ประชาชนชุมนุมกันตาม รธน. ตามสิทธิ กลายเป็นผิดกฎหมายร้ายแรงไปได้อย่างไร?
ประชาชนชุมนุมกันตาม รธน. ตามสิทธิ กลายเป็นผิดกฎหมายร้ายแรงไปได้อย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์ความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลที่แสดงออกด้วยการชุมนุมกันเป็นจำนวนมากในที่ต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายจะจบลงอย่างสงบได้อย่างไร?
จะมี คนหนุ่มสาว ต้องถูกจับตัวไปคุมขังหรือได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้น หรือ ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต หรือไม่!
รวมทั้งอาจส่งผลทำให้ เกิดการปฏิวัติยึดอำนาจ โดยกลุ่มทหารผู้ถืออาวุธพาชาติ เดินถอยหลังไปอีกหลายสิบปี
เพื่อที่จะ ตั้งหลักร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงกันใหม่ ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เมื่อยึดอำนาจแล้ว จะสามารถควบคุมสถานการณ์การต่อต้าน วุ่นวาย ไม่ยอมรับของประชาชนและนานาชาติ ทำให้เกิดความสงบขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริงหรือไม่?
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ที่บอกว่าได้รับฉันทามติจากประชาชนในการเลือกตั้งมาตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโดยสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้ง ส.ว. ที่ “หัวหน้า คสช.” “เลือกมากับมือ” ซึ่งแต่ละคนสามารถเชื่อถือและไว้วางใจได้ก็ตาม?
ฉะนั้น เมื่อไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไร ก็ไม่มีใครมีสิทธิมาขับไล่ให้พ้นออกไปจำตำแหน่งแต่อย่างใด?
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในสถานที่เชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ ผู้ที่เป็นเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษา รวมตัวกับประชาชนทุกชนชั้นหลายอาชีพ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้กระทั่งเมื่อครั้งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงกว่าสิบปีที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏ
คงทำให้นายกรัฐมนตรีประหลาดใจว่า ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเยาวชนและคนหนุ่มสาวจำนวนมากเกิดความไม่พอใจต่อตนเองในเรื่องอะไร?
เหตุใดเขาจึงออกมาชุมนุมกันด่าทอต่อว่าขับไล่ให้ออกไปให้พ้นจากตำแหน่งกันมากถึงขนาดนี้!
ปัญหาคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไม่ได้ทำผิดหรือละเลยต่อหน้าที่อะไรจริงหรือไม่?
ในการบริหารราชการบ้านเมืองและความเป็นเจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่งนั้น ทุกคนล้วนถูกกำหนดให้ทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบตามที่กฎหมายและระเบียบต่างๆ กำหนดไว้มากมาย
ใครไม่ทำหน้าที่ หรือทำไม่ครบถ้วน ล้วนถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทั้งอาญา วินัย รวมทั้งจรรยาบรรณและจริยธรรมของผู้เป็นข้าราชการและผู้ดำรงทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น
“อยู่เฉยๆ ก็ทำความผิดได้ หากผู้นั้นไม่ทำในสิ่งที่มีหน้าที่หรือมีพันธสัญญาให้ต้องทำ”
ทุกฝ่ายต้องยอมกันว่า รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งหลักที่แท้จริงคือ รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ปี พ.ศ.2560 เป็นสำคัญ
ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น ระเบิดเวลาลูกใหญ่ ของสังคมไทยที่มีผู้ประกอบและวางตั้งเวลาเอาไว้ ไม่ว่าจะโดยมี “เจตนาร้าย” หรือ “เจตนาดี” ก็ตาม!
ในปี 2557 หลังการปฏิวัติยึดอำนาจของคณะ คสช. แม้คนส่วนใหญ่จะรู้ว่าได้ทำให้บ้านเมืองถอยหลังไปอย่างมาก แต่ทุกคน ต่างกัดฟันยอมอดทน หวังให้โอกาสพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เป็นหัวหน้าได้บริหารราชการ รวมทั้งเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตลอดมา
แต่เมื่อเวลาได้ล่วงเลยมากว่า 7 ปี โดยเฉพาะช่วงที่ มีอำนาจหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นเผด็จการ
ประชาชนกลับไม่เห็นการปฏิบัติในการปฏิรูปเรื่องสำคัญที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้อย่างใด?
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ที่สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนคนชั้นกลางและยากจนอย่างแสนสาหัสอยู่ปัจจุบัน
กระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง ของไทยยังคงถูกปล่อยให้ ตำรวจผู้มีอำนาจและระบบการปกครองแบบมีชั้นยศเช่นเดียวกับทหารผูกขาดงานสอบสวนเอาไว้อย่างไร้เหตุผล สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการ เรียกรับส่วยสินบน หรือแจ้งข้อหาต่อประชาชนคนยากจนรวมทั้งผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐได้แสนง่าย!
การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน “ล้มคดี” เพื่อช่วยคนมีเงินหรือผู้มีอำนาจก็ยังสามารถกระทำได้โดยไร้การตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะในเงื่อนไขที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อหลายเดือนก่อน และต่อเนื่องเรื้อรังมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ก็ยิ่งได้ทำให้ตำรวจมีอำนาจในการตรวจค้นและจับกุมประชาชนเพิ่มขึ้นอีกหลายข้อหามากมาย โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้าย
รวมทั้งในปัจจุบันที่เกิดการชุมนุมของประชาชน โดยสงบ จำนวนมากซึ่งเกินความสามารถของรัฐในการใช้กฎหมายอาญาหรือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินปกติเข้าจัดการหรือควบคุมได้
ทำให้มีการประกาศยกระดับเป็น สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมอบหมาย ให้ ผบ.ตร.เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขและให้มีอำนาจออกข้อกำหนดต่างๆ มากมาย
สามารถสั่งปลัดกระทรวงทุกกระทรวงและข้าราชการทุกคนให้ปฏิบัติตามคำสั่งได้!
หวังเพื่อให้ตำรวจมีอำนาจในการสลายการชุมนุม รวมทั้งจับกุมตัวแกนนำไปขังและดำเนินคดีโดยที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติที่ตาม ป.วิ อาญา บัญญัติไว้แต่อย่างใด?
ส่งผลทำให้ “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากตามรัฐธรรมนูญที่สี่แยกปทุมวันเมื่อสามวันก่อน กลายเป็นกระทำที่ผิดกฎหมายไปทันที
และถูกตำรวจ “ใช้น้ำผสมสีและสารเคมี” ฉีดไล่ไม่ต่างจากขยะเพื่อให้พ้นไปจากถนนที่ชุมนุมกันอยู่นั้น
ในทุกรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ล้วนมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธด้วยกันทั้งสิ้น
แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็ปรากฏอยู่ในมาตรา 44
ซึ่งการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นเท่านั้น
กฎหมายที่ออกมาจำกัดสิทธิการชุมนุมของประชาชนดังกล่าว ในช่วงการยึดอำนาจโดยบทบาทของวุฒิสภาผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2548
ซึ่งได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมและผู้รับผิดชอบในการจัดการเอาไว้มากมาย!
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ผู้คนออกไปชุมนุมกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือการเมืองใด ก็ส่งผลทำให้ทุกคนล้วนต้องเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายตามข้อกำหนดและข้อห้ามต่างๆ สารพัดด้วยกันทั้งสิ้น
ตั้งแต่ต้องไม่กีดขวางทางจราจร ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยความดังที่กำหนดและอีกสารพัด
ทำให้สุดท้ายผู้จัดและผู้ไปแจ้งการชุมนุมต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมมีโทษ จำคุกถึงหกเดือน กันแทบทุกราย!
ยิ่งในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง นายกรัฐมนตรีได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 11 ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมจากสถานการณ์ฉุกเฉินปกติอีกหลายประการ เช่น
(1) มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมก่อให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง รวมทั้งผู้ใช้ ผู้โฆษณา และผู้สนับสนุน หรือ แม้กระทั่งผู้ปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำ
(2) พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ออกคำสั่งเรียก ให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง
(3) มีอำนาจยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้าที่สงสัยว่าได้ใช้หรือจะใช้ในการสนับสนุน
(4) ตรวจค้น รื้อถอน หรือทำลายอาคาร สิ่งปลูกสร้างทุกชนิด
(5) ออกหมายคำสั่งตรวจจดหมาย สิ่งพิมพ์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด หรือระงับยับยั้งการติดต่อสื่อสารทุกชนิด
(6) ห้ามกระทำหรือสั่งให้กระทำการใดๆ เพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ และอีกหลายข้อมากมาย แม้กระทั่ง ให้ฝ่ายทหารทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตำรวจ!
ฯลฯ
ผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามและข้อกำหนดต่างๆ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งร้ายแรงและไม่ร้ายแรง มีโทษ จำคุกถึงสองปี
ในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มีอำนาจร้องขอต่อศาลเพื่อจับกุมและควบคุมตัว ผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อให้สถานการณ์ร้ายแรงนั้น ทุกคนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อหาอะไรได้เป็นเวลา 7 วัน
และขอต่อศาลให้ขยายเวลาไปได้เรื่อยๆ อีกครั้งละ 7 วัน รวมทั้งสิ้น 30 วัน!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 19 ต.ค. 2563