‘คำนูณ’จี้นายกฯด้นร่างพรบ.ปฏิรูปตำรวจฉบับ’มีชัย’เอา’ระบบคะแนนประจำตัว’คืนมา
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง เอา ‘ระบบคะแนนประจำตัว’ คืนมา ! มีเนื้อหาดังนี้
ขึ้นสัปดาห์ที่ 2 ของปี 2564 ยังไม่มีการประชุมวุฒิสภาเพราะเหตุโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ จึงขอตั้งกระทู้สดอภิปรายนอกสภาไปพลาง เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีแปรวิกฤติให้เป็นโอกาสในการทำเรื่องที่ท่านรับปากกลางรัฐสภาตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 แล้วแต่ยังทำได้ไม่ใกล้เคียงความสำเร็จอย่างการปฏิรูปตำรวจ !
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติปรับปรุงแก้ไขจากร่างฯฉบับท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ตามที่ผมเรียกว่า ‘ฉบับแปลงสาร’ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563
หลังจากเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์มา 8 หน้า 14 ประเด็น จนกระทั่งมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 30 มิถุนายน มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปเสนอขอแก้ไขมาภายใน 10 วัน โดยระบุว่าให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปปรับเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันลงไปในร่างฯ
ซึ่งเป็นการกระทบสาระหลักของร่างฯและไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญกำหนด !
โดยมาตรา 258 ง (4) กำหนดไว้ว่า…
“ในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน…”
คำว่า ‘ประกอบกัน’ หมายถึงว่าทุกคนที่จะได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องมีทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถ แต่จะออกแบบให้มีการชั่งน้ำหนักอย่างไรเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่จะร่างขึ้นมา ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ได้ออกแบบ ‘ระบบคะแนนประจำตัว’ ขึ้นมาในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ก่อนถูกแปลงสาร ให้ข้าราชการตำรวจทุกคนมีคะแนนประจำตัว 3 ส่วน ดังนี้
– อาวุโส 45 %
– ความรู้ความสามารถ 25 %
– ความพึงพอใจของประชาชน 30 %
อาวุโสก็หมายถึงอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ นานกว่าคนอื่น ถ้าอยู่นานสุดก็ได้คะแนนเต็มไป นานรองลงไปแต่ละปีก็ได้คะแนนลดหลั่นกันลงไปปีละ 5 หรือ 6 คะแนน ความรู้ความสามารถก็ขึ้นอยู่กับผลงานและอื่น ๆ ตามที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง ส่วนความพึงพอใจของประชาชนนั้นได้กำหนดให้หน่วยงานภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้สำรวจการทำงานของตำรวจแต่ละหน่วยงานแต่ละพื้นที่ ได้คะแนนเท่าไรก็ถือเป็นคะแนนที่ตำรวจในหน่วยนั้นได้เท่ากัน
คะแนนประจำตัวนี้ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องรับรู้ และสามารถคัดค้านได้ โดยมีระบบการพิจารณาตัดสินกำหนดไว้ชัดเจน
และให้จัดทำบัญชีเรียงลำดับไว้
ทั้งหมดนี้ผู้ร่างกฎหมายเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาในการแต่งตั้งโยกย้ายน้อยลง การวิ่งเต้นน้อยลง เพราะกฎเกณฑ์เหล่านี้เขียนไว้ในกฎหมายหลักระดับพระราชบัญญัติ และตำรวจทุกคนรับรู้คะแนนประตัวและลำดับของตนเอง การวิ่งเต้นหรือเสนออามิสเพื่อไม่ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้จะทำได้ยาก การประมูลรับสัมปทานตำแหน่งอย่างเป็นระบบที่มีเสียงกล่าวหาอยู่ขณะนี้ยิ่งจะเป็นไปได้ยาก
แต่ก็ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาเสียทีเดียว
คะแนนความรู้ความสามารถ 25 % นั่นแหละที่ยังเปิดช่องไว้ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในส่วนนี้ได้
นี่เป็นนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์
ทั้งยังเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงถึง 30 % อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
น่าเสียดายที่นวัตกรรมนี้จะไม่มีโอกาสมาถึงรัฐสภาเพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามร่างฯฉบับแปลงสารไปเสียแล้ว
การแต่งตั้งโยกย้ายตามร่างฯแปลงสารออกมาเป็นประมาณนี้….
(1) ระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติลงมาถึงผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโส
(2) ระดับผู้บัญชาการและจเรตำรวจลงมาถึงผู้บังคับการ ให้พิจารณาจากผู้เหมาะสมเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับ
(3) ระดับรองผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตร ให้พิจารณาเรียงตามอาวุโสจำนวนร้อยละ 33 ของจำนวนตำแหน่งที่ว่างในแต่ละระดับตำแหน่งของส่วนราชการ
(4) จำนวนตำแหน่งที่ว่างที่เหลือจากการพิจารณาตามข้อ (2) และ (3) ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
โดยภาพรวมแล้วเปลี่ยนแปลงไปจากระบบปัจจุบันไม่มาก กล่าวคือปัจจุบันใช้ระบบแบ่งกองตามข้อ (3) มาต่อเนื่องยาวนาน
ซึ่งล้วนไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญและไม่ตอบโจทย์
ย้ำอีกครั้งว่าคำในรัฐธรรมนูญว่า ‘…โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน’ หมายถึงการแต่งตั้งโยกย้ายเข้าไปในทุกตำแหน่งที่ว่าง และกฎหมายลำดับรองลงมาจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน
ไม่ใช่แบ่งแยกเป็นกอง ๆ กัน เป็นกองอาวุโสล้วน ๆ ร้อยละ 50 หรือ 33 ที่เหลือจึงเป็นกองอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
ไอ้ตรง ‘ความรู้ความสามารถ’ หรือ ‘ความเหมาะสม’ นี่แหละที่เป็นปัญหามาโดยตลอด
เปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโดยไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน
เปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นมาโดยตลอด
แล้วจะเห็นได้ว่ากอง ‘อาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน (โดยไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน)’ เป็นกองโตที่สุด เพราะใช้กับตำแหน่งที่ว่างลงในระดับผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตร
ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายและเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่องการซื้อขายตำแหน่งที่พัฒนามาจนเป็นการประมูลอย่างเป็นระบบจึงจะยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยพื้นฐาน
รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจสูงสุด ถึงขนาดแยกบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญเลย และกำหนดให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด โดยมีบทเร่งรัดกึ่งลงโทษกำกับไว้ด้วย
แต่รัฐบาลก็ยังอุตส่าห์ทำไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ
แล้วจะตั้งกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายตั้ง 2 ชุด 3 ชุดทำไม ใช้เวลารวมเกือบ 4 ปีไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายต้องกลับมาถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วก็ยกให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขในสาระสำคัญ
แม้กระทั่งล่าสุดคณะกรรมการอิสระชุดท่านอาจารย์วิชา มหาคุณก็เห็นควรให้ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ไม่ใช่ฉบับแปลงสาร
ขึ้นศักราชใหม่ สถานการณ์ฝีแตกครั้งใหม่กรณีบ่อนและแรงงานนำเข้าผิดกฎหมายปรากฎให้เห็น ถึงเวลาคิดใหม่ตัดสินใจใหม่ได้แล้วครับท่านนายกรัฐมนตรี