สป.ยธ.ยื่นสภาผู้แทนฯปฏิรูปการออก’หมายเรียก-หมายจับ’ต้องผ่านอัยการกันผู้บริสุทธิ์เป็นแพะ

 

ที่รัฐสภา วันที่ 26 พ.ย. 2563 – ผศ. ร.ต.อ. ดร. วิเชียร  ตันศิริคงคล   ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กรรมการสป.ยธ. ยื่นหนังสือผ่าน นายอดิลัน  อาลีอิสเฮาะ  ประธานคณะอนุกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญาแก้ปัญหา “ตำรวจออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหา” และ “ศาลออกหมายจับ” ประชาชนโดยปราศจากพยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นผู้กระทำผิด

 

โดยหนังสือระบุว่า เนื่องจากปัจจุบัน  ได้เกิดปัญหาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการในชั้นสอบสวนโดยถูก“ตำรวจออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา”  หรือ “ศาลออกหมายจับ” โดยปราศจากพยานหลักฐานแน่ชัดว่าเป็นผู้กระทำผิดกันมากมาย  ซึ่งหลายคดี สุดท้ายพนักงานอัยการได้มี “คำสั่งไม่ฟ้อง” หรือ “ศาลพิพากษายกฟ้อง”   ทำให้ผู้บริสุทธิ์หรือที่เรียกกันว่า “แพะ” ต้องตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายเรียก หรือบางคนก็ถูกจับตามหมายจับในสถานที่ส่วนบุคคลหรือที่สาธารณะต่างๆ ตามอำเภอใจของตำรวจ ถูกคุมขังเสื่อมเสียเสรีภาพและมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปตลอดชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม

 

นอกจากนั้นยังส่งผลร้ายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง  เนื่องจากทำให้บุคคลที่เป็นผู้กระทำผิดจริงหลุดรอดจากการถูกลงโทษตามกฎหมาย  ส่งผลทำให้ผู้เสียหายเกิดความคับแค้นใจสังคมเกิดความไม่สงบสุขอีกด้วย

 

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก  การออกหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนและการออกหมายจับของศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้  ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ในการสั่งฟ้องคดีพิสูจน์การกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรฐานสากล

 

จึงเรียนเพื่อโปรดทราบปัญหาดังกล่าว และขอให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยเพิ่มบทมาตราในส่วนที่ว่าด้วยการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและหมายจับดังนี้

 

1.มาตรา  53/1  การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 53  ต้องได้รับการตรวจพยาน หลักฐานจากพนักงานอัยการและมั่นใจว่า เมื่อเห็นชอบให้ออกหมายเรียกบุคคลใดมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว  จะสามารถพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้

 

การออกหมายเรียกผู้ต้องหาดังกล่าว  นอกจากข้อความตามมาตรา 53 แล้ว ต้องระบุข้อหาตามมาตราใด วันเวลาสถานที่และพฤติการณ์การกระทำผิดที่จะทำให้ผู้ถูกออกหมายเรียกเข้าใจอย่างชัดแจ้งด้วย

 

2.มาตรา 59/2  ในการร้องขอต่อศาลของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้  “ออกหมายจับ”  ตามมาตรา 59 วรรคสอง ต้องได้รับความเห็นชอบพนักงานอัยการในการตรวจสอบพยานหลักฐานและมั่นใจว่า  เมื่อจับตัวบุคคลมาแล้วจะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์การกระทำผิดให้ศาลลงโทษได้เช่นกัน

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการผลเป็นประการใด ขอได้โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อจะได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนทราบต่อไปด้วย

About The Author