ตำรวจสอบสวนให้บอสหลุดรอดทุกคดี ต้องมีใครติดคุก ถูกไล่ออกปลดออกบ้าง
ตำรวจสอบสวนให้บอสหลุดรอดทุกคดี ต้องมีใครติดคุก ถูกไล่ออกปลดออกบ้าง
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
จากปรากฏการณ์ การสอบสวนแบบพิลึกพิลั่นในคดีบอสขับรถชนตำรวจตาย ที่สุดท้ายทำให้ หลุดรอดทุกคดี รองอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง และ ผบ.ตร.ก็เห็นชอบ ไม่ได้ทำความเห็นแย้งเสนออัยการสูงสุดให้วินิจฉัยอะไร
นอกจากจะทำให้หลายฝ่ายส่งเสียงเอะอะกันใหญ่แล้ว ยังส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งชาวโลกได้รู้และตระหนักถึงปัญหา กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของไทย อย่างมีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้นชนิดที่เรียกว่าไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยทีเดียว
โดยเฉพาะ ในชั้นการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ว่าเชื่อถืออะไรไม่ได้ ส่งผลเสียหายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือ การปกครองโดยกฎหมาย และความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง!
เริ่มแต่เรื่องที่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบรวมทั้ง พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ ทุกระดับไปจนถึงชั้นนายพลหลายคนที่สั่งการโขมงโฉงเฉงในวันเกิดเหตุ แต่ไม่ได้สั่งการให้มีการตรวจความเมาของบอสทันทีที่พบตัวและเป็นผู้ต้องหา ปล่อยให้เวลาเนิ่นช้าผ่านไปถึง สิบชั่วโมงจึงค่อยตรวจ?
ด้วยเหตุผลของบางคนที่อ้างในเวลาต่อมาว่า ในช่วงเช้าไม่สามารถเข้าบ้านเพื่อค้นหาตัวบอสได้ ต้องรอหมายศาลถึง 16.00 น. จึงทำให้มีโอกาสเข้าไปในบ้านและพบตัวตรวจได้ในเวลานั้น จริงหรือไม่?
ทำให้เกิดวลีขำๆ ที่ใช้กันได้เฉพาะคนเป็นเศรษฐีหรือมีอำนาจ ส่วน คนจนและผู้คนทั่วไปอย่าได้เลียนแบบเป็นอันขาด ก็คือ เมาหลังขับ
เฉพาะประเด็นนี้ ผ่านมาเกือบ 8 ปี ก็ยังไม่เคยได้ยินใครบอกว่า ต้องมีตำรวจคนใดรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นทางอาญาหรือวินัยอะไรในเรื่อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลเสียหายต่อคดีนี้อย่างร้ายแรง บ้างเลย
จนกระทั่งหลังจากเกิดคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการที่อื้อฉาวไปถึงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีบอกว่า คดีบอส ไม่โอเค และส่งผลให้ได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบการสอบสวนตั้งแต่วันเกิดเหตุจนกระทั่งมีคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ
ฝ่ายตำรวจจึงได้แถลงว่า การไม่ตรวจวัดความเมาในโอกาสแรกที่ทำได้ เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับผิดชอบเข้าข่ายเป็นความผิดอาญา แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นตำรวจระดับใดบ้าง?
พนักงานสอบสวนเป็นผู้ละเว้นไม่ได้สั่งให้ตรวจเองหรือกระทำตามคำสั่งของใคร?
นอกจากนั้น แม้กระทั่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าแน่ๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ในที่สุดก็ยังแพ้อำนาจอิทธิพลและแรงกดดันของตำรวจผู้บังคับบัญชาผู้มียศสูงกว่าอยู่ดี
หลักฐานสำคัญที่จะยืนยันเรื่องการที่บอสขับรถในเขตเมืองด้วยความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็คือ
ภาพจากกล้องวงจรปิดที่รถของบอสแล่นจากจุดหนึ่งไปถึงอีกจุดหนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ออกรายงานเป็นหลักฐานประมาณหนึ่งเดือน หลังการตรวจและคำนวณความเร็วได้ ถึง 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และถือเป็นพฤติกรรมขับรถประมาทร้ายแรงของบอสที่ชัดเจน ไม่สามารถต่อสู้คดีให้หลุดรอดได้
แต่การดำเนินคดีข้อหานี้ กลับถูกปล่อยให้ขาดอายุความฟ้องคดีภายในหนึ่งปีไป!
รวมทั้งในข้อหา ชนแล้วหนี ที่ตามกฎหมาย ถือเป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นฝ่ายประมาท มีอายุความฟ้องคดีภายใน ห้าปี ก็ถูกปล่อยให้ขาดอายุความไปในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน
หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับคดีที่เหลืออยู่จึงมีเพียงรายงานผลการตรวจพิสูจน์เรื่องความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งพนักงานสอบสวนยังสามารถใช้เป็นหลักฐานสรุปเสนอให้อัยการสั่งฟ้องข้อหาประมาทให้ศาลพิพากษาลงโทษได้
แต่ก็กลายเป็น โจทย์ใหญ่ สำหรับทีมสอบสวนคือ จะทำอย่างไรให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ออกรายงาน ลด หรือ ตั้งข้อสงสัย ในเรื่องความเร็วว่าอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดย ให้เหลือไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เป็นที่มาทำให้ พลตำรวจเอกนอกราชการคนหนึ่ง พา ดร.อาจารย์ที่บอกว่าเป็นผู้ชำนาญการเรื่องยานยนต์มาพบกับ พันตำรวจโทผู้ออกรายงานในช่วงต้นปี 2559
โดยมีผู้บังคับบัญชาของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานนายพลหลายระดับหลายคนร่วมอยู่ในวงนั้นด้วย
มีการบอกให้ทบทวนการคำนวณหาความเร็วด้วยวิธีการสมัยใหม่? ใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่นานหลายชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายสองยันสี่ทุ่ม ปรากฏว่าได้ 79.23 กม. ต่อชั่วโมง ไม่เกินกฎหมายกำหนดตามสูตรของอาจารย์
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ รีบสอบปากคำ พันตำรวจโทที่ กำลังงงๆ อยู่ คนนั้น บอกให้ลงชื่อไว้ในลักษณะที่ให้เป็นการถ้อยคำว่า
ไม่แน่ใจในรายงานครั้งแรก อาจเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้
ส่งผลทำให้รายงานเรื่องความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมงของ พฐ.เกิดปัญหาความน่าเชื่อถือลดลงทันทีกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ออกรายงานเองเป็นคนบอกว่าไม่แน่ใจ อาจเกิดความผิดพลาด
แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน พ.ต.ท.คนดังกล่าวชักเอะใจ ได้ปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นทีมงานอีกหลายคน และนำวิธีคำนวณที่พิลึกพิลั่นห่างกันถึง 100 กม.นั้นมาตรวจสอบใหม่ โดยแน่ใจว่าที่รายงานที่ออกไปนั้น ถูกต้องแน่นอน
จึงได้พยายามติดต่อกับพนักงานสอบสวนขอยกเลิกคำให้การที่ลงชื่อไป เปลี่ยนใหม่เป็นแน่ใจในความเร็วตามรายงาน
แต่พนักงานสอบสวนบอกว่า ได้ส่งสำนวนและบันทึกปากคำนั้นให้อัยการไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้ และข้อหาเรื่องขับรถเร็วก็ขาดอายุความไปแล้ว
ต่อมาอัยการผู้รับผิดชอบก็ได้สั่งฟ้องคดีไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน แม้จะมีคำให้การของพันตำรวจโทผู้ออกรายงานว่าอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้
สั่งให้ตำรวจตามจับตัวบอสตามหมายศาลมาฟ้องภายในอายุความ 15 ปี คือหมดอำนาจฟ้องวันที่ 4 กันยายน 2570
แต่บันทึกคำให้การที่ไม่แน่ใจของพันตำรวจโทคนดังกล่าวเลยกลายเป็น สารตั้งต้น ในการร้องขอความเป็นธรรมของบอสต่อ กมธ.กฎหมาย สนช. ซึ่งมี พลตำรวจเอกทั้งในและนอกราชการหลายคน อยู่ใน ทีมงาน นั้นด้วย
พิจารณากันอยู่หลายครั้ง จนกระทั่งได้มีการส่งคำร้องดังกล่าวให้อัยการสูงสุดสอบพยานบุคคลสองปากที่เห็นว่าบอสไม่ได้ขับรถเร็วแต่อย่างใด
รองอัยการสูงสุดผู้รับผิดชอบจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานสองปากเพิ่มเติมตามที่ กมธ.สนช.แจ้งมา
นายจารุชาติและพลอากาศโทพยานทั้งสองได้ให้การสอดคล้องต้องกันว่าเห็นนายดาบวิเชียรขี่รถเปลี่ยนช่องทางจากซ้ายไปขวาอย่างกะทันหัน เป็นเหตุรถบอสซึ่งขับมาด้วยความเร็วเพียง 50-60 กม.ต่อชั่วโมง ชนจนถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนส่งไปให้อัยการพิจารณา
รองอัยการสูงสุดเห็นว่า หลักฐานเรื่องความเร็วตามรายงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานมีข้อเคลือบแคลงน่าสงสัย ผู้ออกรายงานให้การว่าไม่แน่ใจอาจคลาดเคลื่อนได้ ประกอบกับพยานบุคคลที่ตำรวจสอบไว้หลายปาก ตั้งแต่พันตำรวจโทตำรวจจราจรกลางสองคน แม้กระทั่งคนเป็นอาจารย์ระดับ ดร.ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งนายจารุชาติ และพลอากาศโทอีกคนหนึ่ง ยืนยันตรงกันว่า บอสขับรถเร็วเพียง 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
จึงสั่งไม่ฟ้องไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน?
ส่วนความจริงเป็นเช่นไร จะปรากฏออกมาก็ต่อเมื่อ นายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบควบคุมให้มีการดำเนินคดีอาญาและวินัยร้ายแรงกับตำรวจกับผู้รับผิดชอบการสอบสวนทุกขั้นตอนและทุกระดับอย่างจริงจังแล้วเท่านั้น.
ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าวไทย
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 17 ส.ค. 2563