ปัญหาประชาชน’ติดคุกล่วงหน้า’ก่อนศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด!-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ยุติธรรมวิวัฒน์

                            ปัญหาประชาชน “ติดคุกล่วงหน้า”    ก่อนศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำผิด!

 

                                                                                         พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

 

            เป็นที่ทราบกันดีว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของไทย ในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและนำมาซึ่งความขัดแย้งต่างๆ ในหมู่ผู้คนขึ้นมากมาย

ประชาชนจำนวนมากไม่เชื่อถือเชื่อมั่น ทั้งกระบวนการและองค์กรที่รับผิดชอบ!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอน การสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานของ ตำรวจไทยที่มียศ ระบบการปกครองบังคับบัญชาและวินัยแบบทหาร!

ส่งผลกระทบไปถึง การสั่งคดี “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” ของอัยการ เนื่องจากต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ ตำรวจบันทึกรวบรวมไว้เพียงฝ่ายเดียว!

พนักงานอัยการหญิงชายแต่ละคนนั่งอ่านนอนอ่าน สำนวนการสอบสวน กันอยู่หลายวัน หลายคดีก็ยังชี้ไม่ได้ว่า “อะไรจริง สิ่งใดเท็จ” แต่ก็จำเป็นต้อง “สั่งฟ้อง” ตามหน้าที่ให้พ้นจากความรับผิดชอบไป

หรือแม้กระทั่ง คำสั่ง และ คำพิพากษา ของศาล  ปัจจุบันนี้ก็ได้มีคำถามจากหลายฝ่ายเกิดขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน!

สำหรับคนยากจนและผู้คนที่ไร้เส้นสายหรือไม่มีอำนาจ ก็ แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยเฉพาะผู้ที่มีอิทธิพลหรือคนร่ำรวยกันแสนยากเย็น!

เช่นกรณีดาราสาว น้องหมิว สิริลภัส ถูก คนร้ายในคราบตำรวจขับรถราชการ ติดตามในเวลากลางคืน และพยายามเข้าถ่ายภาพในห้องน้ำหญิง ณ ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งย่านพหลโยธิน

ประชาชนติดคุกล่วงหน้า
ขอบคุณภาพจาก Amrin TV

เธอเดินขึ้นไปแจ้งความที่ สน.พหลโยธิน รอจน เวลาผ่านมาเกือบยี่สิบวัน แต่คดีไม่มีความคืบหน้าอะไร?

พนักงานสอบสวนทำให้แค่ ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานไว้ เท่านั้น

ไม่ได้ ออกเลขคดี เพื่อที่จะได้มีการบันทึกเข้าสารบบตามกฎหมายนำไปสู่การสอบสวนสรุปพยานหลักฐานส่งให้อัยการตรวจสอบและสั่งคดีแต่อย่างใด?

ในที่สุด น้องหมิว ต้องตัดสินใจนำเรื่องราวไปโพสต์ในโลกออนไลน์ เหมือนประชาชนอีกหลายๆ คน

ส่งผลทำให้ ตำรวจสืบรู้ตัวคนร้ายซึ่งเป็นตำรวจสังกัด บช.น.ด้วยกัน ได้ในวันรุ่งขึ้นทันที!

แต่จะกระทั่งป่านนี้ ก็ ยังไม่มีใครบอกว่าชื่ออะไร มีตำแหน่งหน้าที่ใด

ได้นำรถราชการไปครอบครองและใช้ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่?

และที่ตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบบอกว่า จะได้มีการดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยต่อไปนั้น ก็ต้องติดตามกันต่อไปในที่สุดว่า จริงหรือไม่

กลับกันในอีกด้านหนึ่ง เมื่อคนยากจนหรือผู้คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา ตำรวจกลับ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา กันแสนง่าย!

แค่มีใครที่อ้างว่าเป็นผู้รักชาติเดินขึ้นไปบนสถานีแจ้งความกล่าวหาไม่ว่ามาตราใด พนักงานสอบสวนก็ อ้างว่าต้องออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาให้มาพบ บังคับให้พิมพ์มือตรวจประวัติอาชญากรรมทันที

ยิ่งถ้าเป็นความผิดที่มี โทษจำคุกสามปี ขึ้นไป เช่น.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โพสต์โน่นนี่อ้างว่าเป็นเท็จ กดแชร์หรือแม้กระทั่งกด ไลค์

ตำรวจไม่ต้องออกหมายเรียกเลยก็ได้ สามารถไปเสนอศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ทันที!

อ้างว่าเป็นไปตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 66 (1) บัญญัติไว้  คือ

“เมื่อมี หลักฐานตามสมควร ว่าบุคคลใด น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก อย่างสูงเกินสามปี

หรือแม้จะมีอัตราโทษต่ำกว่านั้น พงส.ก็ยังสามารถไปขอให้ศาลออกหมายจับได้ โดย รายงานมั่ว ในคำร้องว่า  “ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น”

ถ้อยคำตาม ป.วิ อาญา มาตรา 66 ที่บัญญัติไว้อย่างกว้างๆ เช่นนี้ เป็นเหตุให้ตำรวจไทยมีอำนาจเสนอศาลให้ ออกหมายจับ ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นคนยากจนหรือไร้อำนาจกันแสนง่าย

ไม่ว่าคดีจะมี “พยานหลักฐานชัดเจน” หรือไม่ว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาที่อัยการจะสามารถสั่งฟ้องให้ศาลพิพากษาลงโทษหรือไม่ก็ตาม!

ซึ่งคำร้องขอออกหมายจับของตำรวจส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 90 ศาลออกให้ทั้งนั้น

เพราะศาลถือกันว่า การออกหมายจับไม่ได้เป็นการรับรองอะไรว่าผู้ต้องหานั้นได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงแต่อย่างใด

กรณีเป็นเพียงมีเหตุตามกฎหมายที่จะออกหมายจับตัวมาสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาส่งให้อัยการสั่งคดีเท่านั้น

แต่เมื่อตำรวจได้หมายศาลและตามจับตัวใครในคดีสำคัญๆ ได้แล้ว ก็มักตามมาด้วยการ ไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือ คัดค้านต่อศาล

ด้วยการ อ้างอย่างเลื่อนลอยมั่วๆ ว่า น่าเชื่อมีพฤติการณ์จะหลบหนี หรือ อาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือแม้กระทั่ง ก่อเหตุร้ายประการอื่น ตาม มาตรา 108/1

ปัจจุบัน คุกไทย จึงมีผู้ต้องหาหรือจำเลยประมาณ 60,000 คน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการและศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ให้ สันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือ  Presumption of Innocence

ถูกขังรวมกับ กับนักโทษเด็ดขาดซึ่งศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดประมาณ 300,000 คน

ซ้ำยังเลวร้ายกว่านักโทษเด็ดขาดก็คือ ผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านี้เมื่อมีกรณีต้องเดินทางไปศาล

หลายคนหลายคดีได้ถูกตีตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างเพื่อความปลอดภัยตลอดเวลา!

ถือเป็นการ “รับโทษทัณฑ์และติดคุกล่วงหน้า” ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด       

เป็น กระบวนการยุติธรรมที่วิปริต ผิดไปจากนานาอารยประเทศทั่วโลกที่ ต้องได้รับการปฏิรูป เรื่อง การออกหมายจับ และ การปล่อยตัวชั่วคราว ให้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเร็ว.

ประชาชนติดคุกล่วงหน้า
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 2564

About The Author