‘นโยบายกัญชา’ พาเข้าคุก!
‘นโยบายกัญชา’ พาเข้าคุก!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ประเทศไทยวันนี้ มีเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชนเกิดขึ้น แม้กระทั่งเจ้าพนักงานของรัฐหลายฝ่ายในระบบงานรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
ไม่ว่าจะเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและตำรวจผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งอัยการหรือศาล ก็ตาม
ด้วยเหตุจาก ความเขลา และ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของคนบางกลุ่ม คือการออกและตีความตามกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมาย” ประกาศใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564
ไม่รู้ ผู้เป็นต้นคิดและรับผิดชอบ ออกกฎหมายกันอย่างไรจึงส่งผลทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่ากัญชาไม่มีฐานะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายอีกต่อไป
ใครใคร่ปลูกก็ปลูกได้ ใครอยากค้าหรือเสพ ก็ค้าและเสพได้ตามสบาย!
ต่อไปคนไทยและชาวต่างชาติทั้งหญิงชายทุกวัยจะได้มีความสุขสนุกสำราญกับการสูบ หรือ เสพกัญชา หัวเราะร่าครื้นเครงกันทั้งวัน!
บางคนก็ถึงขนาด ฝัน จะทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนปลูก หรือคือการผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อส่งออก หารายได้เข้าประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ฟุบไม่โงหัวมานานหลายปีจนกระทั่งบัดนี้
มีนักการเมืองพรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลรับรองว่า ถ้าใครถูกเจ้าพนักงานของรัฐไม่ว่าหน่วยใดจับ ให้โทรศัพท์บอกได้ที่หมายเลข 0-2940-6999 ตลอดเวลา จะจัดหาทนายไปว่าความสู้คดีให้
ในขณะที่ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. กลับบอกตรงกันข้ามว่า
กัญชายังคงเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ใดสามารถปลูก ขนค้า หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐเช่นเดิม
แต่ “ปัญหาใหญ่” ก็คือ ประชาชนจำนวนมากแทบทั้งประเทศได้หลงเข้าใจไปแล้วว่า กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดผิดกฎหมายไทยอีกต่อไป!
เป็นไปตามที่พรรคการเมืองใหญ่ได้ประกาศนโยบายหาเสียงไว้ว่าจะให้ประชาชนสามารถปลูกได้บ้านละ 6 ต้น
หลายคนหลายบ้านได้มีการจัดหาเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งต้นกล้าหรือว่าดอกใบ ทั้งนำมารักษาโรค หรือเตรียมไว้หรือได้ลักลอบ “ปลูก” “ขนค้า” รวมทั้ง “เสพ” ในรูปต่างๆ กันไปแล้วทั่วประเทศมากมาย!
รอแต่การออกกฎหมายให้สามารถกระทำได้อย่างถูกต้องมารองรับ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป เช่นเดียวกับการ ปลูก ค้า และเสพพืชกระท่อม ที่พบเห็นได้ตามถนนหนทางกันมากมายในปัจจุบันเท่านั้น!
ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดใหม่ใช้เวลาหลายปี โดยที่ไม่ระบุให้ชัดเจนเช่นเดิมว่ากัญชาเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งอีกต่อไป
ทำให้แม้กระทั่งนักกฎหมายหลายคนก็เข้าใจว่า สิ่งใดถ้าไม่กำหนดไว้ในกฎหมายประชาชนก็ย่อมสามารถปลูก ค้า หรือมีไว้ในครอบครองได้ ไม่มีความผิดอะไร
เป็นไปตามหลักความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า
“บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”
ถือเป็นหลักการที่ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมสากลทุกประการ ไม่มีใครโต้แย้งหลักกฎหมายบทนี้แต่อย่างใด
แต่ปัญหาคือ จริงหรือไม่ที่ว่าปัจจุบันไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายชนิดหนึ่ง
ซึ่งผู้ปลูกคือการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกถึงห้าปี และปรับถึง 500,000 บาท และถ้า เป็นการกระทำเพื่อการค้ามีโทษจำคุกถึงสิบห้าปี และปรับถึง 1,500,000 บาท
เนื่องจากแม้กัญชาไม่ได้ถูกกำหนดว่าเป็นยาเสพติดไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังคงถือเป็นยาเสพติดตาม กฎหมายลำดับรอง อยู่ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการประกาศกำหนด และได้ออกมาก่อนนั้น
คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2563
ข้อ 2 (1) กัญชา (canabis) พืชในสกุล Canabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน ยกเว้นวัตถุหรือสารดังต่อไปนี้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศคือ
(ก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
(ข) ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
(ค) สารสกัดที่มีสารแคนาบิไดออล (cannabidol, CBD) เป็นส่วนประกอบและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก
(ง) กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2 โดยน้ำหนัก
สรุปก็คือ การครอบครองหรือเสพกัญชา ถ้าจะไม่ให้เป็นความผิดตามกฎหมายก็คือ
ต้องมีแต่ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก เฉพาะที่มีแหล่งผลิตซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐแล้วเท่านั้น เพราะว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ได้
แต่ในส่วนอื่นๆ เช่น ใบ ช่อดอกและเมล็ด ยังคงถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 มีโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้
ซึ่งถ้ารัฐไม่ต้องการให้เป็นความผิดในทุกกรณีเพื่อที่ประชาชนจะได้ปลูก ค้า และเสพกัญชาอย่างเสรีให้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก!
ก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน
ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อนจากการถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายส่งให้อัยการฟ้องศาลพิพากษาจำคุกกันทั่วประเทศมากมาย
โดยที่ไม่มีใครสามารถช่วยให้รอดพ้นจาก “ความผิดอาญา” ได้แต่อย่างใด!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2565