ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม : รื้อถอนโครงสร้าง-สร้างขึ้นใหม่ – ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม: รื้อถอนโครงสร้าง-สร้างขึ้นใหม่

ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์

กระบวนการที่ศาลอาญาชั้นต้นมอบให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัยว่าจะอนุญาตให้ประกันตัว 8 แกนนำ กปปส.หรือไม่ ทำให้บรรดาแกนนำ กปปส.ต้องอยู่ในเรือนจำ 2 วัน 3 คืน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ประกันตัวพวกเขาทั้งหมด แต่การรอคอยอยู่ในเรือนจำทำให้แกนนำที่มีตำแหน่งทางการเมืองถูก กกต. วินิจฉัยว่าเป็นการจำคุกแล้ว ดังนั้นจึงต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไป อย่างไรก็ดี แกนนำเหล่านี้ได้ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานะความเป็น ส.ส.ของพวกเขาว่าเป็นอย่างไรกันแน่?

 

ผมมีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยที่ให้ตำรวจเป็นผู้รวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงแห่งคดีความ ให้อัยการเป็นผู้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งให้ตำรวจหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ และในท้ายสุด มอบให้ศาลเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดแห่งคดีความนั้น

 

คำถามมีอยู่ว่าหากกระบวนการยุติธรรมในชั้นเริ่มต้นคือตำรวจมิได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ หากแต่ทำไปตาม “การสั่งการ” หรือ”ใบสั่งทางการเมือง” หรือ” ใบสั่งที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง” จากผู้บังคับบัญชาที่เป็นเพียงผู้ใต้การอุปถัมภ์ของนักการเมืองผู้ทรงอำนาจในขณะนั้นแล้วไซร้ การทำงานของกระบวนการยุติธรรมหลังจากนั้น คืออัยการและศาลจะสามารถตรวจสอบความไม่สุจริตของสำนวนคดีได้หรือไม่เพียงใด? และอัยการและศาลจะสามารถรักษาความถูกต้อง ความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้แก่จำเลยได้จริงหรือไม่?

 

ผมคิดว่าปัญหาความไม่โปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (จากตำรวจถึงกรมราชทัณฑ์) และปัญหาพฤติกรรมที่ไม่สุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนมากในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขมาช้านานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดเลยที่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะประกาศนโยบายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างธรรมาภิบาลในกระบวนการยุติธรรมไทยนั่นเอง

 

ในช่วงประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา มีการต่อสู้ทางความคิดระหว่างหลักคิดเรื่องการมีรัฐบาลที่ดี (good government) กับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (good governance) ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ว่าระหว่างการมีรัฐบาลที่ดีกับการมีระบอบการปกครองที่ดี อันไหนสำคัญกว่ากัน?

 

เมื่อราว 40 ปีที่ผ่านมา โลกตะวันตกเพิ่งได้ข้อยุติในประเด็นข้างต้นว่าการมีระบอบการปกครองที่ดีสำคัญกว่าการมีรัฐบาลที่ดี พูดอีกอย่างหนึ่งคือ good governance จะทำให้เกิด good government ได้ง่ายกว่าการที่ good government จะทำให้เกิด good governance แต่สำหรับผมแล้วมองว่า good governance กับ good government มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (interaction) หรือต่างก็สามารถกำหนดกันและกันได้ นั่นคือระบอบการปกครองที่ดีสามารถสร้างรัฐบาลที่ดีขึ้นได้ และในทางกลับกันรัฐบาลที่ดีก็สามารถสร้างระบอบการปกครองที่ดีขึ้นได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าเงื่อนไขแบบหลังนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าเงื่อนไขแบบแรกก็ตาม

 

หลักการของธรรมาภิบาลที่นำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินของแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป ทั้งนี้เพราะเหตุว่าแต่ละสังคมต่างมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นรากเหง้าของปัญหาที่สำคัญๆ ของแต่ละสังคมที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์จึงแตกต่างกันไปด้วย นอกจากนี้เมื่อแต่ละสังคมก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่ การผสมผสานระหว่างรากเหง้าของปัญหาดั้งเดิมกับปัญหาของสถาบันยุคใหม่จึงยิ่งสร้างความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นหลักการของธรรมาภิบาลของแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องคิดและสร้างขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาการของสังคมเศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อเรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจิตสำนึกของสังคม ตลอดจนความตื่นตัวทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะความเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ประกอบกันไปด้วย

 

สำหรับผมแล้วหลักธรรมาภิบาลที่สำคัญๆ สำหรับรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไทย อย่างน้อยที่สุดต้องประกอบด้วยหลักการที่ว่าด้วยการควบคุมคอร์รัปชั่น (corruption control) หลักการการรับผิดรับชอบต่อหน้าที่ (accountability) ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หลักการว่าด้วยความโปร่งใส (transparency) ของนโยบายสาธารณะและกระบวนการการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหลักการการทำงานที่ต้องเห็นความสัมฤทธิ์ผลที่จับต้องได้จริง (outcomes)

 

ในช่วงที่ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมาก แต่โชคร้ายที่เรากลับได้รัฐบาลที่ถูกออกแบบจากรัฐธรรมนูญให้มีความเข้มแข็งและมีอำนาจมากที่สุด ยิ่งกว่ารัฐบาลเลือกตั้งเท่าที่เคยมีมา และมันกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคร่วมสมัย ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่คอร์รัปชั่นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้คุณทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรียังได้ใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน ข่มเหงรังแกผู้ที่เห็นต่างเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือผู้นำรัฐบาลมีการบีบบังคับใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อตนเองในการดำเนินคดีเป็นจำนวนมากกับผู้ที่ประท้วงและต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ส่งผลให้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมของไทยขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

 

กล่าวได้ว่านับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบราชการให้เป็นแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ตำรวจ อัยการ ศาลและทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีระบบการตรวจสอบทั้งจากองค์กรภายในและองค์กรภายนอก ในประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการทำงาน ความรับผิดรับชอบในหน้าที่ การควบคุมการคอร์รัปชั่นในสถาบัน ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติหน้าที่ และการใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเรื่องการทำหน้าที่น้อยมาก รวมถึงไม่มีระบบการติดตามตรวจสอบและประเมินผลเรื่องการใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุนี้การใช้ดุลพินิจของบุคลากรจำนวนมากในกระบวนการยุติธรรมกว่า 100 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนและผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลที่โกงชาติมาโดยตลอด

 

ผมเห็นว่ากรณีของแกนนำ กปปส. ที่รอการประกันตัวอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 3 วันนั้นไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ 3 กกต.ที่ถูกศาลอาญาตัดสินว่ามีการทุจริตต่อหน้าที่ด้วยการช่วยเหลือพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2549 และศาลไม่ให้ประกันตัวจึงทำให้ 3 กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งไปทันที

 

เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกรณีของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยจังหวัดขอนแก่น ที่ถูกศาลตัดสินในปี 2562 ให้ประหารชีวิตและไม่ให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลและอาจหลบหนี หากได้รับการประกันตัว

 

แตกต่างจากสองกรณีข้างต้น แกนนำ กปปส.ตกเป็นจำเลยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กล่าวหาพวกเขาว่าเป็นขบถ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นผู้ก่อความไม่สงบและอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งคนละประมาณ 50 คดี แต่พวกเขายืนยันต่อสาธารณะชนมาโดยตลอดว่าจะไม่หลบหนีออกนอกประเทศเหมือนคุณทักษิณ-ยิ่งลักษณ์

 

ผลสืบเนื่องจากการเปิดโปงและต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ของ กปปส.คือ คณะรัฐมนตรีของยิ่งลักษณ์และผู้ใกล้ชิดกว่า 10 คนถูกศาลตัดสินจำคุกข้อหาทุจริตแต่คุณยิ่งลักษณ์ที่เป็นนักโทษคดีทุจริตได้หลบหนีออกนอกประเทศไป

 

เพราะเหตุแห่งความไร้ความรับผิดชอบของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ผู้ทุจริตรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยคือทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ สามารถหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ และไม่สามารถนำตัวกลับมาลงโทษเพื่อชดใช้ความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ทักษิณและยิ่งลักษณ์ยังได้ทิ้งปัญหาหนี้สินราว 7 แสนล้านบาทจากโครงการรับจำนำข้าวให้รัฐบาลชุดปัจจุบันและประชาชนต้องช่วยกันแบกรับภาระไปแทน ที่สำคัญที่สุดคือพี่น้องคู่นี้ยังทิ้งความขัดแย้งทางการเมืองและคดีความต่างๆ ของ พธม.และ กปปส.ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและสังคมไทยต้องแก้ปัญหากันเอง

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเห็นว่าพลเอกประยุทธ์สมควรใช้โอกาสนี้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ตำรวจ ปปง.ดีเอสไอ อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ และทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดระบบการบริหารบ้านเมืองที่ดี โดยให้ความสําคัญในเรื่องผลสัมฤทธิ์ในการทำงานของหน่วยงานหรือประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำหน้าที่ การรับผิดรับชอบต่อหน้าที่ของข้าราชการ การควบคุมคอร์รัปชัน ความโปร่งใสและการใช้ดุลพินิจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม

 

สำหรับผมแล้ว การปฏิรูปไม่ใช่การเอาอกเอาใจข้าราชการประจำ ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนหน่วยงานให้มากขึ้น แต่ต้องลดขนาดและจำนวนข้าราชการลง การปฏิรูปไม่ใช่การบริหารงานบุคคลและไม่ใช่การเพิ่มตำแหน่งนายพลตำรวจอย่างไม่รู้จบสิ้น การปฏิรูปไม่ใช่การทำงานตามแผนบนกระดาษที่ข้าราชการนำเสนอ และการปฏิรูปไม่ใช่การทำงานเชิงเทคนิคหรือการทำงานที่เป็นกิจวัตรประจำวันของข้าราชการ

 

แต่การปฏิรูปคือการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ของประเทศ การปฏิรูปคือการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งชาติให้ก้าวไปตามความฝันของพวกเขาการปฏิรูปคือการกระตุ้นพลังของคนทั้งประเทศให้ร่วมกันทุ่มเท เสียสละและสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองให้ชาติไทยได้ก้าวออกไปอยู่ในระดับเดียวกันกับนานาอารยะประเทศ การปฏิรูปคือการรื้อถอน (deconstruction) โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สังคมการเมือง และวัฒนธรรมที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อการกินดีอยู่ดีของคนส่วนใหญ่ การปฏิรูปคือการสร้าง (construction) ระบบและโครงสร้างใหม่ของสังคม เพื่อประโยชน์-สุขแก่ประชาชนทุกคนการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก การปฏิรูปคือการแก้ปัญหาสำคัญๆ ที่เป็นปัญหารากฐานทั้งหมดของประเทศและประชาชน การปฏิรูปคือการปลดปล่อยพลังทางการผลิตและการค้าบริการของสังคมให้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว การปฏิรูปคือการสร้างความเป็นเอกภาพของคนในชาติและความรู้สึกภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ การปฏิรูปคือการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายของผู้คนในทางชาติพันธุ์ วิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อทางศาสนา และทางการเมือง การปฏิรูปคือการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษาและโอกาสทางสังคมให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น การปฏิรูปคือการทำลายการผูกขาดในตลาด การปฏิรูปคือการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กและกลางกลายเป็นกระดูกสันหลังของชาติ การปฏิรูปคือการให้โอกาสแก่คนในระดับล่างมีอาชีพ มีรายได้และมีความสุขในการใช้ชีวิตตามอัตภาพ และการปฏิรูปคือการทำกิโยตีนกฎหมาย ระเบียบและกฎอัยการศึกที่เป็นอุปสรรคต่อระบบเศรษฐกิจตลาดที่เน้นการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ผู้คนในประเทศนี้

 

ผมเห็นว่าเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพียงเรื่องเดียว ในทางทฤษฎีเราน่าจะลดจำนวนนักโทษคดียาเสพติดลงได้ราวร้อยละ 70-80 ของจำนวนนักโทษทั้งหมดในเรือนจำทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีเกือบ 4 แสนคน ในระยะยาวเราจะสามารถลดจำนวนตำรวจ อัยการ ศาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงไปได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ตามแนวทางนี้รัฐบาลจะสามารถลดงบประมาณด้านบุคลากรและอื่นๆ ลงไปได้หลายแสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณด้านการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นอีกมาก กำลังคนจำนวน 4-5 แสนคนที่ไม่เคยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น (value added) ให้แก่ระบบเศรษฐกิจจะถูกโอนไปสู่ภาคการผลิต การค้าและบริการมากขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนการจ้างแรงงาน การเพิ่มอาชีพ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) และการสร้างมูลค่าเพิ่มของสังคมโดยรวม ตลอดจนสามารถสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่กำลังซื้อของตลาดในประเทศ (domestic market) ซึ่งเป็นเป้าหมายของระบบเศรษฐกิจที่พึงปรารถนา ผมเชื่อมั่นว่าเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพียงเรื่องเดียว เราสามารถสร้างการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเงินนับล้านล้านบาทต่อปี

 

คำถามคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะยืนลังเลอยู่บนหน้าผาต่อไปทำไม? นี่เป็นเวลาและโอกาสที่ดีที่สุดของท่านแล้ว กระโดดเลยครับลุงตู่!!!

About The Author