คดีน้องชมพู่ ทำไมจึงจับคนร้ายไม่ได้?

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                 คดีน้องชมพู่ ทำไมจึงจับคนร้ายไม่ได้?

 

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

กรณีน้องชมพู่ได้หายตัวไปจาก บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ในช่วงเช้าของวันที่ 11 พ.ค.63 แล้วมีผู้คนรวมทั้งเจ้าพนักงานหลายฝ่ายได้ช่วยกันตามหาจนพบกลายเป็นศพอยู่บนภูเหล็กไฟในวันที่ 14 พ.ค. ห่างจากบ้านพักอาศัยในทางตรง 1.2 กม. แต่ถ้าเดินลัดเลาะตามภูมิประเทศจะเป็นระยะทางประมาณ 1.7 กม.

โดยตำรวจตั้งสมมุติฐาน แต่แรกที่พบศพ ว่า น่าจะถูกฆ่า โดยคนร้ายใจอำมหิตลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด?

เนื่องจากร่างกายของน้องชมพู่อยู่ในสภาพเปลือยทั้งตัวเช่นเดียวกับคดีที่มีการล่วงละเมิดทางเพศทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่ถูกกระทำ

การสอบสวนรวมทั้งการให้ข่าวของตำรวจผู้ใหญ่จึงเป็นอย่างมั่นใจว่า น้องชมพู่ถูกคนร้ายซึ่งไม่ทราบเป็นใครนำตัวขึ้นไปล่วงละเมิดและฆ่าบนภูเขานั้นอย่างแน่นอน

จะต้องสืบจับมารับโทษตามกฎหมายให้ได้

แต่เมื่อผลการตรวจชันสูตรศพโดยแพทย์หัวหน้านิติเวชของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ชี้ว่า

ไม่ปรากฏบาดแผลการถูกทำร้ายหรือมีร่องรอยของการกระทำให้ตายแต่อย่างใด

ทำให้ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรม ไม่แน่ใจในผลการตรวจชันสูตรนั้นว่าเที่ยงตรง สามารถเชื่อถือได้หรือไม่?

เป็นเหตุให้เกิดการส่งศพไปตรวจที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจอีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งครั้งนี้ กลับได้ผลที่แตกต่างออกไป โดยแพทย์ผู้ตรวจได้ออกรายงานว่า พบบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ? ทำให้ผู้คนทั้งประเทศรวมทั้งตำรวจผู้ใหญ่และพ่อแม่ของชมพู่หลงเข้าใจว่าถูกล่วงละเมิดในลักษณะที่เป็นอาชญากรรมทางเพศอย่างแน่นอนนับแต่นั้นเป็นต้นมา

และการสืบสวนสอบสวนก็ได้มุ่งกระทำไปตามสมมุติฐานนั้น โดยได้มีการเริ่มคดีข้อหา ฆ่าผู้อื่น โดยยังไม่รู้ว่าผู้กระทำผิดคือใคร จะได้พยายามสืบหาตัวต่อไป

ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่า ในการเริ่มคดีอาญาตามข้อหาดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้อ้างอิงพยานหลักฐานอะไรในการดำเนินคดี?

และเมื่อแพทย์นิติเวชของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ได้ถูกคณะกรรมาธิการและการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎรเชิญให้มาชี้แจงผลการตรวจในที่ประชุม

ก็กลับอธิบายว่า “บาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ” ที่ระบุในรายงานนั้น ไม่ได้หมายถึงการถูกล่วงละเมิดตามที่ตำรวจและคนส่วนใหญ่เข้าใจแต่อย่างใด?

แต่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น มดกัด หรือแม้กระทั่งเป็นแผลจากชันสูตรศพครั้งแรก! ทำให้หลายฝ่ายหงายเงิบไปตามๆ กัน!

แต่ปัญหาสำคัญก็คือ คดีอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นได้ดำเนินไปแล้ว

ส่งผลทำให้ ลุงพล และ ป้าแต๋น ผู้ต้องสงสัยรายแรก! กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลัวจะถูกจับเป็น แพะ เพื่อพยายามปิดคดีในที่สุด

แต่ลุงพลแสดงท่าทีขึงขัง ไม่ยอมให้ตำรวจกระทำอย่างมั่วๆ โดยง่ายเหมือนหลายคดีที่ผ่านมา

ทำให้จนกระทั่งป่านนี้ เวลาผ่านมากว่าสี่เดือน ก็ยังไม่มีคำตอบหรือแม้กระทั่งคำอธิบายว่า ใครน่าจะเป็นคนร้าย ผู้ฆ่ามีเจตนาทำให้ตาย หรือกระทำประมาทด้วยวิธีการใด และมีเหตุจูงใจเพื่ออะไร?

เพียงแต่ตำรวจและคนส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ในการที่น้องชมพู่จะเดินขึ้นเขาไปเอง ด้วย ข้อสันนิษฐาน 8 ประการ?ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นพื้นที่ลาดชันเด็กเดินลำบาก การกลัวต้นยางพารา การไม่ได้กินอาหารเช้าเพียงพอ หรือเด็กวัยนี้ไม่สามารถถอดเสื้อผ้าเองได้ ฯลฯ

ปัญหาคือ เป็นความจริงหรือไม่?

เพราะสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้กับสิ่งที่เป็นไปได้ยากนั้น เป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง!

ผบ.ตร.บอกว่า แม้ขณะนี้คดีจะยังไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าใครเป็นคนร้าย แต่ก็จะพยายามสืบจับคนร้ายให้จงได้ภายในกำหนดอายุความตามกฎหมาย

ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นระยะเวลาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมีอายุความ 20 ปี หรือว่ากักขัง หน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปีกันแน่?

และปัญหาที่สำคัญก็คือ ชาวบ้านกกกอกจะต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาและมองหน้าซึ่งกันและกันอย่างไม่สนิทใจแม้กระทั่งคนที่เป็นญาติพี่น้องไปอีกนาน เนื่องจากอาชญากรซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใครแม้กระทั่ง “ลุงพล” หรืออาจเป็นพ่อแม่ ยังลอยนวลอยู่ในหมู่บ้าน!

โดยไม่มีใครรู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด รัฐจึงจะสามารถจับตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายให้ผู้คนในชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด รวมทั้งประเทศสิ้นสงสัยได้?

การตั้งสมมุติฐานว่าน้องชมพู่ถูกคนร้ายทำให้ตายในขณะที่ไม่มีหลักฐานอะไร ไม่ว่าจะเป็นในทางวิทยาศาสตร์หรือพยานบุคคลบ่งชี้เช่นนั้น

จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการสืบสอบหาตัวผู้กระทำผิด และทำให้ตำรวจปิดคดีไม่ลงจนกระทั่งบัดนี้

หรือแม้ในที่สุด จะสามารถตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากเส้นผมหรือเส้นขนที่ตกในที่เกิดเหตุตรงกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด  แต่การสรุปว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำให้น้องชมพู่ถึงแก่ความตาย ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง

เพราะระหว่างการค้นหา ก็มีญาติพี่น้องและชาวบ้านมากมายหลายคนที่ขึ้นไปช่วยกันตามหากันบนภูเขานั้น

ระบบงานสอบสวนและนิติเวช รวมทั้งนิติวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม ต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

ผู้ปฏิบัติงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทุกคนต้องมีอิสระในการปฏิบัติงานด้วยความรู้ความชำนาญตามมาตรฐานวิชาชีพที่เป็นหลักสากลซึ่งถูกกำหนดไว้

ไม่ว่าจะด้วยวิธีกำหนดเป็นสายงานและ คุณสมบัติเฉพาะทุกตำแหน่ง เอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายคนไม่มีคุณวุฒิและคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่งกันแบบมั่วๆ ในปัจจุบัน

หรือถ้าหากจะคิดให้โอนย้ายงานเหล่านี้ออกจากตำรวจแห่งชาติไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้ก็ยิ่งดี

บุคลากรผู้มีความรู้เฉพาะทางเหล่านี้จะได้ไม่อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็น ความอยากได้ตำแหน่ง หรือ ความเกรงกลัวตามชั้นยศของตำรวจไทยแบบทหาร ที่ถูกนำมาใช้ในการปกครองพนักงานสอบสวน แพทย์และนักวิทยาศาสตร์มานานแม้กระทั่งปัจจุบัน

การตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งโดยผู้บังคับบัญชาตามสายงาน ต้องไม่ใช่การแทรกแซง แม้กระทั่ง สั่ง หรือ จูงใจ ให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำ หรือคิดทบทวนใหม่โดยใช้วิธีที่วิปริตวิปลาส อย่างนั้นอย่างนี้

โดยที่ผู้สั่งที่มียศสูงกว่าไม่ต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอะไรเช่นที่เป็นในปัจจุบัน

คดีอุกฉกรรจ์ โดยเฉพาะคดีมีคนถูกฆ่าตาย เจ้าพนักงานหลายฝ่ายในท้องถิ่นตั้งแต่นายอำเภอ

กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐาน อัยการ และพนักงานสอบสวนต้องร่วมตรวจที่เกิดเหตุ รับรู้การ เก็บรวบรวมพยานหลักฐานลงชื่อรับรองไว้พร้อมกัน

คดีที่มีอัตราโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป ทั้งคดีที่สำคัญ เช่น คดีบอส และอื่นๆ อีกมากมาย

อัยการต้องมีอำนาจเข้าตรวจสอบหรืออาจเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการสอบสวนตั้งแต่เกิดเหตุได้

คำสั่งเกี่ยวกับการสอบสวนทุกเรื่อง ต้องกำหนดให้กระทำเป็นหนังสือเพื่อเป็นหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนถือปฏิบัติในการสอบสวนเช่นเดียวกับการปฏิบัติในนานาอารยประเทศทั่วโลก.

คดีน้องชมพู่

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 5 ต.ค. 2563

About The Author