สตง.จะรู้ได้อย่างไรว่า พงส.คนใด’ฉ้อฉล’เบิกเงินตำแหน่งโดยไม่ได้ทำงานสอบสวนจริง!

ยุติธรรมวิวัฒน์

สตง.จะรู้ได้อย่างไรว่าพงส.คนใด“ฉ้อฉล”เบิกเงินตำแหน่งโดยไม่ได้ทำงานสอบสวนจริง!

                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

เรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาตำรวจไทยในระยะนี้ที่ประเดประดังขึ้นมาสารพัด ทั้งๆ ที่ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้พยายามแสดงความจริงใจและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ

แต่ก็ไม่อาจชำระ มรดกปีศาจ! ที่ถูกผู้นำตำรวจแต่ละยุคสมัย ทั้งก่อและสะสมทิ้งเอาไว้ ได้ง่ายๆ

และบางเรื่องก็กลายเป็น แพะรับบาป ไปหลายกรณีเนื่องจากจนป่านนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบให้ตำรวจส่วนใหญ่และประชาชนเข้าใจและยอมรับได้

ไม่ว่าจะเป็น แก๊งซ่องโจรพลตำรวจเอกคดีบอส เรื่อง  เครื่องบินตำรวจขนเหล้าเถื่อน ปัญหา รถนำผิดกฎหมาย ในพื้นที่ทองหล่อและ สน.มักกะสัน รวมทั้งแก๊ง “ซุกหมายจับ” ผู้ต้องหาสำคัญผู้ถือบัญชีส่วยตำรวจภาค 9 และส่วนกลางอีกมากมายไว้ในมือ!

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการแชร์ข่าว ผู้ว่าการ สตง.หรือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้รับการร้องเรียนจากตำรวจเรื่องพนักงานสอบสวนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ บช.น. คือ บก.น.2

เบิกเงินประจำตำแหน่งโดยไม่ได้ทำงานสอบสวนจริงตามหน้าที่!

ซึ่งน่าจะเป็นกรณีสืบเนื่องมาจากเหตุปรากฏภาพ “หมวดไวกิ้ง” รอง สว.สอบสวน สน.ดอนเมือง ไป คุกเข่าถือโทรศัพท์ให้ ผบ.ตร. ในวันแถลงข่าวการจับกุมตัว โจ้ ถุงดำอำมหิต!

โดยเขาอธิบายผ่านโทรศัพท์ว่าเป็นการใช้ ถุงคลุมหัวผู้ต้องหาเพื่อประชาชน หวังให้บอกที่ซ่อนยาเสพติด ตามยุทธวิธี!

แต่ความที่ไม่มีประสบการณ์เท่ารุ่นพี่! ก็เลยพลาดทำให้ถึงแก่ความตายโดยไม่เจตนา

รวมทั้งไม่ได้มีความมุ่งหมาย อยากได้เงินสองล้านอะไรไปแบ่งกัน ตามที่มี ตำรวจผู้ไม่หวังดี คนใดใส่ความและไปให้ข้อมูลกับทนายความผู้นำคลิปมาเผยแพร่แต่อย่างใด?

จากภาพดังกล่าว ทำให้ประชาชนแม้กระทั่งตำรวจด้วยกันเกิดความสงสัยว่า หมวดไวกิ้งมีตำแหน่งและหน้าที่อะไร  จึงได้ไปคุกเข่าถือโทรศัพท์ให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจเช่นนั้น!

และคงค้นหาข้อมูลต่อไปได้ว่า ตำแหน่งที่แท้จริง ก็คือ รองสารวัตรสอบสวน สน.ดอนเมือง!

แต่ปัญหาก็คือ เธอได้ทำงานตามตำแหน่งนั้น รวมทั้ง “เบิกเงินตำแหน่งสอบสวน” ตามระเบียบที่มีตำรวจด้วยกันชี้เบาะแสหรือไม่?

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยนางวิภัสรา ผลลาภทวี รองผู้ว่าการ ผู้ทำหน้าที่ปฏิบัติราชการแทน จึงได้มี หนังสือที่ ตผ.0019/2584 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564  ถึง ผบก.น.2 ขอเข้าตรวจสอบข้อมูลการเบิกเงินตำแหน่งนี้ของ สน.ดอนเมือง ในหลายประเด็นที่ส่งไปให้ส่งเอกสารให้

เจ้าหน้าที่ สตง.ผู้ได้รับมอบหมายในการตรวจสอบมี รวม 6 คน นำโดยนางสาวญดานาฎ ขออาพัด  นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ เป็นหัวหน้า

เรื่องตำรวจผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนระดับต่างๆ ทั่วประเทศเบิกเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวนทุกเดือนโดยไม่ได้ทำงานจริงนั้น

เป็นปัญหาสำคัญที่ เกิดขึ้นทั่วประเทศ เรื้อรังมานานนับสิบปี โดยไม่มีใครรู้ว่ามีจำนวน “รวมกี่ร้อยหรืออาจนับพันคน”

ปัจจุบันนี้ องค์กรตำรวจมีพนักงานสอบสวนประจำสถานีและหน่วยตำรวจต่างๆ รวม ประมาณ 11,000 คน

อาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 90 เป็นตำรวจกลุ่มที่เรียกกันในวงการว่าเป็น “ข้าวนอกนา!” คือผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสาขาวิชานิติศาสตร์แทบทั้งสิ้น

ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ส่วนใหญ่ไม่ชอบทำงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนนานๆ

เว้นแต่ได้เป็น “หัวหน้าพนักงานสอบสวนสถานีหรือจังหวัดใหญ่ๆ” ก็อยากเป็นมันเรื่อยไป!

ในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานนั้น ถือเป็น งานหนักในทางสมอง และต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายและจริยธรรมอย่างสูงยิ่ง

มิหนำซ้ำ ระบบและโครงสร้างที่เลวทราม ได้ทำให้ ตัวพนักงานสอบสวนเองมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่ไร้การสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชามากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันยานพาหนะ ค่าโทรศัพท์ และแม้กระทั่งกระดาษพิมพ์ รวมทั้งการเดินทางติดต่อประสานงานในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ

เป็นที่มาของการที่รัฐกำหนดให้มีเงินตำแหน่งพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนที่ได้รับหวังช่วยค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง

ซึ่ง รอง สว.สอบสวนได้เพิ่มอีก 12,000  บาท สว.ได้ 14,400  และรอง ผกก.ได้ 17,300  บาท ต่อเดือน

เมื่อรวมเงินเดือนที่ได้รับตามปกติก็ถือว่ามากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตำรวจในต่างหวัดจะสูงกว่าตำรวจอื่นและข้าราชการในอำเภอเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ไม่ได้มีคดีอะไรให้ทำมากมาย

วิธีการเบิกเงินดังกล่าว เป็นไปตาม ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สอบสวนลงวันที่ 29 ก.ค.2559

ตามระเบียบข้อ 8 ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านสอบสวนคนใด ทำงานไม่เต็มเดือนหรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่สอบสวน ไม่มีสิทธิ์ได้รับ

ปัญหาก็คือ มีพนักงานสอบสวนจำนวนมากที่ไม่พร้อมในการทำงานสอบสวน อาจด้วยเหตุไม่มั่นใจในความรู้ทางกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนมา หรือว่าถูกแต่งตั้งไปประจำโรงพักห่างไกล รวมทั้งกลัวถูกร้องเรียนสอบสวนลงโทษทางวินัยทำให้เสียอนาคต เพราะ มีระเบียบและคำสั่งต่างๆ ของตำรวจแห่งชาติที่ต้องปฏิบัติอย่างไร้สาระมากมาย! 

โดยเฉพาะความเบื่อหน่ายในการที่ต้องจำใจปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่ให้รับแจ้งความรับคำร้องทุกข์จากประชาชนง่ายๆ หรือการรายงานเหตุรวมทั้งความคืบหน้าของการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชา “เพื่อทราบ” ทุกระยะ!

แม้คนที่ทำงานสอบสวนอย่างหนักด้วยความสุจริต ก็มีสิทธิ์ถูกผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบหน้าจับผิดลงโทษง่ายๆ ด้วยข้อหาสารพัดมากมาย

รวมทั้งเป็นงานที่ไม่มีรายได้นอกกฎหมายเป็นกอบเป็นกำประจำเดือนเหมือนเพื่อนที่อยู่งานสืบสวนและจราจรในโรงพักใหญ่

นอกจากนั้น พวกเขาก็ไม่เห็นตำรวจคนใดที่อยู่ในสายสอบสวนนานๆ แล้วมีความเจริญก้าวหน้าเหมือนตำรวจที่วิ่งเต้นโยกย้ายกระโดดข้ามสายไปมา!

ส่งผลทำให้ตำรวจที่มีเส้นสายหรืออยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ของรุ่นและสถาบัน นรต. ไม่ต้องการทำหน้าที่พนักงานสอบสวนตลอดไป

บางคนที่จบใหม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสอบสวนไม่กี่เดือน เห็นท่าไม่ดี  ก็ปรึกษารุ่นพี่ให้แนะนำเข้าพบผู้บังคับบัญชา หาลู่ทางหนีงานสอบสวน เข้าเวรประจำสถานี ให้ได้

แต่เงื่อนไขการบรรจุครั้งแรกที่อยู่ดำรงตำแหน่งสอบสวนสี่ปี ทำให้ไม่มีสิทธิ์ขอย้าย

จึงใช้วิธีให้ผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งให้ ไปปฏิบัติงานอื่น ที่ไม่ใช่ การเข้าเวรสอบสวน แทน

เช่น ถ้าเป็นในสถานี ผกก.ก็ใช้วิธีสั่งด้วยวาจาให้ไปนั่งตรวจงานหน้าห้อง ชงน้ำชากาแฟ รวมทั้งระดับ ผบก.และ ผบช.และรองฯ มีอยู่มากมาย

โดยตำรวจผู้ใหญ่ผู้ออกคำสั่งอ้างกันหน้าด้านๆ ว่า ถือเป็นการทำงานสอบสวนเช่นเดียวกัน และยังสามารถเบิกเงินประจำตำแหน่งได้ ไม่ขัดต่อระเบียบอะไร?

ปัจจุบัน จึงทำให้พนักงานสอบสวนประจำสถานีผู้มีหน้าที่เข้าเวรสอบสวน ต้องรับภาระหนักขึ้นจากการที่พนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่งหนีไปนั่งหน้าห้องและเปิด-ปิดประตูรถถือโทรศัพท์ให้เจ้านายโดยได้รับเงินประจำตำแหน่งสอบสวนเต็มทุกเดือน สุดเบื่อหน่าย!

และจะพูดอะไรมากไม่ได้ เพราะคนที่ให้ไป ก็คือเจ้านาย “ผู้สั่งและอนุมัติเบิก”นั่นเอง 

หวังพึ่งแต่ สตง. อยากขอ “ให้ช่วยตรวจสอบและวินิจฉัยยับยั้ง” ก่อนที่ระบบงานสอบสวนกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นของชาติจะ “พังเละเทะ” ยิ่งไปกว่านี้!

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 22 พ.ย. 2564

About The Author