แก้ป.วิอาญา ปฏิรูปงานสอบสวนคดีอาญาเริ่มคืบหน้า

ปฏิรูปตำรวจเริ่มคืบหน้า แก้ ป.วิ อาญา ให้อัยการร่วมสอบสวนสั่งคดีสำคัญหรือเมื่อผู้เกี่ยวข้องร้องขอ การจับ การค้น และการสอบปากคำผู้ต้องหาให้บันทึกภาพเสียงไว้ ร้องทุกข์ตำรวจไม่ได้ ให้แจ้งอัยการสอบสวนแทน

 

กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ที่24ธ.ค.2561 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่คณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ชุดที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 25ธ.ค.2561 ได้ หมายความว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนทั้งสองฉบับ คงไม่ทันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) ชุดนี้ให้บัญญัติเป็นกฎหมายได้ สร้างความผิดหวังให้กับประชาชนอย่างยิ่งนั้น

แต่ภายหลังการประชุมครม. กลับปรากฏว่า ได้มีการนำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับการสอบสวนเข้าสู่การพิจารณาของครม.และผ่านความเห็นชอบไปในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่มีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีเสนอขึ้นมา

ที่สำคัญที่สุดคือเพิ่มมาตรา 13/1 ในการจับหรือค้น ให้เจ้าพนักงานผู้จับบันทึกภาพและเสียงให้สามารถนำออกถ่ายทอดได้ไว้อย่างต่อเนื่อง

มาตรา 136 ในการถามคำให้การหรือสอบปากคำผู้ต้องหาคดีที่มีอัตราจำคุกเกินห้าปีขึ้นไป ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงที่สามารถนำออกถ่ายทอดได้ไว้อย่างต่อเนื่อง

มาตรา 121/1 กำหนดให้พนักงานอัยการมีบทบาทในการสอบสวนมากขึ้น ทั้งให้ร่วมสอบสวนและสั่งการในคดีสำคัญ

และ 121/2 รวมทั้งคดีที่ผู้เกี่ยวข้องร้องขอหรือร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือหากประชาชนแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษกับตำรวจแล้วไม่ยอมสอบสวนหรือมีปัญหา ให้สามารถแจ้งอัยการสอบสวนแทนได้

นอกจากนี้ยังมี มาตรา 123 กำหนดให้สามารถร้องทุกข์นอกเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือท้องที่ใดก็ได้

มาตรา 124/2 ร้องทุกข์ทางไปรษณีย์หรืออีเล็กทรอนิกส์ได้

มาตรา 13/2 ห้ามนำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือจัดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ฉบับนี้ ถือว่ามีนัยสำคัญต่อการปฏิรูประบบงานสอบสวนคดีอาญาเพื่อลดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนโดยเฉพาะในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหาได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่ก้าวหน้าไปสู่มาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลกก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นการรายงานเหตุสำคัญให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองทราบเพื่อร่วมตรวจสถานีที่เกิดเหตุและเห็นพยานหลักฐานหลังเกิดเหตุร่วมกัน ป้องกันมิให้พยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นวัตถุพยานหรือพยานบุคคลอยู่ในมือหรือการรับรู้ของตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียวตามลำพัง เป็นการเปิดช่องโอกาสให้มีการบิดเบือนหรือทำลายพยานหลักฐานได้ไม่ว่าจะเป็นกระทำด้วยตัวเองหรือทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตำรวจที่มีระบบการปกครองและชั้นยศและวินัยแบบทหาร

รวมทั้งการสอบปากคำบุคคลไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายผู้ร้องทุกข์ หรือผู้กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา รวมทั้งพยานทุกคน ก็ต้องกำหนดให้กระทำในการสอบสวนที่จัดเฉพาะมีระบบบันทึกภาพและเสียงเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี แก้ปัญหาการถามและบันทึกปากคำบุคคลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของให้การไม่ว่าจะเป็นด้วยความสุจริต แต่เกิดความคลาดเคลื่อน หรือกระทำโดยไม่สุจริตซึ่งผลกระทบเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงตลอดมา

รวมทั้งส่วนสำคัญที่ขาดไปและยังต้องเพิ่มเติมก็คือ “เจ้าพนักงานกระทรวงทบวงกรมที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นส่งอัยการฟ้องศาลด้วย โดยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะดำเนินการสอบสวนไปตามปกติ”

รวมทั้ง “การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ให้เสนอพนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานและให้ความเห็นชอบ โดยมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาหรือจับตัวมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น ”

หลังจากร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของสนช.แล้ว ต้องจับตาว่าจะมีการปรับแก้ให้ก้าวหน้าหรือถอยหลังหรือไม่ อย่างไร?

ดาวน์โหลดเอกสาร

About The Author