ที่ประชุมรัฐสภาโหวตรับหลักการร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯฉบับแปลงสาร

 

ที่รัฐสภา  วันที่ 24 ก.พ.2564 ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ชั้นรับหลักการ ต่อจากวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่อภิปรายถึงปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย และการทำให้ตำรวจเป็นของประชาชนโดยแท้จริง

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ขอเสนอแนะให้มีการกระจายอำนาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะขณะนี้มีการรวมศูนย์อยู่ที่ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคำสั่งคสช. ม.44 อีกทั้งอยากให้พิจารณากรณีถ้ามีการร้องขอให้อัยการเข้ามาทำสำนวนคดีตั้งแต่ต้นร่วมกับพนักงานสอบสวนได้ และดูแลเกี่ยวกับการโยกย้ายตำแหน่งข้ามสายงาน เช่น ตำแหน่งจากสายงานด้านปราบปรามไปเป็นพนักงานสอบสวน และย้ายพนักงานสอบสวนไปทำงานด้านปราบปราม ซึ่งถือว่าไม่มีความถนัดนั้นๆ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการปฏิรูปตำรวจแต่อย่างใด ดูจากมาตรา 106 ที่อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชาใช้อาวุธหรือกำลังบังคับกับลูกน้องได้ ถ้าทำโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ถือเป็นการให้อำนาจตำรวจผู้ใหญ่กดขี่ตำรวจชั้นผู้น้อย เพื่อให้ควบคุมตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างสมบูรณ์แบบ ให้เป็นตำรวจของนายโดยสมบูรณ์

“นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 107 โทษทางวินัยของตำรวจ ทั้งกักยาม กักขัง ทำงานโยธา แบกหาม หากทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิดไม่ใช่ลงโทษเกินความพอดีแบบนี้ และสุดท้าย ถ้าต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชนโดยแท้ ต้องยกเลิกระเบียบให้ตำรวจตัดผมเกรียน 3 ด้าน เมื่อทรงผมนักเรียนไม่เกี่ยวกับการเรียนฉันท์ใด ทรงผมตำรวจก็ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ตำรวจฉันท์นั้น เพราะกฎนี้คือตัวแทนของอำนาจที่ใช้กดทับ เพื่อให้ตำรวจอยู่ในโอวาทและคำสั่งการของนาย” นายวรภพ กล่าว

ด้านนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีสองตั๋ว มีการซื้อตั๋วหนึ่งเพื่อไปเอาอีกตั๋ว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศล่าหลัง มีคำสั่งผบ.ตร.ห้ามให้ตำรวจไปช่วยราชการ แต่ก็ยังมีการดึงตัวพนักงานสอบสวนไปใช้ ซ้ำยังเบิกเงินจากส่วนงานสอบสวนทั้งที่มีกฎว่าห้ามเบิกเงิน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผู้เสนอร่างพ.ร.บ. ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิรูปไว้หลายเรื่อง แต่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษไว้ 2 เรื่อง คือ การปฎิรูปตำรวจและการปฎิรูปศึกษา ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้งสองเรื่องแค่คิดจะปฎิรูปก็ยากแล้ว แค่ลงมือทำก็ยากอีก และจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ก็ยากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงกำหนดชัดเจนกว่าเรื่องอื่น

นายวิษณุ กล่าวอีกว่ามีการพูดตามสื่อและในสภาแห่งนี้ประหนึ่งว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ มีอยู่ 3 ฉบับ และพูดประมาณว่าครม.ไม่พอใจฉบับพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ จึงส่งต่อไปให้กฤษฎีกา ให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดูแลเรื่องนี้อีกที จากนั้นส่งกลับครม. และครม.ก็ส่งไปให้ตำรวจดูอีกครั้ง แล้วครม.ก็หยิบฉบับตำรวจมาเสนอรัฐสภา ซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะมันคือฉบับเดียวกัน  โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายนี้ 80เปอร์เซ็นต์มาจากฉบับพล.อ.บุญสร้างบวกของนายมีชัย และอีก10-20 เปอร์เซ็นต์ มาจากที่ตำรวจขอแก้ไข และรัฐบาลก็เสนอมายังรัฐสภา โดยหวังว่ารัฐสภาแห่งนี้จะทำเป็นฉบับสุดท้าย โดยจะเอาฉบับพล.อ.บุญสร้าง นายมีชัย หรือข้อเสนอตำรวจที่ถอนออกไปก่อนหน้านี้ เข้ามาใหม่ก็ได้ทั้งนั้น

“มีผู้ใหญ่ของประเทศที่ผมเคารพนับถือหลายคน เคยกล่าวไว้ว่าการจะออกกฎหมายจัดระเบียบอะไรสักอย่างต้องคำนึงถึงระบบและตัวบุคคล ช่วยกันทำระบบให้ดีที่สุดแต่อย่าคิดว่าจะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะในที่สุดก็อยู่ที่คนด้วย เหมือนกับบ่ายวันนี้จะมีการพิจารณารัฐธรรมนูญ ก็คือการวางระบบ จะสำเร็จสำฤทธิ์หรือไม่ อยู่ที่คน คนจะเข้ามาอยู่ในระบบรัฐธรรมนูญฉันท์ใด คนที่เข้ามาอยู่ในระบบตำรวจก็ฉันท์นั้น กฎหมายตำรวจแห่งชาติคือกฎหมายวางระบบ แต่ที่สุดอยู่ที่ตำรวจ ที่มีทั้งดีและไม่ดี โดยท่านผู้ใหญ่ที่วางหลักนี้ไว้ให้ ก็คือ ประธานรัฐสภา นั่นเอง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า สมาชิกหลายคนถามว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วส่วยจะหมดไหม ตั๋วจะหมดไหม ประชาชนจะนอนตายตาหลับไหม ก็ขอตอบว่าเราทำระบบให้ดีที่สุด แล้วไปเคี่ยวเข็ญที่คน ทำผิดต้องลงโทษ ทั้งระบบและคนต้องคู่กันไป สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายมาทั้งหมดนั้น ขอความกรุณาโปรดนำไปใส่ไว้ในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.) จะปรับปรุงแก้ไขออกมาอย่างไร ไม่มีความขัดข้อง และรัฐบาลวางใจ นอนใจ เชื่อใจ ว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะออกมาจะเป็นฉบับปฏิรูปเท่าที่เคยมีมา

จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 565 ต่อ 2 งดออกเสียง 3 เสียง โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จำนวน 49 คน โดยกมธ.ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย จำนวน 3 คน ทางพรรคแจ้งว่าไม่ประสงค์เข้าร่วม ทั้งนี้ รายชื่อกรรมาธิการที่น่าสนใจ อาทิ นายวิชา มหาคุณ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.  นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นต้น

 

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ว่า ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….ได้เข้าสู่วาระที่ 1 ไปแล้ว และจะมีการพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ก็อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษารายละเอียด ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ตำรวจรอคอย เพราะทุกอย่างเราต้องมีการปฏิรูป แต่การปฏิรูปจะทำอย่างไรก็ไปว่ากันในวาระต่อไปในสภาก็แล้วกัน นี่คือกฏหมายตำรวจที่จะต้องมีการปฏิรูป ก็ค้างคามานานพอสมควรแล้ว ขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

About The Author