ไม่ได้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือหลบหนี ไม่ควรมีใครถูกออกหมายจับ
ไม่ได้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือหลบหนี ไม่ควรมีใครถูกออกหมายจับ
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ถ้าสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจคนใดไม่หูหนวกและตาบอดพร้อมกันทั้งสองข้าง ต่างต้องยอมรับว่า ปมปัญหาสำคัญของชาติในขณะนี้ที่ผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็น เยาวชน นักเรียนนักศึกษาและประชาชนผู้มีความคิดก้าวหน้าจำนวนมาก ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้มีการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ก็คือ
การที่สังคมไทย ไม่มีความยุติธรรม ในแทบทุกด้าน และต้องการ การปฏิรูปครั้งใหญ่!
ตั้งแต่ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการผู้ใหญ่ที่ก่อให้เกิด “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นอันดับหนึ่งหรือสองของโลก ในปัจจุบัน
นักการเมือง ข้าราชการ ตำรวจทหารผู้ใหญ่ ที่ใช้ หรือ “ละเว้น” ไม่ใช้อำนาจตามหน้าที่ โดยมีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉล “รับส่วยสินบน” จากผู้กระทำผิดกฎหมายหลายรูปแบบ รวมทั้งคนที่ร่ำรวยเป็นเศรษฐีอย่างมีเงื่อนงำ ล้วนอยู่ดีกินดีมีเงินและทรัพย์สมบัติเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานกันนับพันนับหมื่นล้านอย่างผิดปกติ มากมาย!
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวนาชาวไร่และกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ล้วนอยู่ในสภาพ ยากจนข้นแค้นดักดาน!
แม้แต่ละคนรวมลูกเมียจะก้มหน้าทำงานกันตลอดทั้งวัน บางคน ต้องทนทำล่วงเวลาจนร่างกายเหนื่อยล้าแทบทั้งปีก็ยังมีเงินไม่พอกินพอใช้!
หลายครอบครัวหลายคนอับจนหนทาง ต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายพร้อมกันไปอย่างอเนจอนาถก็มี!
หรือแม้แต่ ความยุติธรรมตามกฎหมายซึ่งถือเป็นหัวใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐมีหน้าที่คุ้มครองและมอบให้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีหรือมีจนอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
ก็กลับมีปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่มากมายหลายกรณี!
กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในปัจจุบันจึงไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับของคนยากจนและผู้คนซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล “ไม่ว่ายุคสมัยใด” ส่งผลทำให้สังคมไม่เกิดความสงบสุขขึ้นได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบัน นอกจากคนยากจนและแม้กระทั่งชนชั้นกลางจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีกับคนรวยหรือคนมีอำนาจกันอย่างลำบากยากเย็นแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นที่บุคคลผู้วิจารณ์หน่วยงาน และ ถูกหมายหัว ว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล รู้สึก คับแค้นใจ อย่างยิ่งก็คือ
การที่ถูกตำรวจ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา หรือถูก ศาลออกหมายจับ กันแสนง่าย!
ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนพยายามอธิบายถึงปัญหานี้แบบโง่ๆ ว่า เป็นเพราะประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา?
เมื่อมีผู้มาแจ้งความว่าผู้ใดกระทำความผิดอาญา ตำรวจก็มีหน้าที่ต้องออกหมายเรียกบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับให้มารับทราบข้อกล่าวหาโดยเร็วทันที
อ้างว่า ถ้าไม่ทำ ก็จะถือเป็นเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความผิดอาญามาตรา 157
เป็นความจริงหรือที่ว่า เมื่อใช้ระบบกล่าวหาแล้ว ผู้รับผิดชอบก็ไม่ต้องดูตาม้าตาเรือหรือรวบรวมพยานหลักฐานอะไร “ให้ชัดแจ้งสิ้นสงสัย” ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหานั้นได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ แล้วค่อยใช้วิธีออกหมายเรียกหรือเสนอศาลออกหมายจับตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป?
ใครถูกออกหมายเรียกสองครั้งให้เวลาครั้งละเจ็ดวันแล้วไม่มาพบตามหมาย ไม่ว่าข้อเท็จจริงผู้ถูกเรียกจะได้รับแล้วและพร้อมมาพบหรือไม่
บุคคลนั้นก็จะกลายเป็นผู้ถูกสันนิษฐานว่ามีพฤติการณ์หลบหนีหรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามที่ ป.วิ อาญามาตรา 66 วรรคสองบัญญัติไว้ ตำรวจสามารถไปรายงานต่อศาลขอให้ออกหมายจับเป็นขั้นตอนต่อไปได้ทันที!
ยิ่งในคดีที่มีอัตรา โทษจำคุกเกินสามปีขึ้นไป ในกรณีเป็นคนจนหรือฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ตำรวจไม่ต้องออกหมายเรียกสองครั้งให้เสียเวลาก็ได้
แค่ใช้วิธี บันทึกปากคำผู้กล่าวหาไม่ว่าจะได้พูดออกมาเองตามนั้นจริงหรือไม่?
ก็ “มั่ว” ถือว่าเป็นกรณีเข้าข่าย “มีพยานหลักฐานตามสมควร” แล้ว สามารถไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาได้ทันทีตามมาตรา 66 (1) เช่นกัน
ซึ่งส่วนใหญ่ ศาลก็มักออกหมายจับให้ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอแทบทุกราย!
เนื่องจากถือหลักว่า การออกหมายจับเป็นเพียงขั้นตอนการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวนเพื่อการรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการพิจารณาสั่ง “ฟ้อง” หรือ “ไม่ฟ้อง” คดีเท่านั้น
ไม่ได้เกี่ยวข้องที่เป็นการรับรองว่า ผู้ถูกออกหมายได้กระทำความผิดอาญาตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด?
แต่ตำรวจรวมทั้งสื่อมวลชนและผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่า บุคคลที่ถูกศาลออกหมายจับต้องกระทำความผิดอาญาตามข้อกล่าวหาอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่!
ไม่อย่างนั้น ศาลจะออกหมายจับให้ได้อย่างไร?
เมื่อจับแล้ว ทุกคนก็ถูกตำรวจสั่งให้พิมพ์มือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ไม่ว่าแท้จริงจะมีอำนาจสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เพียงเพื่อใช้ประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือของคนร้ายในที่เกิดเหตุหรือไม่ก็ตาม?
รวมทั้งการตรวจประวัติในปัจจุบันว่าใครเคยถูกดำเนินคดีอะไรมาบ้างหรือไม่ ก็สามารถกระทำได้จากเลขบัตรประชาชนโดยระบบ Polis แทนได้แสนง่าย
แต่ผู้ที่ตกเป็นต้องหาส่วนใหญ่ ล้วนต้องจำใจพิมพ์ไปเพื่อมิให้ถูกยัดข้อหา ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มอีกข้อหาหนึ่ง!
ซึ่งการแจ้งข้อหาไม่ว่าจะไปตามหมายเรียกหรือถูกจับตามหมาย จะทำให้ทุกคนมีประวัติอาชญากรรมติดตัวไปจนตาย แม้สุดท้ายอัยการจะสั่งไม่ฟ้องหรือศาลพิพากษายกฟ้องก็ตาม!
ในสังคมที่เจริญ การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือออกหมายจับ จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ ศาลจะไม่ออกให้ตำรวจหรือเจ้าพนักงานหน่วยงานใดกันง่ายๆ แบบประเทศไทย
ปัญหาสำคัญที่เกิดจากการออกหมายจับอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อตำรวจได้หมายจับจากศาลมาแล้ว ก็จะนำมาเผยแพร่และแจกจ่ายกันให้แต่ละคนถือไว้!
ส่วนจะขวนขวายสืบจับบุคคลใดหรือไม่ เมื่อใด และอย่างไร จะแต่งเครื่องแบบหรือไม่ จะใช้วิธีขับรถยนต์ส่วนบุคคลปาดหน้ารถของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเวลากลางวันหรือแม้กระทั่งกลางคืน สามารถทำได้อย่างอิสรเสรี!
โดยขั้นตอนนี้ถือเป็น “เอกสิทธิ์ในการปฏิบัติ” ของตำรวจไทยที่ไร้การตรวจสอบและควบคุมจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง!
ตร.ไม่ เช่น กรณีการจับ น้องมายด์ นักศึกษาสาวคณะวิศวกรรมศาสตร์ปีที่ 4 แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ซึ่งเธอได้อาสาทำหน้าที่เป็นผู้นำการชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนหลายครั้ง
ในที่สุด เธอได้ถูกศาลออกหมายจับตามที่ตำรวจได้ยื่นคำร้องขอไว้ ซึ่งไม่ทราบว่าแต่เมื่อใด และ ข้อหาร้ายแรงอุกฉกรรจ์เรื่องอะไร?
จะใช่กรณีการร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ตุลา.ที่ผ่านมา ซึ่งตำรวจบางคนบอกว่า เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่?
แต่ศาลก็ได้ออกให้ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ตำรวจหลายหน่วยนำมาถือไว้อยู่หลายวัน!
ในคืนวันที่ 21 ต.ค.2563 หลังยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลาประมาณ 22.30 น. เธอได้เดินทางกลับบ้านกับเพื่อนตามปกติ ระหว่างนั่งพักที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในซอยเปลี่ยว
มี “ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบ” หลายคนปรากฏกายโดยใช้หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า แสดงหมายจับเข้าจับกุมและควบคุมตัวเธอขึ้นรถยนต์ไป!
การออกหมายจับบุคคลที่รัฐธรรมนูญสันนิษฐานว่าทุกเป็นผู้บริสุทธิ์ให้ตำรวจไปถือไว้ และสามารถจะใช้จับบุคคลเมื่อใด ที่ใดและอย่างไร แม้กระทั่งในยามวิกาลก็ได้เช่นในกรณีการจับน้องมายด์นี้ และ อีกมากมายหลายคดี!
เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขและปฏิรูปให้สอดคล้องกับการปฏิบัติในนานาอารยประเทศ
ต้อง แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ในเรื่องที่ว่าด้วย การตรวจค้นและจับกุม ที่ต้องกำหนดให้บันทึกภาพและเสียงเป็นหลักฐานไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกตรวจค้นและถูกจับทุกคน
การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับการตรวจสอบพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการ ซึ่งจะเห็นชอบได้เฉพาะในกรณีที่บุคคลนั้นมีพฤติการณ์หลบหนีอย่างแท้จริง หรืออาจไปทำลายพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด
รวมทั้งต้องมั่นใจว่า เมื่อออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจับตัวใครตามหมายจับมาควบคุมแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 26 ต.ค. 2563