‘หมอนิติเวช-นักวิชาการ’คาใจคดี’น้องชมพู่’ตำรวจตั้งธงถูกทำให้ตาย ชี้อวัยวะเพศไม่มีรอยฉีกขาด ฟันธงเด็กเดินหลงป่าเอง เสนอแยกนิติเวชออกจากสตช.

 

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ก.ค. 2563  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) ร่วมกับ Innocence International Thailand จัดเสวนาวิชาการ  เรื่อง “นิติวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เชื่อถือได้แค่ไหน (ศึกษากรณีน้องชมพู่ , ครูจอมทรัพย์  ,มิก หลงจิ ,น้องหญิง  และหวย 30 ล้าน ฯลฯ )”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรม ทุกคนโหยหาหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์มาเป็นข้อยุติ เพราะพยานบุคคลนั้น มีปัญหามาก  ก่อให้เกิดความผิดพลาดสูง  นิติวิทยาศาสตร์มีความถูกต้องแม่นยำกว่า  แต่ในความเป็นจริง ก็เป็นดาบสองคม  ถ้าไม่มีหลักประกันเรื่องคุณภาพและความสุจริตที่แท้จริง  จะก่อให้เกิดปัญหาสับสนวุ่นวายไปหมด  หลายคดีแม้จะจบด้วยการอ้างหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์และกระบวนการตามกฎหมาย  แต่ไม่ได้จบไปในความรู้สึกของผู้คนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคดีน้องชมพู่ , ครูจอมทรัพย์  ,มิก หลงจิ , คดีน้องหญิง  ,หวย 30 ล้าน คดีเกาะเต่า และอีกมากมาย

 

“นั่นแสดงว่า นิติวิทยาศาสตร์มีปัญหา ไม่เคลียร์ร้อยเปอร์เซ็นต์  มีปัญหาหลายลักษณะที่นำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือของผู้คน  ตั้งแต่ขั้นตอนเก็บรวบรวมแม้กระทั่งการตรวจพิสูจน์  เราจะต้องทำให้กระบวนการนี้มีความถูกต้องและสุจริตเชื่อถือได้ 100 เปอร์เซ็นต์  หากเกิดความผิดพลาด ก็ต้องเป็นไปด้วยความไม่ได้ตั้งใจ  เราต้องยอมรับเป็นอันดับแรกว่า ว่าระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นมีปัญหา จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้”

หมอนิติเวช

พ.ต.อ.วิรุตม์   กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญของงานนิติวิทยาศาสตร์ไทย คืออยู่ในระบบยศและวินัยแบบทหาร  ซึ่งโดยหลักการแล้ว งานวิทยาศาสตร์เช่นนี้ แม้กระทั่งงานสอบสวน จะนำชั้นยศมาใช้ในการปกครองบังคับบัญชากันไม่ได้  สำหรับคดีน้องชมพู่ ตอนนี้ กลายเป็นเรื่องคล้าย “อุปทานหมู่” ไปแล้วเนื่องจากการตรวจครั้งที่สองรายงานว่า “พบบาดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ” ทำให้ทุกคนและตำรวจผู้ใหญ่เข้าใจว่าถูกล่วงละเมิด  ต้องมีผู้กระทำแน่  พยายามหาตัวคนร้ายกันวุ่นวายไปหมด  ประชาชนเกิดความหวาดระแวงกันทั้งหมู่บ้านแม้กระทั่งญาติพี่น้อง

 

“ระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ของไทยต้องได้รับการปฏิรูป  ผู้ปฏิบัติงานต้องมีอิสระทางความคิดและวิชาการ สามารถเก็บรวบรวมหลักฐานและตรวจพิสูจน์ออกรายงานได้ตามหลักวิชา ไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันหรือแม้กระทั่ง “แรงจูงใจ” จากระบบการปกครองตามชั้นยศ  คนจนทั่วไปก็ต้องเข้าถึงได้ไม่ต่างจากคนรวยหรือคดีดังบางคดี”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

 

นพ.ภาณุวัฒน์  ชุติวงค์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์  คณะแพทย์ศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความจริงแล้วกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ของไทย ไม่ได้แตกต่างจากเมืองนอกเลย แต่สิ่งที่ต่างอาจเป็นระบบ เช่น การชันสูตร โดยในสหรัฐฯ หมอจะมีหน้าที่ชี้ว่าการตายนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่ตำรวจจะได้ไปตามถูก แต่ในไทยหมอเป็นเพียงขาข้างหนึ่งของตำรวจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนมักมองว่าหมอเป็นฮีโร่ในการชันสูตร แต่ความจริงแล้ว หมอไม่ได้อยากเป็นฮีโร่เลย เพราะงานนิติเวชไม่ค่อยมีใครอยากทำ และทั่วประเทศมีหมอประเภทนี้เพียง 200 กว่าคน เมื่อเกิดคดีความขึ้น จำเป็นต้องให้หมอทั่วไปมาทำหน้าที่แทน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีหมอนิติเวช ดังนั้น การทำงานของแพทย์จึงมีข้อจำกัด

 

“ความที่ตำรวจมีอำนาจค่อนข้างมากในกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงทำให้กระบวนการชันสูตรถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป แม้กระบวนการดังกล่าวจะทำอย่างถูกต้องก็ตาม ฉะนั้น การกระบวนชันสูตร ควรแยกออกจากตำรวจ”

 

นพ.ภาณุวัฒน์  กล่าวต่อว่า ในคดีของน้องชมพู่ มีการผ่าชันสูตรศพถึง 2 ครั้ง แต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะการผ่าครั้งแรกไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ แต่ครั้งที่ 2 กลับพบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ซึ่งดูแล้ว คล้ายต้องการผ่าใหม่ ให้ตรงกับความต้องการ หรือให้คดีนี้นำไปสู่สิ่งที่อยากให้เป็น ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การผ่าครั้งแรกนั้น ถือว่าดีกว่าครั้งที่ 2 เพราะศพยังไม่ถูกนำไปทำอะไร สิ่งสำคัญของการผ่าการชันสูตร คือจะต้องตัดความเห็นและความรู้สึกออกไปด้วย เพราะเหล่านี้จะทำให้ตำรวจทำงานลำบาก

 

“โดยหลักการกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะบางเรื่องก็ไม่มีคำตอบ หากหลักฐานไม่เพียงพอ  การผ่าครั้งที่ 2 เป็นเพราะว่าครั้งแรกนั้น ผ่าได้ไม่ถูกใจหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้ว ควรต้องมีการตั้งเป็นคณะกรรมการมาตรวจสอบการผ่าครั้งที่ 2 เพื่อความเป็นธรรมกับคนที่ผ่าในครั้งแรกด้วย” นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว

หมอนิติเวช

ด้าน นพ.กฤติน  มีวุฒิสม หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง กล่าวว่า บุคลากรที่ใช้ชันสูตรในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นหมอทั่วไป หรือหมอใช้ทุน ผ่านหลักสูตรเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งจะไม่สามารถรับประกันความถูกต้องได้เลย เพราะแม้แต่หมอที่มีความเชี่ยวชาญ ก็เกิดความผิดพลาดได้ เราต้องยอมว่าความเห็นของแพทย์นั้น เกิดความผิดพลาดได้

 

นพ.กฤติน กล่าวต่อว่า สำหรับคดีน้องชมพู่ ผลทางนิติเวชที่ออกมานั้น การผ่าครั้งที่ 1.โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ 2.สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ไม่ปรากฏสาเหตุการตาย แต่มีบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันนี้ จึงทำให้เกิดความสับสน แต่ตำรวจให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ส่งร่างน้องชมพู่ ไปผ่าครั้งที่ 2 เพราะการผ่าครั้งแรก ไม่พบการกระทำชำเรา จึงส่งชันสูตรใหม่ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งฟังดูแล้ว เหมือนกับตำรวจตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะให้คดีนี้จบอย่างไร

 

หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง  กล่าวว่า กรณีของน้องชมพู่ ที่สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ พบมีบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ มองได้ว่า เป็นร่องรอยหลังการตาย โดยอาจเกิดจากหลายกรณี เช่น มดกัด เพราะในการชันสูตรไม่พบการฉีกขาดของอวัยวะเพศ ส่วนการเด็กไม่ใส่สวมเสื้อผ้านั้น อาจเกิดจากหลายกรณี เช่น อากาศร้อน ปลดทุกข์ เป็นต้น ซึ่งหากน้องชมพู่เดินไปเอง เป็นได้ที่จะเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ และส่วนตัว ไม่เห็นด้วยกับที่ตำรวจตัดประเด็นการเดินหลงป่าเอง

 

“ผมว่าเด็กเดินไปเองได้ เพราะถ้าถูกฆ่า เด็กน่าจะเสียชีวิตไปตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งหากสันนิฐานว่า หากเด็กเดินไปเอง ก็เป็นไปได้ว่าเด็กไปแล้วหลายวัน แล้วเจอสภาพอากาศต่างๆ เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีการล่วงล้ำอวัยวะเพศ” นพ.กฤติน กล่าว

 

นพ.กฤติน   กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับข้อเสนอแนะในกระบวนการชันสูตรนั้น เนื่องจากแพทย์ชันสูตร ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ทั่วไป ความเห็นของแพทย์จึงผิดได้เป็นธรรมดา นอกจากนี้ แพทย์ชันสูตร ยังไม่ได้ลงไปดูในพื้นที่ แต่เป็นการชันสูตรในห้องของโรงพยาบาล อีกทั้งตำรวจกับแพทย์ยังไม่ค่อยได้พูดคุยกันในเรื่องของคดีความ และตำรวจยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความถูกต้องของผลชันสูตรนัก เหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข

 

ขณะที่ ดร.น้ำแท้  มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การชันสูตรหลายครั้งในประเทศไทย ไม่ได้ใช้หมอนิติเวช จึงต้องตั้งคำถามว่ากระบวนการชันสูตรนั้นถูกต้องหรือไม่ สำหรับคดีน้องชมพู่เราไม่ได้ออกมาดิสเครดิตใคร แต่ออกมาช่วยเหลือ ก่อนคนที่บริสุทธิ์จะถูกกล่าวหา เพราะเราเชื่อว่าน้องชมพู่ มีโอกาสสูงที่จะเดินหลงป่าเอง

About The Author