สปยธ.ยื่นกมธ.ฯขอให้แก้ไขพ.ร.บ.กฎอัยการศึก ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพปชช.
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ยื่นหนังสือถึงนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเกินความจำเป็นตามสถานการณ์
โดยเนื้อหาหนังสือ ระบุว่า เนื่องจากสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ได้พิจารณาเห็นว่า พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซึ่งใช้บังคับอยู่ปัจจุบัน มีบทบทบัญญัติหลายเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ซึ่งตามมาตรา 2 บัญญัติให้รัฐมีอำนาจประกาศโดยพระบรมราชโองการใช้บังคับกับประชาชนเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือป้องกันภัยทั้งจากภายในและภายนอกราชอาณาจักร รวมทั้งให้ผู้บังคับหน่วยทหารในป้อมและค่ายต่างๆ มีอำนาจประกาศใช้ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเมื่อเกิด “สงคราม” หรือ “การจลาจล” ขึ้นตามมาตรา 5 นั้น
ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีผู้บังคับหน่วยทหารบางหน่วยได้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การจลาจล” ขึ้นในบางจังหวัดหรืออำเภอ และใช้อำนาจฝ่ายทหารเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยแทนหน่วยงานพลเรือนปกติจนเหตุจลาจลดังกล่าวได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลับไม่ได้มีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว เนื่องจากตามมาตรา 5 บัญญัติให้กระทำโดยพระบรมราชโองการเท่านั้น
บทบัญญัติดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดปัญหาผู้บังคับหน่วยทหารที่ประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวไม่สามารถยกเลิกประกาศของตนเองที่หมดความจำเป็นตามสถานการณ์นั้นได้เอง ส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ประกาศได้รับความเดือดร้อน ถูกละเมิดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างไม่เป็นธรรม ไม่สิ้นสุด รวมทั้งกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติของชาติอย่างร้ายแรง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันก็ได้มี พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลประกาศใช้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ได้อยู่แล้ว
จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดแก้ไขปัญหาดังกล่าวและที่เกี่ยวข้องด้วยการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกละเมิดโดยปราศจากเหตุผลและความจำเป็นอย่างแท้จริงดังนี้
มาตรา 5/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
“ให้ผู้บังคับหน่วยทหารที่ประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่รับผิดชอบออกประกาศยกเลิกทันทีที่สถานการณ์สงครามหรือเหตุจลาจลสิ้นสุดลงและรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ”
มาตรา 18(เพิ่ม) แม้จะได้มีการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ใดแล้วก็ตาม ประชาชนทุกคนยังคงมีสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น”
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ โดยในชั้นต้น ขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา มาชี้แจงปัญหาการประกาศใช้และข้อขัดข้องในการประกาศยกเลิกในพื้นที่ที่หมดความจำเป็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าว
ผลเป็นประการใด ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยเพื่อจะได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทราบต่อไป