แก๊งตำรวจอำมหิต!ใครรับผิดชอบ?’อัยการ’จะสอบสวนอย่างไรให้ศาลประหารชีวิต

ยุติธรรมวิวัฒน์

แก๊งตำรวจอำมหิต!ใครรับผิดชอบ?“อัยการ” จะสอบสวนอย่างไรให้ศาลประหารชีวิต

                                                                                        พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

กรณี แก๊งตำรวจสืบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์ จับผู้ต้องหาคดียาเสพติดควบคุมตัวไว้ในวันที่ ๔ ส.ค.๖๔ โดยไม่ได้ “ส่งพนักงานสอบสวนท้องที่ ณ ที่ทำการทันที” ตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา ๘๓ บัญญัติเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย รวมทั้งชาวต่างชาติผู้มาพักอาศัยไว้ต่อคดีอาญาทั่วไป เมื่อพนักงานสอบสวนทุกคนได้รับตัวผู้ถูกจับไว้ ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา ๘๔ ดังนี้

(๑) ให้ตำรวจผู้จับแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จับให้ผู้ถูกจับทราบ…..  และ มอบสำเนาบันทึกการจับกุมให้แก่ผู้ถูกจับ นั้น

(๒)  …………………………………………………………..

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่ง แจ้งให้ทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ คือ สิทธิในการพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว ให้ทนายเข้าฟังการสอบปากคำตน และได้รับการเยี่ยมตามสมควร

รวมทั้ง จัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน……………

แต่บทบัญญัติสำคัญที่เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ผู้มาพักอาศัยได้ “ถูกฆ่าตัดตอนไป” ด้วย อำนาจที่น่าสงสัยของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙ มาตรา ๑๕ ที่บัญญัติว่า

“เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา ๑๔ (การจับกุมบุคคลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพ

ติดทุกข้อหา) เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจตามมาตรา ๑๔ (๓) คือ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการ ป.ป.ส.ให้เป็นเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่เรียกกันว่า เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.และตำรวจผู้ได้รับอนุญาตให้มีบัตร ปส.)

มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญาทั่วราชอาณาจักร และที่สำคัญยัง มีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับไว้เพื่อทำการสอบสวนได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน!

ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควร ต้องส่งตัวผู้ถูกจับดังกล่าวไปยังพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา ซ้ำยังมิให้ถือว่าการควบคุมดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๘๗ วรรคสาม ที่กำหนดเวลาไว้ไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง โดยต้องรีบนำตัวไปศาลอีกด้วย!

นี่กลายเป็น “ช่องว่างทางกฎหมาย” ที่ทำให้ตำรวจผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.จับผู้ต้องหายาเสพติดทุกข้อหาไม่ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนทันทีตาม ป.วิ อาญา มาตรา ๘๔

เป็นกรณีที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อหวังให้เจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ได้ซักถามปากคำและขยายผลไปถึงผู้กระทำความผิดรายใหญ่ ใช้มาแต่ปี ๒๕๑๙ 

ซึ่งเป็นการปฏิบัติของ เจ้าพนักงานสำนักงาน ป.ป.ส.ที่เป็นข้าราชการพลเรือน ไม่ใช่ตำรวจผู้มียศและระบบการปกครองบังคับบัญชาแบบทหาร ที่ก่อให้เกิดปัญหาการซ้อมทรมาน รวมทั้งการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกจับแต่อย่างใด

แต่ไม่มีใครทราบว่า เหตุใดในระยะประมาณ ยี่สิบปีที่ผ่านมา บทบาทในการจับผู้ต้องหายาเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส.โดยตรง จึงได้ “ลดบทบาทลง” หรือ “หายไป”

กลายเป็นการมอบหมายและแต่งตั้งให้ “ตำรวจทั่วไทย” เป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส.ทำหน้าที่ในการจับกุมแทนทั้งประเทศ เป็นเหตุให้เกิดการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๔ (๓) และ ๑๕ จับกุมและคุมขังผู้ต้องหาคดียาเสพติดอย่างผิดกฎหมาย ทั้งเป็นข่าวอื้อฉาวและที่ไม่เป็นข่าวก็อีกมากมาย!

ไม่ว่าจะเป็นการนำไปควบคุมไว้ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของรัฐ เช่น โรงแรมม่านรูด หรือรีสอร์ตต่างๆ

บ้างก็ไปเช่า เซฟเฮาส์ หรือที่ประชาชนเรียกกันว่า “บ้านผีสิง” ไว้ในที่ลับตาผู้คนสำหรับควบคุมผู้ต้องหาในเวลา สามวันอำมหิต นั้น

ก่อให้เกิดปัญหา จับมาแล้ว “รีดยา” และ “รีดทรัพย์” ไปพร้อมกัน!

ถือเป็น “สามวันอันตราย” ต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและคนต่างชาติที่มาพักอาศัยอย่างยิ่ง

กรณีของ ผกก.โหด แห่งจังหวัดนครสวรรค์ ที่กระทำการทรมานผู้ต้องหาด้วยการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ และ ถึงแก่ความตายในที่สุด ดังที่ปรากฏตาม คลิปหลุด ที่ตำรวจผู้น้อยแอบบันทึกไว้ และ ส่งให้ทนายความนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ โดยไม่กล้าส่งให้ผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจผู้ใหญ่มีชั้นยศใด!

สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากรู้ก็คือ ผลสุดท้าย ตำรวจแก๊งนี้ จะถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหาอะไร และศาลจะพิพากษาลงโทษให้สาสมกับความผิดและความอำมหิตจะติดคุกมากน้อยเพียงใด?

ข้อหาหลักซึ่งตั้งไว้ในขณะนี้เท่าที่ทราบก็คือ ตามมาตรา ๒๘๘ ประกอบ ๒๘๙ (๕) คือ “ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย”

แม้ผู้ร่วมกระทำผิดทุกคนจะปฏิเสธว่า ไม่ได้มีเจตนาฆ่า และรับสารภาพเรื่องทำร้าย แต่เผอิญถึงแก่ความตาย

แต่ในทางกฎหมายถือว่า เป็นกรณีมีเจตนาฆ่าแบบเล็งเห็นผล แม้ผู้กระทำจะไม่ได้ประสงค์ต่อผลให้ถึงตายก็ตาม เป็นความผิดที่มี “โทษประหารชีวิต” สถานเดียว

แต่ผลการสอบสวนจะทำให้อัยการสามารถฟ้องและพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตได้หรือไม่ ประชาชนต่างไม่มั่นใจ!

เพราะสุดท้ายอาจกลายเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา คือมีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย แต่เผอิญถึงตาย มีโทษ จำคุกไม่เกินสิบห้าปี ก็เป็นได้!

แต่ถ้าได้มีการแจ้งข้อหาว่า “ปล้นทรัพย์” คือ “เงินสองล้าน” ตามที่มีตำรวจผู้น้อยซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลผ่านทนาย ซึ่งไม่มีใครแน่ใจว่า คำพยานเรื่องนี้จะได้มีการสอบใครและบันทึกไว้ให้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนหรือไม่?

หรือต้องการให้บอกที่ซ่อน “ยาเสพติด” ตามปรากฏหลักฐานเป็นเสียงชัดเจนในคลิปถุงคลุมหัวจนขาดใจตาย! ก็ถือได้ว่าเป็นความผิดฐาน “ปล้นทรัพย์” เช่นกัน เนื่องจากยาเสพติดก็เป็นสิ่งของประเภทหนึ่งซึ่งถือเป็นทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๗ และ ๑๓๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็น “สังหาริมทรัพย์” ตามมาตรา ๒ (๑๘) แห่ง ป.วิ อาญา

การกระทำเพื่อเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพื่อให้ได้ทรัพย์นั้นมาเป็นพยานหลักฐานเป็นประโยชน์แก่ตน คือ “ผลงานแห่งคดี” จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการกระทำโดยทุจริตตามมาตรา ๑ (๑) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

มีความผิดเบื้องต้นข้อหา “ลักทรัพย์”

และการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย (ใช้ถุงดำคลุมหัวเพื่อบังคับเอาทรัพย์) ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เข้าข่ายความผิดฐาน “ชิงทรัพย์” ตาม มาตรา ๓๓๙

การชิงทรัพย์ที่ได้ร่วมกันกระทำตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นความผิดฐาน “ปล้นทรัพย์” ตาม มาตรา ๓๔๐

และ การปล้นทรัพย์ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะมีเจตนาหรือไม่

เป็นการกระทำผิดที่มี โทษประหารชีวิตสถานเดียว ตาม มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย

จะเป็นการ “ปิดฉาก” “ไอ้เสือร้ายแห่งปากน้ำโพ!” อย่างสมบูรณ์

ประชาชนไม่ต้องคอย “ลุ้น” กันว่า “ตำรวจแก๊งนี้” แต่ละคนจะติดคุกกันกี่ปีหรือกี่เดือนแล้ว “ออกมาเดินลอยนวล” ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนกันเช่นเดิมต่อไป!.

แก๊งตำรวจอำมหิต
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2564

About The Author