ตำรวจตั้งด่านขวางทางหลวง  ผิดกฎหมาย อันตราย ไร้คนรับผิดชอบ!

                                                ตำรวจตั้งด่านขวางทางหลวง  ผิดกฎหมาย อันตราย ไร้คนรับผิดชอบ!

                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

 

การปฏิรูปตำรวจที่กำลังดำเนินไปในชั้นพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ซึ่ง ไม่ปรากฏชัดว่า “รัฐบาล” โดย “หน่วยงานใด” เป็นผู้จัดทำขึ้น?

ชอบด้วยกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 260 บัญญัติไว้ ไม่ต้องการให้ ตำรวจหรืออดีตตำรวจคนใด ทำหน้าที่เป็นประธาน หรือแม้กระทั่งมีบทบาทในการปฏิรูป หรือไม่?

เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน

คำพูดหรือความเห็นของตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าคนใดในคณะกรรมการชุดใดในแต่ละเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูป จึงเชื่อถือและหาสาระอะไรไม่ได้!

เนื่องจากนายพลตำรวจส่วนใหญ่ต้องการให้ระบบงานตำรวจและการสอบสวนคดีอาญาของชาติอยู่ในสภาพนี้ต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้!

แต่ละคนจึงแสดงความคิดเห็นหรือพูดโน่นพูดนี่ให้มั่วๆ ให้ผู้คนงงๆ เข้าไว้เพื่อไม่ให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงสำคัญ

แค่การให้ยกเลิก ตำรวจรับใช้ ประจำตัวและครอบครัวนักการเมือง รวมทั้งพวกตำรวจผู้ใหญ่ ไปจนตาย  โดยข้าราชการตำแหน่งใดมีความจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัย ก็ให้ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีรองรับไว้

ไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมที่ตำรวจเกษียณไม่ได้ปฏิบัติราชการทำงานการอะไร จะนำตำรวจซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมายของรัฐไปรับใช้ตัวเองยันลูกเมียกันเช่นทุกวันนี้!

ซึ่งไม่มีหน่วยงานราชการแม้กระทั่งทหารกองทัพใดเอาเปรียบสังคม ถึงขนาดออกระเบียบที่วิปริต และ ไร้ยางอาย ให้ทำได้แต่อย่างใด!

โดยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ “ฉบับลักไก่” ของพวก ปฏิลวง ก็ยังคงให้มี ตำรวจรับใช้ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล แม้กระทั่งคนที่เกษียณไปแล้วใน ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป เหมือนเดิม

กรรมาธิการวิสามัญโดยเฉพาะผู้เป็น ส.ส.ที่รักความยุติธรรมทุกคน จึงต้องไม่ให้ความสนใจคำพูดของตำรวจผู้ใหญ่คนใดในคณะกรรมาธิการให้เสียสมองและเสียเวลาการปฏิรูปที่แท้จริงแต่อย่างใด

ควรแปรญัตติโดย นำทุกประเด็นในร่างฉบับมีชัยที่หายไปมาใส่ไว้ทั้งหมด รวมทั้งอาจเพิ่มเติมในส่วนที่เห็นว่าจำเป็นอีกหลายเรื่อง

ตั้งแต่การยกเลิกตำรวจรับใช้ การให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปมีสิทธิเลือก ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ แทนการแก้ไขให้เป็นระดับ รอง ผกก.ขึ้นไป

การให้มีตำแหน่งระดับต่างๆ และระบบการปกครองแบบอัยการในสายงานสอบสวน และมีอิสระในการทำสำนวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งพนักงานอัยการโดยไม่ต้องผ่านหัวหน้าสถานี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายเพียงพอ ก่อให้เกิดปัญหามากมาย สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงในปัจจุบัน!

การจัดชั้นสถานีตำรวจที่มี ผกก.เป็นหัวหน้าเพื่อใช้ เป็นเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่งครั้งแรก ต้อง 3 ระดับ เช่นเดียวกับชั้นอำเภอของฝ่ายปกครองตามความเจริญของแต่ละสังคม แทนการมั่ว ถูกปรับให้เหลือแค่ 2 ระดับ

โดยมีเจตนาแท้จริงเพื่อรองรับ “ความเจริญก้าวหน้า” ของกลุ่มตำรวจที่มีเงินและเส้นสายอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ รวมทั้งลูกหลานตำรวจผู้ใหญ่จะได้ใช้เวลาในการครองตำแหน่งสั้นลง

การกำหนดให้ตำรวจฝ่ายอำนวยการ งานการศึกษา แพทย์ พยาบาล และงานนิติวิทยาศาสตร์พิสูจน์หลักฐาน “หัวใจของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ไม่มีชั้นยศและระบบวินัยแบบทหาร ที่ออกแบบ เพื่อการรบและทำสงคราม จัดกำลังและสั่งการเป็นหมวดหมู่ กองร้อย กองพัน กองพล และกองทัพ

องค์ประกอบ ก.ตร. ก็ควรตัด รอง ผบ.ตร.ทุกคนออกไป ให้เป็นได้เฉพาะ ผบ.ตร.ตำแหน่งเดียว

เนื่องจาก ก.ตร.ใหม่ ต้องทำหน้าที่กำหนดนโยบายและตรวจสอบการบริหารงานตำรวจออกระเบียบที่จำเป็นต่างๆ ในการตรวจสอบประเมินผลและปฏิรูปแทนคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติหรือ กต.ช.ที่ถูกยุบเลิกไปด้วย

ช่วงนี้ตำรวจแห่งชาติบอกว่ามี ข่าวที่น่ายินดี สำหรับประชาชนว่า การ ตั้งด่านตรวจค้นยานพาหนะ บนถนนและทางหลวงต่างๆ จะกลับมาดำเนินการเช่นเดิมต่อไป!

หลังจากที่ได้ระงับไปประมาณสี่ห้าเดือน เนื่องจาก  ผบ.ตร.คนใหม่ ไม่แน่ใจว่าแต่ละด่านที่ดำเนินการกันมาหลายปี มีมาตรฐานการปฏิบัติและหลักประกันเรื่องการไม่ทุจริตโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้มากน้อยเพียงใด?

อุปกรณ์สำคัญ ที่บอกว่าได้นำมาใช้ก็คือ กล้องวงจรปิดทั้งที่ติดตั้งประจำจุดรวมทั้งที่ติดตัวตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่แต่ละคน

การตรวจค้นประชาชนจะไม่กระทำมั่วๆ แต่ละวันตรวจกี่คน ค้นพบอะไร ได้จับกุมส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีหรือไม่ จะถูกบันทึกไว้ทุกขั้นตอน ไม่ทำแบบแอบๆ ซ่อนๆ เช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป

ขอเรียนว่า ปัญหาสำคัญในเรื่องการตั้งด่านก็คือ การละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชน โดยไม่มีกฎหมายรองรับอะไร หาใช่เรื่องวิธีการตั้งว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับ ผบก. ผบช. หรือแม้กระทั่ง ผบ.ตร.แล้ว จะเป็นการตั้งด่านที่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด?

ถนนและทางหลวงทุกสายในประเทศไทยได้ถูกสร้างขึ้นก็เพื่อที่จะให้ประชาชนใช้สัญจร ด้วยความสะดวกรวมเร็วและปลอดภัยเป็นสำคัญ

ไม่ได้เพื่อให้ข้าราชการหน่วยใดใช้กันเพื่อรายได้  ไม่ว่าจะเป็นรางวัลค่าปรับจราจร การเรียกให้หยุดรถขอตรวจค้นโดยไม่มีเหตุผล การรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมาย

การขอทดสอบความเมา หรือขอตรวจปัสสาวะประชาชนโดย “ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเสพสารเสพติด” หรือดื่มสุราจน “มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา” ตามกฎหมาย

โดยได้มีการกำหนดโทษอาญาสำหรับผู้ที่ กระทำด้วยประการใดๆ ให้เกิดอุปสรรคหรือความไม่สะดวกต่อการใช้ทาง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน คืออธิบดีกรมทางหลวงหรือผู้รับมอบอำนาจไว้

ปรากฏข้อห้ามอยู่ใน มาตรา 38 ของ พ.ร.บ.ทางหลวงแผ่นดิน พ.ศ.2535

ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 72 มีโทษ จำคุกถึงสามปี

อธิบดีกรมทางหลวง คือผู้มีหน้าที่ตรวจตราดูแลไม่ให้บุคคลใดนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางบนทางหลวงเกิดความไม่สะดวกต่อการใช้ทางของประชาชน

ในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำ เช่น ถนนเกิดการชำรุดหรือจำเป็นเพื่อการก่อสร้าง ก็ต้องได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราวตามระบบราชการอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีวิศวกรผู้รับผิดชอบไปตรวจสำรวจออกแบบกำหนดชนิดสิ่งกีดขวางและควบคุมให้ตั้งวางเท่าที่จำเป็นและไม่เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนเท่านั้น

ใครที่คิดว่า ตำรวจมีอำนาจตั้งด่านนำสิ่งกีดขวางต่างๆ มาวางขวางถนนได้เมื่อได้รับอนุญาตจากตำรวจผู้ใหญ่ระดับ ผบก. ผบช. หรือ ผบ.ตร. ตามที่ออกคำสั่งให้ตั้งด่าน กำชับการปฏิบัติกันอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว

ก็ลองตอบคำถามง่ายๆ ดูว่า ถ้าตำรวจคนที่เอากรวยหรือแผงเหล็กไปตั้งวางบนถนนบีบช่องทางเดินรถจากสี่ช่องหรือเพียงสองหรือหนึ่งช่อง ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนเพื่อให้เกิดความสะดวกในการเรียกให้คนขับหยุดรถและขอตรวจค้นหาสิ่งผิดกฎหมาย ตรวจความเมา เพื่อทำยอดให้เข้าเป้า หรือแม้กระทั่งอ้างว่าตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด

หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นผู้ขับรถชนสิ่งกีดขวางนั้นเนื่องจากไม่ทันสังเกต หรือรถชนท้ายกันเนื่องจากรถคันหน้าได้หยุดกะทันทัน

ยิ่งถ้าอุบัติเหตุนั้นร้ายแรงถึงขนาดมีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ใครคือผู้ต้องรับผิดชอบทางอาญาข้อหาประมาท เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายตามกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 300

รวมทั้งชดใช้ความเสียหายฐานละเมิดตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 420 กันแน่ ระหว่าง

“ผู้ขับรถ” กับ “ตำรวจผู้น้อย” ที่ถูกสั่งให้นำสิ่งกีดขวางมาวางบนถนนอย่างผิดกฎหมาย! 

หรือตำรวจผู้ใหญ่ ระดับ ผบก. ผบช. หรือแม้กระทั่ง ผบ.ตร. ที่ “สั่ง” หรือกำหนดนโยบายให้ “ตั้งด่าน” ตรวจค้นประชาชนในแต่ละวันกันอย่างนั้นอย่างนี้?.      

ตำรวจตั้งด่าน
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 5 เม.ย. 2564

About The Author