4 ปี คสช. กับความจริงใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของนายกรัฐมนตรี
4 ปี คสช. กับความจริงใจในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของนายกรัฐมนตรี
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุผลหนึ่งในการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ คำสัญญาว่า “จะใช้เวลาอีกไม่นาน” ในการปฏิรูปประเทศทุกๆ ด้านให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งใหม่
ทำให้กว่าสี่ปีที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่ยอมอยู่ในความสงบ ไม่ต่อต้านหรือเคลื่อนไหวให้วุ่นวายอะไร หวังจะได้สังคมใหม่ที่เป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และกฎหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความยุติธรรมทางอาญา” ที่มีปัญหาเลวร้ายในชั้นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งนำไปสู่ข้อจำกัดแม้กระทั่งความผิดพลาดของพนักงานอัยการในการที่ ต้องสั่งฟ้องคดีตามที่ตำรวจเสนอโดยปราศจากพยานหลักฐานชัดเจนกันเป็นส่วนใหญ่
เนื่องจาก “อัยการไทย” ไม่มีโอกาสเห็นหรือทราบว่า ยังมีพยานหลักฐานอื่นใดที่ตำรวจรู้แต่ไม่ได้สอบสวนหรือรวบรวมไว้ พิสูจน์ความจริงให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ต้องหาและผู้เสียหายรวมทั้งรัฐหรือประชาชนต่างไปจากอัยการในประเทศที่เจริญทั่วโลก
แม้การสอบสวนคดีส่วนใหญ่ อัยการจะไม่มั่นใจว่า “สามารถพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้อย่างแน่นอน” ก็ยังต้องสั่งฟ้องไป!
หลังการยึดอำนาจ ได้มีการตรารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 27 กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้น พิจารณาแนวทางปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน โดยในมาตรา 30 บัญญัติให้หัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้มีอำนาจเลือกสมาชิก สปช.จากทุกจังหวัด 250 คน เสนอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และสุดท้ายสมาชิกได้เลือกศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน สำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถูกกำหนดไว้ในด้านที่ 3 มีการตั้งกรรมการและอนุกรรมการถกเถียงโต้แย้งแสดงเหตุผลกันกว่าหนึ่งปี ในที่สุด หลักการสำคัญสองเรื่อง ได้ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมการ
คือ 1.ปรับระบบงานสอบสวนให้เป็นอิสระ และ 2.ให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน
แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านสภา แต่แสดงว่าหลักการสำคัญของกระบวนการยุติธรรมสากลได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องจำเป็น ไม่มีผู้ใดสามารถโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้
ส่งผลให้ต่อมา ความเป็นอิสระของงานสอบสวนได้ถูกกำหนดไว้ในการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แยกเป็นสายงานต่างหากจากตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม หลังจากถูกทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงจาก คำสั่ง คสช.ที่ 7/2559 ให้ยุบสายงานและตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ กระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานอย่างยิ่ง แทบทุกคนพยายามวิ่งหนีงานสอบสวนกันจ้าละหวั่น จนเกิดปรากฏการณ์ “การเกณฑ์” ตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรมไป “จับสลาก” กันทำหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีความพร้อมและไม่เต็มใจ
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจดังกล่าว ยังได้กำหนดให้หัวหน้าสถานีไม่มีฐานะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนอีกต่อไป ให้เป็นอำนาจของ “หัวหน้างานสอบสวน” ลงชื่อในสำนวนเสนอความเห็นส่งให้อัยการพิจารณาสั่งคดีเอง
รวมทั้งให้งานพิสูจน์หลักฐาน การแพทย์พยาบาล การเรียนการสอนและการศึกษา เป็นข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศแบบทหาร
การแต่งตั้งโยกย้ายมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น เริ่มจากแบ่งสถานีตำรวจเป็นสามระดับ มีภาคประชาชนร่วมประเมินผล คนเลื่อนตำแหน่งครั้งแรกต้องอยู่สถานีชั้นสามก่อนสองปี จึงมีโอกาสเลื่อนไปชั้นสองและชั้นหนึ่งตามลำดับ ลดโอกาสการวิ่งเต้นโยกย้ายและปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่อย่างย่อยยับมานับสิบปี
งานตำรวจและการสอบสวนคดีเฉพาะทาง คือตำรวจป่าไม้ ตำรวจจราจร และตำรวจรถไฟ ให้โอนไปให้หน่วยงานและกระทรวงที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้ง อีก 8 หน่วย ตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจดังกล่าว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณา ได้เสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2561 แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมายแต่อย่างใด?
และไม่เคยมีใครได้ยินนายกรัฐมนตรีพูดเลยว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่เป็นเรื่องจัดระบบงานภายในองค์กรที่ค้างคายังไม่ได้ส่งสภาพิจารณานี้ จะมีวิธีบัญญัติให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในการปฏิรูปตำรวจเมื่อใด?
แต่ในวันที่ 25 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา ได้มีการนำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ในส่วนที่ว่าด้วยการสอบสวนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและเห็นชอบส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในทางธุรการ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
ที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มมาตรา 13/1 การจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับบันทึกภาพและเสียงให้สามารถนำออกถ่ายทอดได้ไว้อย่างต่อเนื่อง
มาตรา 136 ในการถามคำให้การหรือสอบปากคำผู้ต้องหาคดีที่มีอัตราจำคุกเกินห้าปีขึ้นไป ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงที่สามารถนำออกถ่ายทอดได้ไว้อย่างต่อเนื่อง
มาตรา 121/1 ให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนและสั่งการในคดีสำคัญ
มาตรา 121/2 คดีที่ ผู้เกี่ยวข้องร้องขอหรือร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งคดีที่ประชาชนแจ้งความหรือกล่าวโทษกับตำรวจแล้วไม่ยอมสอบสวนหรือมีปัญหา ให้สามารถแจ้งอัยการสอบสวนแทนได้
ร่างกฎหมายเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ฉบับนี้ ถือว่ามีนัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบงานสอบสวนคดีอาญาครั้งสำคัญเพื่อลดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมของประชาชนโดยเฉพาะ ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่ก้าวหน้าไปถึงมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลกก็ตาม
เช่น เมื่อเกิดเหตุสำคัญเช่นคดีฆ่าคนตาย ต้องรายงานให้อัยการและฝ่ายปกครองทราบ และสามารถร่วมตรวจที่เกิดเหตุเห็นพยานหลักฐานพร้อมกับตำรวจและเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน
ป้องกันมิให้วัตถุพยานหรือพยานบุคคลอยู่ในความรับรู้หรือการควบคุมของหน่วยงานใดเพียงฝ่ายเดียว เปิดโอกาสให้สามารถบิดเบือนหรือทำลายหลักฐานได้ ไม่ว่าจะทำด้วยตัวเองหรือตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ตำรวจไทย ที่ยังคงระบบการปกครองแบบมีชั้นยศและวินัยแบบทหารไว้
รวมทั้งการสอบปากคำทั้งผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และประจักษ์พยานในทุกกรณี ต้องกำหนดให้ทำในห้องสอบสวนที่มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็น แก้ปัญหาการถามและบันทึกปากคำที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของคำพูด ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยความสุจริต แต่เกิดความคลาดเคลื่อน หรือมีการทุจริตสามารถฉีกทิ้ง พิมพ์คำให้การใหม่ให้ “กลมกลืน” หรือ “กลมกล่อม” ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมตลอดมา
ที่สำคัญคือต้องกำหนดว่า
“เจ้าพนักงานกระทรวงทบวงกรมที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นส่งอัยการฟ้องศาลด้วย โดยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะดำเนินการสอบสวนไปตามปกติ”
เป็นการเริ่มต้นนำการสอบสวนความผิดเฉพาะทางออกจากระบบชั้นยศและวินัยแบบทหาร ทำให้พนักงานสอบสวนในระบบพลเรือนมีอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานด้วยความสุจริตและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ภายใต้การตรวจสอบของอัยการเมื่อมีการร้องเรียน
ทำลายการผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้ที่ตำรวจแห่งชาติแต่เพียงหน่วยเดียวเช่นปัจจุบัน
นอกจากนั้น “การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ให้เสนอพนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานและให้ความเห็นชอบ โดยอัยการต้องมั่นใจว่า
“เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวประชาชนคนใดมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดของจำเลยให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนตามหลักกระบวนการยุติธรรมสากลเท่านั้น”
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, January 07, 2019