แต่งตั้งตำรวจ ต้องใช้ ‘เงิน’ และ ‘เส้นสาย’ รัฐธรรมนูญช่วยไม่ได้
แต่งตั้งตำรวจ ต้องใช้ ‘เงิน‘ และ ‘เส้นสาย‘ รัฐธรรมนูญช่วยไม่ได้
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาการชุมนุมของเยาวชนนักเรียนนักศึกษาและประชาชนผู้มีความคิดก้าวหน้าจำนวน หลายหมื่นคน ในกรุงเทพมหานครทุกสัปดาห์ ที่เรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก
และให้สภามีมติรับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจำนวนกว่าหนึ่งแสนคน ที่ลงชื่อเสนอในวันที่ 17 และ 18 พ.ย. ที่จะถึงนี้
หัวใจสำคัญก็คือ ให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ตัวแทนประชาชนขึ้น ทั่วประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
เพื่อให้บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยสอดคล้องกับหลักสากลและเสียงเรียกร้องของประชาชนในทุกๆ เรื่องอย่างแท้จริง
เช่น ให้มีการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่มีปัญหา โดยเฉพาะเรื่อง ตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยกเลิก วุฒิสภาแต่งตั้ง และ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ทุกรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งมาต้องปฏิบัติตาม
ปัญหาการชุมนุมของผู้คนจำนวนมากตามสิทธิและเสรีภาพที่สามารถทำได้โดยชอบตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องเช่นนี้
หากรัฐบาลยังคงคิดแต่ วิธีจัดการ ด้วยการ ยัดข้อหา แจกคดี ให้แกนนำหรือผู้ร่วมชุมนุมทุกครั้ง โดยหวังว่าจะได้เกิดความเกรงกลัวและยุติความเคลื่อนไหวสลายตัวกันไปในไม่ช้า
หรือว่าปล่อยให้คนบางกลุ่มจัดตั้งประชาชนมาชุมนุมต่อต้าน หรือแม้กระทั่ง ก่อกวน
นั่นคือการ จุดชนวน จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายไม่ว่ารูปแบบหนึ่งแบบใดในที่สุด!
จุดที่รัฐบาลและประชาชนจะสามารถพบกันได้ ด้วยความสงบยั่งยืนอย่างแท้จริง ก็คือ
ทั้งสองสภาต้อง ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เปิดทางให้มีการแก้ไขนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างแท้จริงเท่านั้น!
ระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจระดับ รองผู้บังคับการไปจนถึงรองสารวัตร แทนตำแหน่งที่ว่างหลังเกษียณราชการของทุกระดับทำกันประจำทุกปี
กลุ่มตำรวจที่เรียกกันว่า ชั้นสัญญาบัตร ทั่วประเทศไม่ว่าจะมีชั้นยศใด รวมไปถึงลูกเมียและครอบครัว แต่ละคนต่าง จิตใจไม่อยู่กะเนื้อกะตัว ไม่มีสมาธิในการทำงานการอะไร? แ
ทบทุกลมหายใจจดจ่ออยู่กับเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย เจอหน้าใครก็คุยก็ถามกันแต่เรื่องนี้ทั้งปีทั้งชาติ!
โดยเฉพาะใครที่เข้าหลักเกณฑ์มีสิทธิได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นแต่ละระดับ
ถ้าไม่ได้ทำงานมานานจนถูกจัดอยู่ในกลุ่ม อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์
หากไม่วิ่งเต้น หาเส้นสาย หรือ มีปัจจัย เสนอให้ผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชา ประกอบการพิจารณา ที่ เหนือ หรือ มากกว่า คนอื่น จนถูกเรียกว่าเป็นพวก ใจถึง พึ่งได้?
โอกาสจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง แทบจะเป็นศูนย์!
หรือแม้กระทั่งพวกที่อยู่ในกลุ่มอาวุโสซึ่งคิดว่าตนมีสิทธิ รวมทั้ง พนักงานสอบสวน ที่ถือเป็น เจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม
ที่สำคัญอย่างยิ่งหากไม่วิ่งเต้นหรือเสนออะไรให้ผู้มีอำนาจเพื่อให้แต่งตั้งไปอยู่ ในตำแหน่งที่ต้องการ
คำสั่งก็อาจออกมาเป็น สว.อำนวยการ ในแต่ละ บก.หรือ บช.ใด จังหวัดไหน ตั้งแต่เหนือยันใต้ทั่วไทยก็ได้!
ฉะนั้น ในความเป็นจริง ตำรวจผู้มีสิทธิได้รับการเลื่อนตำแหน่งทุกคน จึงล้วนต้อง “วิ่งเต้น” หรือ “มีเงิน” เป็นปัจจัยประกอบการแต่งตั้งทั้งสิ้น!
โดยเฉพาะ ผู้มีสิทธิที่อาวุโสอยู่ลำดับท้ายๆ
หนทางที่จะได้รับแต่งตั้ง ข้ามผู้มีอาวุโสสูงกว่านับร้อยนับพัน สำหรับตำแหน่ง ผู้กำกับ และระดับสารวัตรในปีนี้ซึ่งมีจำนวน กว่าสามหมื่นคน! เนื่องจากมีตำรวจระดับรองสารวัตรที่สอบมาจากชั้นประทวนซึ่งเรียกกันว่า รุ่น 7,000/1, 7,000/2 และ 7,000/3 เข้าเกณฑ์เป็นปีที่สามมีอยู่รวมประมาณ 21,000 คนแล้วก็คือ
การแสดงให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า ตน มีความสามารถ เหนือตำรวจผู้มีอาวุโสกว่าในหน่วยงานเดียวกันหรือแม้กระทั่งต่างหน่วยทุกคน!
แม้ว่าเขาจะไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นมาก่อน ไม่รู้จักประชาชน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในทุกพื้นที่เลยก็ตาม!
การแต่งตั้งตำรวจข้ามอาวุโส แท้จริงจึงไม่ใช่เรื่องว่า ใครเป็นผู้มีความสามารถในการตรวจตรารักษากฎหมายเหนือกว่าใครแต่อย่างใด?
หากแต่การมี เส้นสาย อยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์และ เงิน ยังคงเป็นปัจจัยชี้ขาด โดยถูกผู้มีอำนาจและผู้บังคับบัญชาอ้างว่าเป็น ผู้มีความรู้ความสามารถ เหนือกว่า ตำรวจคนที่ด้อยหรือมีน้อยกว่า ตลอดมา
การที่รัฐบาลหลายยุคสมัยได้ปล่อยให้ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจหมักหมมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนด หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรม มาเป็นเวลา กว่าสามสิบปี!
ทำให้ การทุจริตฉ้อฉลของตำรวจผู้บังคับบัญชา มีพัฒนาการไปถึงขนาดว่า แม้ไม่อยู่ในเกณฑ์เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้
แต่ถ้าใคร ยังอยากอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป ก็ต้องมีการเสนออะไรให้มากกว่าคนที่ต้องการตำแหน่งนั้นด้วย!
ถ้าเอาแต่นิ่งเงียบไม่ยอมพูดจาหรือเสนออะไรให้เหมาะสม ผลก็อาจ ถูกย้าย ลดชั้นลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเป็น ตำรวจฝ่ายอำนวยการ
หรือที่บางคนเรียกว่า สุสานคนเป็น ได้ในที่สุด!ต่อปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ใช้เส้นสายและเงินเป็นปัจจัยในการแต่งตั้งนี้
ได้มีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 ให้ดำเนินการปฏิรูปโดยคณะกรรมการตามมาตรา 260 ให้แล้วเสร็จในหนึ่งปีหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ตามวรรคสอง
พร้อมทั้งสำทับไว้ในวรรคท้ายว่า เมื่อครบกำหนดเวลา ถ้าการแก้ไขกฎหมายยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายใช้หลักอาวุโสตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
คณะกรรมการชุดนี้ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานได้ดำเนินการต่อจากชุด พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูปในหลายเรื่อง
เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย ให้กระทำภายในสายงานและหน่วยงาน รวมทั้ง คำนึงถึงอาวุโสเป็นหลัก
ปิดทางย้ายตำรวจจากจังหวัดหนึ่งไปกินตำแหน่งสูงขึ้นในอีกจังหวัดหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีผู้อาวุโสสูงกว่าอยู่ในจังหวัดหรือภูมิภาคนั้นอยู่มากมาย พร้อมกำหนดให้มี ระบบประเมินผลเป็นคะแนนจากตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ไว้ในอัตราส่วน 30 เปอร์เซ็นต์
แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้นำ พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ดำเนินการเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาตราเป็นกฎหมายโดยเร็ว
กลับ ละล้าละลัง ส่งไปให้ตำรวจแห่งชาติพิจารณา เมื่อกลับมาเลยกลายเป็นว่าถูก แปลงสาร ใหม่ทั้งฉบับ!
ถือเป็นร่างที่ไม่ได้มีที่มาที่ไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และไม่ได้เป็นการปฏิรูประบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจโดยยึด หลักอาวุโส เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตำรวจผู้มีสิทธิทุกคนแต่อย่างใด
ส่งผลทำให้ การวิ่งเต้น ใช้ เส้นสาย และการ ใช้เงิน ยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมตำรวจไทยต่อไป
โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ที่หลายคนคุยโขมงโฉงเฉงว่าเป็น ฉบับปราบโกง ก็ช่วยให้ความเป็นธรรมอะไรกับตำรวจที่ ไร้เส้นสายไม่มีเงิน หรือ มีเงินไม่พอ ไม่ได้!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 16 พ.ย. 2563