ตำรวจปีนรั้วเข้าบ้านคน’ไม่แสดงตนและหมายค้น’ประชาชนใช้อาวุธป้องกันตัวและทรัพย์สินได้

ยุติธรรมวิวัฒน์

ตำรวจปีนรั้วเข้าบ้านคน “ไม่แสดงตนและหมายค้น”ประชาชนใช้อาวุธป้องกันตัวและทรัพย์สินได้

 

                                                                                   พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

เมื่อวันที่19 พ.ค. ที่ผ่านมาเวลา 17.00 น. ได้มีเหตุการณ์ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนขวัญประชาชนขึ้นก็คือ กรณีที่มี ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบ กว่าสิบคน บุกตรวจค้นบ้านนักธุรกิจต่างชาติคนหนึ่งในจังหวัดชลบุรี

โดยใช้ ยุทธวิธีแบบตำรวจไทยสมัยโบราณ คือ ปีนรั้วบ้านแล้วกระโดดข้ามกรูกันเข้าไป!

นายจาง หยาง ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ผู้เป็นเจ้าบ้านซึ่งกำลังเดินโทรศัพท์มือถืออยู่ริมสระว่ายน้ำ  ทันทีที่เห็น ก็เกิดอาการตกใจสุดขีด!

เพราะไม่รู้ว่าชายหลายคนที่วิ่งรี่ปรี่เข้ามาหาตนเหล่านี้คือใคร? และเข้ามาในบ้านได้อย่างไร?

จึงได้รีบ วิ่งหนีสุดชีวิต ขึ้นไปซ่อนตัวในห้องชั้นบนและล็อกประตูเอาไว้

แต่ชายกลุ่มนั้นก็ยังวิ่งตามขึ้นไป และพยายามจะเปิดประตูห้องให้ได้

นายหยางจึงได้ใช้ปืนพกยิงผ่านบานประตูสวนออกมาหลายนัด!

ทำให้ชายสองคนได้รับบาดเจ็บสาหัส และปรากฏในเวลาต่อมาว่าเป็น ตำรวจฝ่ายสืบสวนจังหวัดชลบุรี!

ตำรวจปีนรั้วเข้าบ้านคน
ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

ต่อมาได้มีการเรียกกำลังตำรวจในเครื่องแบบทั้งสถานี บก. และ บช.จำนวนมากมาเสริมเพื่อจับกุมตัว นายหยาง

จับตัวได้โดยละม่อม ถูกตั้งข้อหาว่า พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

ปัญหาคือ การตั้งข้อหาเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นธรรมตามกฎหมายต่อนายหยางหรือไม่?

ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องนายหยางเป็นเจ้าพ่อมาเฟียหรือมีการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายอะไรอย่างที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนให้ข่าวต่อสื่อมวลชนแต่อย่างใด?

หัวใจของปัญหาก็คือ ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบ ใช้อำนาจอะไรในการ ปีนรั้วเข้าบ้านคน โดยไม่แสดงหมายค้นและตัวตนอีกทั้งตำแหน่งหน้าที่ให้เจ้าบ้านได้มีสิทธิตรวจสอบ

รวมทั้งให้เป็นผู้เดินนำค้นเป็นพยานตามกฎหมาย

ใครที่ตะแบงพูดว่า การตรวจค้นครั้งนี้ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประการ ตั้งแต่ได้มีการแสดงหมายให้เจ้าบ้านตรวจสอบจนแน่ใจว่าเป็นหมายที่ศาลออกให้อย่างถูกต้อง

มีจุดประสงค์ค้นหาอะไร ใช้เจ้าพนักงานจำนวนเท่าใด รวมทั้งให้ทุกคนแสดงความบริสุทธิ์ก่อนเดินเข้าบ้าน

 การปฏิบัติได้กระทำตามขั้นตอนเช่นนั้นเหมือนกรณีที่ รอง ผบ.ตร.คนหนึ่งถือหมายศาลนำตำรวจชั้นนายพลหลายคนไปตรวจค้นบ้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีอาญาสำคัญไปในวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยได้กระทำกันอย่าง “ถ้อยทีถ้อยอาศัยละเมียดละไม” จริงหรือไม่?

ตำรวจปีนรั้วเข้าบ้านคน
(รอง ผบ.ตร.นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพัก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในซอยโยธินพัฒนา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2560)

ขอบคุณภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

กรณีนี้นับว่ายังดีที่ภายในบ้านของนายหยางได้มีการติดกล้องวงจรปิดไว้หลายจุด

ทำให้ผู้คนทั้งโลกโดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลายร้อยหรือ “อาจนับพันล้านคน” ได้เห็นภาพเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานของตำรวจไทยในการกระโดดปีนรั้วเข้าตรวจค้นบ้านเรือนประชาชน อย่างป่าเถื่อน!

โดยบรรยายใต้ภาพแต่เริ่มแรกว่า คนร้ายจำนวน 11 คน ปีนเข้าบ้านนายจาง หยาง คนจีนผู้มาพักอาศัยและทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย

ภาพเดินต่อไปจนกระทั่งถึงช่วงที่นายหยางได้ยิงปืนผ่านบานประตูห้องออกมาโดนคนร้ายคนหนึ่งเข้าที่ท้องได้รับบาดเจ็บสาหัสล้มลงเห็นชัดๆ

เรื่องนี้ฝ่ายตำรวจผู้ที่รับผิดชอบยังได้มีความพยายามในการแต่ง นิยายสอบสวน และให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่าตำรวจได้แสดงหมายค้นต่อเจ้าบ้านอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว

แต่ปัจจุบัน หนึ่งคลิป พิสูจน์ความจริงได้ดีกว่า สิบหรือแม้แต่ร้อยสำนวนของตำรวจ!         

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า  “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำ พอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

และ มาตรา 69 “……..ถ้าผู้กระทำได้กระทำ เกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะ ลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ และถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความ ตื่นเต้น ความตกใจ หรือความกลัวศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้

ประเด็นของเรื่องนี้ อยู่ที่นายจาง หยาง ใช้อาวุธปืนยิงชายสองคนที่บุกเข้าไปในบ้านผ่านบานประตูห้องออกมาและไม่รู้ว่าจะโดนใครที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อชีวิตตนเองบ้าง 

ถือว่าเป็นการป้องกันตัว “สมควรแก่เหตุ” ตามกฎหมายหรือไม่?

ถ้าใช่ นายหยางก็ย่อมไม่มีความผิดฐาน “พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน” ตามที่ผู้รับผิดชอบได้มีการสอบสวนแจ้งข้อหาไว้แต่อย่างใด

เรื่องนี้เป็นอีกบทหนึ่งในการพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นสอบสวนของไทยว่ายัง “ป่าเถื่อน”

หรือ “มีมาตรฐานสากลสามารถเป็นที่เชื่อถือของประชาชนและนานาชาติ” ได้มากน้อยเพียงใด?.  

ตำรวจปีนรั้วเข้าบ้านคน
 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 31 พ.ค. 2564

About The Author