คดีหวย 30 ล้าน กับปัญหาการสอบสวนแบบจับแพะชนแกะ
คดีหวย 30 ล้าน กับปัญหาการสอบสวนแบบจับแพะชนแกะ
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งมีบางคนใช้อำนาจโดยมิชอบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในกรณีต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
ขอเรียนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า หลายพื้นที่หลายจังหวัดแม้กระทั่งในเขตนครบาล บ่อนพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายค้าขายยาเสพติดมอมเมาเยาวชนยังมีอยู่หลายรูปแบบ “ไม่เปลี่ยนแปลง”
เพราะปัญหาสำคัญก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอไม่สามารถควบคุมหรือสั่งให้หัวหน้าสถานีตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้ ทำให้ส่วนใหญ่ไม่อยากมีปัญหากับตำรวจ เพราะหากทำขึงขังไป แต่สุดท้ายก็จัดการอะไรไม่ได้
เนื่องจากไม่มีอำนาจให้คุณหรือลงโทษตำรวจคนใดได้แม้แต่คนเดียว!
ความสำคัญของการแก้ปัญหายาเสพติด ไม่ใช่การอวดอ้างของตำรวจแต่ละหน่วยไม่ว่าระดับใดว่าได้มีผลงานจับแต่ละเดือนหรือปีละเท่านั้นเท่านี้
ตัวชี้วัดประสิทธิภาพที่แท้จริงก็คือ ประชาชนยังสามารถซื้อหายาเสพติดในท้องตลาดได้ง่ายหรือไม่? ราคาถูกแพงมากน้อยเพียงใด?
อย่างย่านชานเมืองขณะนี้ เมื่อสี่ห้าปีก่อนยาบ้าเม็ดละร้อยกว่า แต่ว่าปัจจุบัน “เหลือสามเม็ดร้อย” เท่านั้น! เป็นเหตุให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมาสารพัด
เมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากกรณีที่ประชาชนเมาธ์กันสนั่นเมืองเรื่องตำรวจ “จับสลากเป็นพนักงานสอบสวน” ทั้งที่หลายคนไม่พร้อมและไม่เต็มใจ เนื่องจากอายุมากเกินไป หรือไม่มีทักษะและความชำนาญในการทำงานสอบสวน
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เลวร้ายและเป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง
อีกเรื่องหนึ่งก็กรณีตำรวจลุมพินี “ฆ่า” นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสตายคาหน้าร้านโดนัทย่านสุขุมวิท สาเหตุเนื่องมาจากการแย่งจีบผู้หญิงคนเดียวกัน และตำรวจคนนั้นชกต่อยสู้ไม่ได้ เลยใช้อาวุธปืนไปไล่ยิงจนตาย!
ตามด้วยนักศึกษาจังหวัดมหาสารคาม ถูก “ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบ” บุกค้นห้องพัก รุมทำร้ายจนปากบวม บังคับให้ลงชื่อรับสารภาพว่าค้ายาเสพติด เมื่อไม่สำเร็จและรู้ว่าค้นผิดห้อง ก็พากันล่าถอยไป
อีกกรณีที่อื้อฉาวก็คือ คดี 5 เด็กชายวัยรุ่นรุมโทรมเด็กหญิงอายุ 12 ปีที่ร้านค้ากลางเมืองสระบุรี แต่กลับปรากฏคลิป “ตำรวจร่วมวงเจรจาในการเคลียร์” ทั้งที่เป็นความผิดต่อรัฐ มีญาติของเด็กชายพยายามต่อรองเรื่องค่าเสียหายให้เรื่องจบๆ กันไป จนพ่อเด็กหญิงเกิดโทสะ ลุกขึ้นเตะเด็กชายหลายคนจนสลบเหมือด
เมื่อปรากฏข่าว ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจ แห่กันไปที่สถานีตำรวจหลายร้อยคน โดยมีตำรวจผู้ใหญ่ออกมาอธิบายว่า ความล่าช้าเกิดจากปัญหาการรอสอบปากคำเด็กตามกฎหมาย ต้องนัดหลายฝ่ายมาร่วมสอบสวน ทำให้ยังไม่สามารถจับและควบคุมตัวเด็กผู้กระทำผิดได้
เป็นความจริงหรือไม่?
ป.วิ อาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคท้าย บัญญัติว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ไม่อาจรอนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการในการร่วมถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้ โดยบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอได้นั้นไว้ในสำนวน”
ถ้าตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบมีความรู้และเข้าใจกฎหมายอย่างถ่องแท้ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ง่ายนิดเดียว คือ ทันทีที่ทราบเหตุแล้วยังนัดหมายทุกฝ่ายไม่ได้ ก็สั่งให้พนักงานสอบสวนไม่ว่าจะหญิงหรือแม้กระทั่งชายมาซักถามและบันทึกปากคำเด็กหญิงไว้เบื้องต้น ต่อหน้าพ่อแม่ แค่นี้ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีกับกลุ่มวัยรุ่นได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
สำหรับปัญหา คดีหวย 30 ล้าน ในที่สุดศาลจังหวัดกาญจนบุรีก็ได้มีคำสั่งประทับฟ้องกรณีที่ครูปรีชาฟ้อง ร.ต.ท.จรูญ ข้อหายักยอก หรือรับของโจร
นั่นหมายถึงศาลได้ไต่สวนเห็นว่า คำฟ้อง “มีมูลเป็นความผิดอาญา” สั่งให้นำเข้าสู่กระบวนพิจารณา เพื่อให้โจทก์คือ ครูปรีชา ได้แสดงพยานหลักฐานเพิ่มเติมอย่างละเอียดว่า ร.ต.ท.จรูญ กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาอย่างปราศจากข้อสงสัยจริงหรือไม่
รวมทั้งให้โอกาส ร.ต.ท.จรูญนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างว่า ลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลนี้เป็นของตนและได้มาโดยชอบตั้งแต่แรก ไม่ได้เก็บได้ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
แต่การประทับฟ้องดังกล่าว มีนัยตรงข้ามกับที่ตำรวจสอบสวนกลางได้รวบรวมพยานหลักฐานและนำไปเสนอศาลอาญาให้ “ออกหมายจับ” ครูปรีชาและเจ๊บ้าบิ่น ข้อหาแจ้งความเท็จและให้การเท็จ ใช้ตำรวจคอมมานโดอาวุธสงครามครบมือบุกจับครูปรีชาต่อหน้านักเรียนในโรงเรียนอย่างเอิกเกริกราวกับเป็นผู้ก่อการร้ายเลยทีเดียว!
นอกจากนั้น ยังได้สรุปสำนวนการสอบสวนเสนอให้อัยการ “สั่งฟ้อง” ผู้ต้องหาทุกคน
คำถามที่ประชาชนสงสัยและงุนงงก็คือ ตำรวจใช้อะไรเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับครูปรีชาและพยานข้อหาแจ้งความเท็จและให้การเท็จ เสนอให้อัยการสั่งฟ้อง
ในขณะที่ศาลกลับพิจารณาว่า คำให้การของผู้เสียหายและพยานรับฟังได้
ปัญหาเรื่องหวย 30 ล้านนี้ อันที่จริงถือเป็นเรื่องแพ่งที่บุคคลผู้โต้แย้งสิทธิต้องฟ้องและแสดงหลักฐานให้ศาลแพ่งเชื่อและวินิจฉัยว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง
ซึ่งหากแม้นครูปรีชาจะเป็นผู้ซื้อ แต่ถ้าแสดงหลักฐานให้ศาลเชื่อไม่ได้ ก็ต้องยกประโยชน์ถือว่า ร.ต.ท.จรูญเป็นเจ้าของในฐานะผู้ครอบครองสังหาริมทรัพย์นั้นตามบทสันนิษฐานของกฎหมาย
ตำรวจไม่ว่าระดับใดไม่มีหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือวุ่นวายอะไร?
ไม่ว่าจะเป็นการสั่งแก้ไขสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบให้ “กลมกลืน” เพื่อแจ้งข้อหาต่อ ร.ต.ท.จรูญว่ายักยอก หลังจากเจรจาต่อรองกันไม่สำเร็จ
หรือสอบสวนแบบ “จับแพะชนแกะ” จนผู้เสียหายและพยานกลายเป็นผู้ต้องหา ทำให้ประชาชนพลเมืองดีเห็นแล้วเข็ดขยาดไปตามๆ กัน ทั้งที่ยังไม่มีใครสรุปได้ว่า ความจริงเป็นเช่นไรแน่
ถึงเวลาแล้ว รัฐต้องปฏิรูประบบงานสอบสวนให้มีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก
ต้องแก้ไขกฎหมายให้ “มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคล” ประกอบ หรืออาจใช้แทนการถามตอบบันทึกไว้ในกระดาษแบบโบราณเช่นปัจจุบัน
“การออกหมายเรียกผู้ต้องหาและการเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการตรวจพยานหลักฐานโดยมั่นใจว่า เมื่อแจ้งข้อหาหรือออกหมายจับบุคคลใดแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้” เท่านั้น
พอกันเสียทีเรื่อง ออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือหมายจับแล้วสุดท้าย “อัยการสั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ศาลพิพากษายกฟ้อง”
ประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหารวมทั้งผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสกันมากมายจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของประเทศในปัจจุบัน.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, December 24, 2018