้รัฐบาล เริ่มกระตือรือร้น คิดหามาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนี้ซ้ำขึ้นอีก
เริ่มจากการที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวลาอีกสองสามวันต่อมา
แต่สรุปแนวทางแก้ปัญหาก็ยังคงเป็น มาตรการเดิมๆ เช่นให้ทุกหน่วยไปตรวจสอบความมีมาตรฐานของทางม้าลาย ทาสีตีเส้นทำเครื่องหมายและสัญญาณให้ชัดเจน รวมทั้งกำชับให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น
หลังเกิดเหตุ นายพลตำรวจบางนาย มั่ว บอกว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของกฎหมาย ไม่แยกประเภทใบอนุญาตขี่รถจักรยานยนต์ขนาดเล็กออกจากขนาดใหญ่ให้ชัดเจน เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย
รวมทั้งกฎหมายจราจรก็มีโทษต่ำเกินไป ประชาชนไม่กลัวเกรง
จริงหรือที่หลายคนบอกว่า กฎหมายจราจรไทยมีปัญหาอัตราโทษต่ำเกินไป ต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มโทษปรับหรือจำคุกในทุกข้อหาให้สูงขึ้น!
แค่ลองคิดดูง่ายๆ ว่า ถ้าตำรวจผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ว่าระดับใด อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและจังหวัด ถูกควบคุมให้หมั่นตรวจสอบการทำงานของตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่จับผู้กระทำผิดกฎหมาย ออกใบสั่งดำเนินคดีหรือยึดรถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนซึ่งวิ่งอยู่บนถนนทุกคันไปตรวจสอบหลักฐานการครอบครองว่าได้มาโดยชอบหรือไม่
ยิ่งถ้าพบว่าเป็นตำรวจไม่ว่าชั้นยศใด ก็สั่งลงโทษทางวินัยตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนในปีนั้นทันที
จะมีประชาชนหรือแม้กระทั่งตำรวจนายใดกล้านำรถผิดกฎหมายมาวิ่งด้วยความเร็วสูงกลางกรุงจนทำให้ชีวิตของหมอกระต่ายต้องถูกสังเวยไปอย่างเศร้าสลดเช่นนี้หรือ?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2565