ปปส.เตรียมริบ’บัตร ปส.’ รีดทรัพย์! ตร.ไม่มีผลการปฏิบัติ มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้ใจ

ปปส.เตรียม ริบ’บัตร ปส.’ รีดทรัพย์! ตร.ไม่มีผลการปฏิบัติ มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้ใจ ไม่รายงานการใช้ตามระเบียบ ลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการถูกตรวจค้นตรวจฉี่โดยมิชอบ หรือ ถูกจับทำทารุณกรรม ‘วิรุตม์’ เสนอ ‘Set Zero’ บัตร ปส.ใหม่ทั้งหมด!

เมื่อวันที่ 20 – 21 ธ.ค. 2564 ณ ห้องแคทรียาโรงแรมรามาการ์เด้นส์นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการประมวลกฎหมายยาเสพติด และปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานในการสืบสวนสอบสวน พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด( ป.ป.ส.) นายรุ่งศักดิ์ วงกระสันต์ ประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ นายปกรณ์ ยิ่งวรการ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายอุทัย สินมา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด พล.ต.นิติน ออรุ่งโรจน์ หัวหน้าอัยการทหาร กรมพระธรรมนูญ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ รวมกว่า 100 คน

สมศักดิ์ เทพสุทิน
สมศักดิ์ เทพสุทิน

การสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็นสำคัญ เช่นการแจ้งข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเดิมมียาเสพติดปริมาณหนึ่ง โดยยาบ้า 15 เม็ดขึ้นไปก็ถือเป็นการครอบครองเพื่อจำหน่าย มีอัตราโทษสูง ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้และศาลพิพากษาจำคุกเป็นจำนวนมาก ก็เปลี่ยนเป็นแจ้งข้อหาตามพฤติการณ์ที่แท้จริงแทน

ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นปัญหากับผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายที่จะทำงานยากขึ้นในการแจ้งข้อหาจับกุมและรวบรวมพยานหลักฐาน แต่ก็มีผลดีที่จะทำให้มีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาถูกจำคุกในข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่ายทั้งที่ไม่ใช่ผู้ค้ายาเสพติดที่แท้จริงน้อยลงกว่าเดิมมาก เกิดความยุติธรรมตามข้อเท็จจริงแห่งการกระทำผิดของแต่ละคน ซึ่งเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎหมายใหม่นี้ด้วย

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญก็คือ การใช้อำนาจของตำรวจในฐานะเจ้าพนักงาน ปส. ตามที่เลขาธิการแต่งตั้ง และออกบัตรประจำตัวให้มีอำนาจพิเศษตาม พ.ร.บ. ไม่ว่าจะเป็นการเข้าตรวจค้นในกรณีจำเป็นเร่งด่วนโดยไม่ต้องมีหมายศาล การขอตรวจปัสสาวะ และควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ 3 วันโดยยังไม่ต้องส่ง พงส.ทันทีตาม ป.วิ อาญา ซึ่ง ปปส.ได้มีการแต่งตั้งตำรวจทั่วประเทศให้เป็นเจ้าพนักงาน ปส.ไปประมาณ 15,000 คน โดยได้รับการร้องเรียนจากหลายฝ่ายว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติอย่างมาก

ประเด็นนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ.และที่ปรึกษาคณะทำงานอธิบดีอัยการฝ่ายยาเสพติดผู้เป็นประธานการสัมมนา ได้กล่าวว่า ปัญหานี้ในข้อเท็จจริงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างร้ายแรงยิ่ง เนื่องจากได้กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ตำรวจผู้ไม่สุจริตที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ปส.จำนวนมากใช้อำนาจเกินขอบเขต ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วน และควร set Zero ใหม่ทั้งหมด ไม่แต่งตั้งให้ตำรวจเป็นเจ้าพนักงาน ปส.กันมากมายไม่ว่าระดับใดเช่นปัจจุบัน และหากจะแต่งตั้ง ก็ต้องมีมาตรการในการตรวจสอบควบคุมการใช้อย่างเข้มงวดจริงๆ โดยไม่ต้องห่วงว่า หากควบคุมมากแล้ว ตำรวจผู้ใหญ่จะเกิดอาการ ‘งอน’ ไม่ยอมทำงานป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้เพราะตำรวจที่ทำงานด้วยความสุจริตอย่างแท้จริงไม่ได้มีปัญหาอะไร

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่ผ่านมาแม้ว่าจะได้มีการแต่งตั้งไปมากมาย แต่จะเห็นว่าปัญหายาเสพติดในประเทศไทยไม่ได้ลดลงเลย ซ้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างมากมายอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ‘ราคายาเสพติดทุกชนิด’ ถูกลงจากอดีตอย่างมาก อย่างยาบ้า เมื่อ 10 กว่าปีก่อนเม็ดละ 150 ถึง 200 ปัจจุบันบริเวณชานเมืองแค่ 3 เม็ดร้อยเท่านั้น นี่คือตัวชี้วัดที่สำคัญของความสำเร็จมากกว่าการแสดงผลงานการจับกุมได้ของกลางมากน้อยเพียงใด ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไรในแง่ความสำเร็จของการป้องกันปราบปรามอย่างแท้จริงเลย

รวมทั้งสำนักงาน ปปส.ก็ควรฟื้นฟูบทบาทของตนเองในการสืบสวนสอบสวนตามเจตนารมย์ของกฎหมายยาเสพติดเช่นอดีตขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะการใช้อำนาจพิเศษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด มาตรา 15 ในการควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้ 3 วันโดยยังไม่ต้องส่งพนักงานสอบสวนทันที ตาม ป.วิ อาญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปส.ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนได้ใช้ประโยชน์เพื่อการสอบสวนขยายผลไปสู่ผู้ค้ารายใหญ่จริงๆ ซึ่งในอดีตการปฏิบัติของ ปปส.ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับไปรีดทรัพย์หรือทำทารุณกรรม

แต่หลังจากเลขาธิการ ปปส.สมัยหนึ่งเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมามีนโยบายมอบอำนาจให้ตำรวจเป็นเจ้าพนักงาน ปส. ก็ได้เกิดปัญหาขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการจับตัวผู้ตัองหาไปควบคุมไว้ 3 วันในสถานที่ที่ตำรวจผู้ใหญ่เรียกว่าเซฟเฮ้าส์ แต่ประชาชนเรียกกันว่า “บ้านผีสิง” ซึ่งหลายแห่งก็เป็นบ้านเช่า ไม่ใช่สถานที่ราชการด้วยซ้ำ! ผู้มีอำนาจรับผิดชอบปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ก่อให้เกิดปัญหาการกระทำทารุณกรรม หรือรีดทรัพย์แล้วปล่อยตัวผู้ถูกจับไป สร้างความร่ำรวยให้ตำรวจผู้ใหญ่กันมากมาย!

หรือแม้กระทั่งการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ ก็กระทำกันอย่างพร่ำเพื่อโดยมิชอบทั่วประเทศ คือไม่มี ‘เหตุอันควรเชื่อว่าเสพสารเสพติด’ อย่างแท้จริง ก็ไปเรียกตรวจ ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส

ขอบคุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

About The Author