‘สมชาย หอมลออ’ชี้งานนิติวิทยาศาสตร์ต้องเป็นอิสระจากพนักงานสอบสวน-ไม่สังกัดตำรวจ โอด!ผลักดันมาตั้งแต่ปี 40แต่ไม่ไปถึงไหนเพราะผู้มีอำนาจไม่ยอม
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2563 นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โพสต์ความเห็น เรื่อง งานนิติวิทยาศาสตร์ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไม่มีแพทย์นิติวิทยาศาสตร์หรือชั้นยศ ภายหลังมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “นิติวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เชื่อถือได้แค่ไหน (ศึกษากรณีน้องชมพู่ , ครูจอมทรัพย์ ,มิก หลงจิ ,น้องหญิง และหวย 30 ล้าน ฯลฯ )” เมื่อวันที่ 7ก.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาดังนี้
1.แพทย์นิติเวชศาสตร์ 200 คน แม้ไม่มากแต่เพียงพอ หากรัฐสนับสนุน ทั้งในแง่อำนาจหน้าที่ ค่าตอบแทน และการบริหารจัดการ โดยให้ประจำอยู่ตามมหาวิทยาลัยที่มีคณะหรือศูนย์บริการแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อม โดยให้แพทย์นิติเวชเน้นเรื่องการผ่าศพแยกธาตุและงานที่ใช้หลักนิติเวชศาสตร์ และ
2.การชันสูตรพลิกศพโดยทั่วไป แพทย์ที่กระจายประจำอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอหรือจังหวัดต่างๆสามารถทำได้ การชันสูตรพลิกศพโดยทั่วไปไม่ซับซ้อน เนื่องจากการตายส่วนใหญ่เป็นการตายตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตายโดยถูกทำให้ตายหรือฆาตกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ สำหรับกรณีซับซ้อนหรือเป็นที่สงสัยว่าจะถูกทำให้ตาย ฆาตกรรมหรือไม่ทราบสาเหตุ แพทย์ทั่วไปที่ทำการชันสูตรพลิกศพให้สามารถปรึกษาแพทย์นิติเวชได้ โดยการใช้เทคโนโลยีสื่อสาร ถ่ายภาพขณะชันสูตรพลิกศพก็ได้
3.ในบางกรณี ซึ่งน้อยมาก จึงส่งศพให้ผ่าพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวช
4.ประเด็นสำคัญคือ แพทย์นิติเวช รวมทั้งงานนิติวิทยาศาสตร์ต้องเป็นอิสระ เรื่องชั้นยศเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ที่สำคัญหรือต้องเป็นหน่วยงานที่แยกเป็นอิสระจากพนักงานสอบสวน ไม่ใช่สังกัด ร.พ. ตำรวจ หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สังกัด สตช. มีหลายกรณีเป็นที่สงสัยว่าไม่สามารถทำงานโดยอิสระได้ เช่น (1) ในคดีโด่งดัง สำคัญๆ ที่ สตช.ตั้งธงหรือต้องเอาผิดผู้ต้องสงสัยให้ได้ มีการกล่าวหาว่าในการผ่าศพแพทย์นิติเวชที่เข้าเวรไม่ได้เป็นผู้ผ่าศพ หรือมีการผ่าศพครั้งที่สองโดย แพทย์นิติเวช ร.พ.ตำรวจ ดังกรณีของน้องชมพู่เป็นต้น (2) ปกติในการผ่าศพจะมีการแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบระหว่างแพทย์นิติเวช เช่น ร.พ. ธรรมศาสตร์รับผิดชอบจังหวัดรอบนอก กทม.ตอนบน เช่นปทุมธานี อยุธยา ร.พ.ศิริราชรับผิดชอบฝั่งธนเป็นต้น แต่ในคดีที่สำคัญๆ หรือคดีมีธง พนักงานสอบสวนจะส่งศพไปผ่าที่ ร.พ.ตำรวจ ข้ามหน้า ร.พ.ธรรมศาสตร์หรือ ร.พ.ศิริราชไป
5.ความไม่เป็นอิสระนั้น รวมทั้ง แพทย์นิติเวชหรือพนักงานพิสูจน์หลักฐาน ตามกฎหมายมีฐานะเป็นเพียงผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเท่านั้น ไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งๆที่ทำงานสำคัญ ชี้เป็นชี้ตายให้ผู้ต้องหารับโทษหรือไม่ก็ได้ เมื่อเป็นเพียงผู้ช่วยพนักงานสอบสวน จึงต้องตรวจสอบตามที่พนักงานสอบสวนสั่งเท่านั้น เช่นในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับฝ่ายตรงข้าม พนักงานสอบสวนจะสั่งให้พนักงานพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบเฉพาะวิถีกระสุนที่ยิงจากฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น ไม่ตรวจสอบวิถีกระสุนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ เป็นต้น (เช่นในกรณีการปะทะกันในเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช. ในปี 2553 บริเวณบ่อนไก่)
6.เจ้าหน้าที่ สนง.พิสูจน์หลักฐานส่วนมากเป็นนักวิทยาศาสตร์แต่ผู้บัญชาการสำนักงานฯซึ่งเป็นหัวหน้า เป็นนายตำรวจโยกย้ายข้ามห้วยมาจากสายอื่นมาดำรงตำแหน่งชั่วคราวเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นๆไปอีกใน สตช.
7.ศาลบางท่านไม่มีความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ มักเชื่อตามที่พนักงานสอบสวนและผู้เชี่ยวชาญของ สตช.เบิกความ เช่น เดิมศาลไม่เชื่อเรื่อง DNA ต่อมาได้รับคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จนเชื่อว่าเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดได้ แต่ยังไม่เข้าใจว่า ความจริงแล้วเรื่อง DNA ไม่ 100% และที่สำคัญคือมีการบิดเบือนโดย chain of custody ได้ คือถูกแทรกแซงในกระบวนการเก็บ ตรวจ เก็บรักษาและการนำ DNA ไปใช้เพื่อเป็นหลักฐานปรักปรำผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยได้
8.ทนายความ ขาดความรู้ความเข้าใจที่จะทำให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ของพนักงานสอบสวนและอัยการเป็นที่น่าสงสัย และ
9.แม้ทนายความบางท่านอาจพยายามที่จะใช้ผู้เชี่ยวชาญมาโต้แย้งพยานหลักฐานของอัยการ แต่เพราะเราขาดแพทย์นิติเวชและงานนิติวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่เป็นอิสระนั้นเอง จึงยากที่จะหาพยานผู้เชี่ยวชาญมาโต้แย้งได้
10.เรื่องความเป็นอิสระของงานนิติวิทยาศาสตร์ ผลักดันกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 แต่ไปไม่ถึงไหน เพราะเกี่ยวกับอำนาจ
เรื่องที่กล่าวมานี้ คปก.(คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย)เคยศึกษาและทำข้อเสนอไว้แล้ว แต่ไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติ เพราะผู้มีอำนาจเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจ ไม่ใช่ความยุติธรรม