‘นายพลตำรวจตู้ม้า’ ‘จ่าดาบ’จับคนเรียกค่าไถ่ นายกฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร? – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
“นายพลตำรวจตู้ม้า”“จ่าดาบ” จับคนเรียกค่าไถ่ นายกฯ จะแก้ปัญหาอย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าเราเอาชนะเชื้อไวรัสร้าย ประชาชนมีความปลอดภัย ใกล้จะใช้ชีวิตเป็นปกติได้แล้ว?
เพราะการที่มีผู้ป่วยในโรงพยาบาลน้อยลง หรือแม้กระทั่งต่อไปอาจไม่มีเลย ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีผู้ติดเชื้ออยู่ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลผู้ไม่รู้ตัวซึ่งใช้ชีวิตปะปนอยู่กับคนทั่วไปในที่ต่างๆ มากมาย
ผู้ติดเชื้อที่ร่างกายแข็งแรงเหล่านี้พร้อมแพร่เชื้อให้คนที่อ่อนแอจนเกิดการเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งอาจถึงตายได้ไปอีกนาน
ความจำเป็นในการใช้ ชีวิตรูปแบบใหม่ ผู้คนนั่งใกล้หรือพูดคุยกันเช่นเดิมไม่ได้!
และการไม่สามารถเปิดระบบคมนาคมติดต่อกับประเทศต่างๆ เนื่องจากยังพบผู้ติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งไม่พบแล้ว จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง การดำรงชีวิตของผู้คน ไปจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของโลกและชาติในอนาคตอย่างยิ่ง
ปัญหานี้จะคลี่คลายได้แท้จริงก็ต่อเมื่อมีผู้คิดค้น วัคซีน ฉีดป้องกันให้คนไทยและชาวโลกอย่างทั่วถึงแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี หรืออาจหลายปี!
เมื่อเย็นวันอังคารที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ได้นำ กำลัง อส. ไปจับตู้ม้าในพื้นที่ สถานีตำรวจบางชัน ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ 3 จุด ตรวจยึดของกลางได้ถึง 20 ตู้ ได้เจ้าของบ้านและผู้เล่นซึ่งเป็นคนยากจน อาจเรียกได้ว่าเป็น “แพะ” ไป รวม 14 คน!
ก็ไม่รู้ว่า หลังการสั่ง “เด้ง” ผบก.น.4 ไปหยกๆ จากที่มีการจับบ่อนพนันแห่งหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ก่อนแล้ว
การจับบ่อนในนครบาลซ้ำซากดังกล่าวจะต้องสั่ง “เด้ง” ตำรวจชั้นยศใด ต่อไป ในกรณีที่ปล่อยปละละเลย หรือ “รู้เห็นเป็นใจ” ให้มีตู้ม้าหรือ เครื่องจักรการพนันอันตรายสำหรับเด็กเยาวชนและคนยากจน อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบถึง 20 ตู้เช่นนี้!
แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคร้าย ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล ผู้รับผิดชอบทุกระดับก็ ไม่ได้สนใจ ต่อคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันเชื้อโรคร้ายแต่อย่างใด!
และเมื่อรวมในเขตกรุงเทพมหานคร 88 สถานี และในจังหวัดใหญ่อีกหลายจังหวัด ก็ไม่รู้ว่าจะมีตู้ม้าตั้งอยู่รวมกี่ร้อยกี่พัน หรือ อาจนับหมื่นตู้!
ไม่รู้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะทราบบ้างหรือไม่ว่า เครื่องจักรการพนันเหล่านี้ที่มีตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งท่านได้เคยออกคำสั่งให้ทหารและฝ่ายปกครองร่วมกันกวาดล้างนำไป เผาทำลายรวมกันกว่าหมื่นตู้ หลังการปฏิวัติยึดอำนาจได้เพียง 3-4 เดือนนั้น
ปัจจุบันได้มีการประกอบขึ้นใหม่ นำมาตั้งวางในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ สร้างรายได้ให้ “ตำรวจชั้นนายพล” จนร่ำรวยไปตามๆ กันเช่นเดิมแล้ว!
ซึ่งถ้าท่านจริงใจต่อประชาชน “โดยเฉพาะเด็กเยาวชนและคนยากจน” ก็ควรสั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สั่งปลัดกระทรวงมีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ไปจนถึงนายอำเภอ
“ให้ตรวจสอบ” เครื่องเล่นที่ กลุ่มทรชน ไปหลอกประชาชนเจ้าของร้านค้าต่างๆ ว่าเป็นตู้เกมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตู้ม้าหรือการพนันที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งได้ “เคลียร์” ตำรวจทุกหน่วยเรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้เจ้าของร้านหรือบ้านยอมให้วางเครื่องจักรการพนันเหล่านี้ โดยจะมีรายได้ ร้อยละ 20 จากยอดการเล่นในแต่ละวัน! หมายความว่า ถ้าตู้หนึ่งมีเด็กหยอดเหรียญรวม ห้าหมื่นบาทต่อเดือน
เจ้าของบ้านก็ได้ค่าน้ำค่าไฟไป 1หมื่นบาท! ที่เหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นของ “นายทุนตู้ม้า” ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุง
รวมทั้งตำรวจท้องที่และอีกสารพัดหน่วยในรูปของ “ส่วย” หลายรูปแบบ ส่งกันไปตามลำดับชั้นในวาระและโอกาสต่างๆ!
เรื่องเป็นเครื่องจักรการพนันจะเสียบปลั๊กอยู่มีผู้เล่นและแผงวงจรนำเข้าผิดกฎหมายหรือไม่ ปัจจุบันไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตรวจตราจับกุมอีกต่อไป
เนื่องจาก หัวหน้า คสช. ได้เคยออก ประกาศที่ 83/57 เมื่อ 10 ก.ค.57 เพื่อแก้ปัญหานี้ไว้
“ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจยึดเครื่องเล่นเกมทุกชนิดที่สามารถเล่นพนันได้ นำมาเก็บรักษาไว้ ให้ผู้อ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยชอบนำหลักฐานมาแสดงรับกลับคืนไปได้ใน 30 วัน”
หลังจากนั้นก็เอาไปเผาทำลายให้สิ้นซาก!
แต่ถ้าท่านไม่สั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้สั่งต่อไปตามลำดับชั้นเช่นนี้ ก็ยากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอจะลุกขึ้นจัดการกวาดล้างตามอำนาจหน้าที่ตนเองได้!
เนื่องจากส่วนใหญ่มักเกรงว่าจะทำให้ผู้บังคับการตำรวจจังหวัดและหัวหน้าสถานีไม่พอใจ และจะไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาสารพัด!
เพราะรัฐบาลไม่ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอประเทศไทย ในการสั่งการหรือบังคับบัญชาหัวหน้าตำรวจหรือตำรวจคนใดในจังหวัดหรืออำเภอแม้แต่คนเดียว!
แม้แต่จะเสนอให้ย้ายผู้บังคับการตำรวจและหัวหน้าสถานีตำรวจที่ “ประพฤติตนไม่เหมาะสม” ให้พ้นไปจากจังหวัดหรืออำเภอนั้นก็ยังทำไม่ได้!
สำหรับปัญหา “จ่าดาบ” “จับคนเรียกค่าไถ่” ไม่ว่าจะเป็นกรณีตรวจค้นพบการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
หรือแม้กระทั่ง “ยัดของกลาง” พาตัวไปคุมขังต่อรองใน “เซฟเฮาส์” หรือ “บ้านผีสิง” ที่เช่าไว้ในที่ต่างๆ ซ้ำซาก เนื่องจากไม่มีใครคอยส่งส่วยให้เหมือนตำรวจผู้ใหญ่นั้น
รายล่าสุดก็เกิดขึ้นที่ สภ.คลองด่าน ที่มีการร้องเรียนจากผู้เสียหายหลายรายว่าตำรวจและประชาชนสนธิกำลังกันรวม 10 คน
ร่วมกันจับผู้ต้องหาเรียกค่าไถ่เป็นขบวนการเช่นนี้มานานหลายปี!
หรือกรณี ตำรวจจังหวัดเชียงใหม่ สภ.แม่อาย ตำรวจสายตรวจที่ตั้งด่าน 7 คน จับตัว นางพิมพ์ชนก ประทุม อายุ 22 ปี พร้อมลูกน้อย 1 ขวบ ขณะนั่งมาในรถพร้อมชาวเขากลุ่มหนึ่ง
ยัดข้อหา ว่านำพาคนต่างด้าวเข้าเมือง พอได้ข่าวว่า เธอพอมีเงิน จึงนำตัวพร้อมลูกน้อยขับรถขึ้นเขาไปเรียกค่าไถ่ถึง 500,000 บาท!
สุดท้าย นายฐานะพล เสาวคนธ์ ผู้เป็นสามี อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอต่อรองจ่ายให้ 300,000 บาท ผ่านหญิงคนหนึ่งซึ่งตำรวจเรียกว่า “แม่หลวง” เป็นผู้รับเงินสด ที่ กดจากตู้เอทีเอ็มต่อหน้าตำรวจชุดจับกุม 2 คน
หลังผ่านพ้นเหตุการณ์มา ได้พยายามรวบรวมพยานหลักฐานร้องเรียนไปยังหน่วยราชการหลายแห่ง เริ่มจาก ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
แต่การดำเนินการกับตำรวจทั้ง 7 ก็เป็นไปอย่างล่าช้า คดีอาญาดำเนินไปไม่ถึงไหน? มีแต่คำให้สัมภาษณ์ขึงขังของตำรวจผู้ใหญ่เรื่องดำเนินการทางวินัย บอกว่าได้สั่งตำรวจ 5 คนออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว
นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนยังโทรศัพท์เรียกไป “ให้ปากคำซ้ำซาก” จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่รู้จะสอบอะไรกันหนักหนา เพราะทั้งภรรยาและตนเองได้ให้การและพยานหลักฐานต่างๆ ไปจนหมดสิ้นแล้ว
และจนกระทั่งบัดนี้ ตำรวจผู้เกี่ยวข้องทุกคนยังไม่มีใครถูกแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับเหมือนกรณีประชาชนกระทำผิดแต่อย่างใด?
และ 2-3 วันนี้ก็มีหน้าม้าโทรมาติดต่อ “ขอเคลียร์” แสดงภาพเงินสด 1,500,000 บาทให้ดู แลกกับการ “กลับคำให้การ” ให้ไปสอบปากคำใหม่ กลายเป็น “เรื่องเข้าใจผิด” แทน!
นายฐานะพลฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะ “ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด” ที่จัดตั้งตาม ประกาศ คสช.ที่ 96/2557 วันที่ 18 ก.ค.57
ขอให้ใช้อำนาจหัวหน้าพนักงานสอบสวนจังหวัดและข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย เข้าควบคุมการสอบสวนคดีอาญาของตำรวจที่ไม่น่าเชื่อถือและไว้วางใจในคดีนี้
แต่การดำเนินคดีอาญากับตำรวจทั้ง 7 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าให้เกิดความมั่นใจแต่อย่างใด
ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ทำเพียง “หนังสือประทับตรา” ส่งมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 แจ้งว่า ได้ส่งเรื่องไป “ให้หน่วยเกี่ยวข้องตรวจสอบดำเนินการ” และจะแจ้งผลให้ทราบเท่านั้น
ปัญหาประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวนของตำรวจ และร้องเรียนให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ใช้อำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยเข้าควบคุมการสอบสวนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่มีปัญหามาจาก คำสั่งตำรวจแห่งชาติที่ 419/56 ที่มีข้อความที่ “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ข้อหนึ่งว่า
“ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในกรณีที่มีหนังสือแจ้งมา”
ตามด้วยอีกฉบับหนึ่งกำชับว่า “ใครฝ่าฝืนจะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย”
นอกจากจะมีปัญหาว่า “เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คือข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยซึ่งรัฐมนตรีผู้รักษาการออกตาม ป.วิ อาญา ที่ข้าราชการทุกหน่วยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แล้ว
ยังเป็นการ “มั่ว” เพื่อหวัง “ผูกขาดอำนาจสอบสวน” ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างแสนสาหัสในปัจจุบันอีกด้วย
การสอบสวนที่เลวร้ายเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการแก้ไขทั้ง “ในส่วนที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า” รวมทั้ง การปฏิรูป “ให้มีการตรวจสอบจากพนักงานอัยการในคดีสำคัญ หรือเมื่อมีการร้องเรียนตั้งแต่เกิดเหตุตามหลักสากล” โดยเร็วที่สุด.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 11 พ.ค. 2563