เลขาธิการสปยธ.อบรมตำรวจจับคนฝ่าเคอร์ฟิวอย่างไม่ลืมหูลืมตาทำประชาชนเดือดร้อนเชื่อหวังทำสถิติรายงานนายหวั่นก่อให้เกิด’ส่วยเคอร์ฟิว’

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2563พ.ต.อ.วิรุตม์  ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า  กรณีตำรวจจังหวัดสมุทรปราการจับคนงานก่อสร้าง 14 คนที่จำเป็นต้องทำงานเทปูนต่อเนื่องจนถึงห้าทุ่ม  ดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกบ้าน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำตัวไปคุมขังและต้องใช้เงินประกันถึง 800,000 บาท ร้องไห้กันระงมนั้น           เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจและคณะรัฐมนตรีผู้ให้ความเห็นชอบต้องตระหนักถึงผลกระทบอันเนื่องจากการออกประกาศดังกล่าว  ซึ่งแม้จะมีความจำเป็นและมีผลดีต่อการควบคุมป้องกันโรคในระดับหนึ่ง  แต่ก็ส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงที่จะต้องรีบยกเลิกหรือกำหนดมาตรการปฏิบัติที่ชัดเจนและเป็นธรรมเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากการถูกจับดำเนินคดีอย่างไม่สมควรด้วย

 

“เนื่องจากการมุ่งบังคับใช้กฎหมายของตำรวจในเรื่องการออกนอกบ้านในเวลาห้ามอย่างไม่ลืมหูลืมตา  ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้มีความจำเป็นต้องออกมานอกบ้านเพื่อเตรียมงานหรือทำงานต่างๆ จำนวนมาก เนื่องจากไม่อยู่ในข้อยกเว้น   รวมทั้งการอ้างว่า สามารถขออนุญาตล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้  ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ สำหรับประชาชนทั่วไป  โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเรื่องฉุกเฉินในการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเช่น  ความจำเป็นต้องเทปูนต่อเนื่องในกรณีที่เกิดขึ้น”

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า อันที่จริง  การประกาศเคอร์ฟิวหรือห้ามออกนอกบ้าน  ควรทำเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นอำเภอ หรือจังหวัด โดยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หากมีการประกาศให้เป็น “สาธารณภัย”  และแต่ละพื้นที่ใช้อำนาจตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอำนาจส่วนกลางโดยนายกรัฐมนตรี  ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่จังหวัดหรือภูมิภาคเช่นนี้  การประกาศคลุมไปทุกตารางนิ้วทั่วประเทศ  แม้กระทั่งท้องนา อยู่บนป่าเขา คนหากุ้งหาปลา คนงานที่มีความจำเป็นต้องออกไปถอนผักตอนเที่ยงคืนเพื่อส่งให้ทันเช้า  หรือการขับรถข้ามจังหวัดตามความจำเป็น  แต่อาจถึงบ้านไม่ทันเวลา  22.00 น. และอีกมายมาย ก็ทำไม่ได้  แม้กระทั่งจะจอดรถนอนข้างทาง ก็ผิดกฎหมายอยู่ดี

 

“ในข้อเท็จจริงผู้คนได้รับความเดือดร้อนมาก  แต่ส่วนใหญ่ก็ยอมทน เพราะคิดว่าเป็นเพียงระยะสั้น   แต่ถ้านานเกินไป แม้จะมีผลดีต่อการป้องกันโรค  ก็คงทนกันต่อไปไม่ได้  จะเกิดการฝ่าฝืนมากขึ้น โดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้   บางคน ไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืน  แต่กลับเข้าบ้านไม่ทัน และไม่อยู่ในกลุ่มยกเว้น  ก็อาจถูกตำรวจจับดำเนินคดีได้เพื่อให้มีสถิติรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นและนำไปแถลงข่าวยังส่วนกลาง  รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือให้ตำรวจใช้สร้างอำนาจอิทธิพล  รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหา  “ส่วยเคอฟิวส์” ตามมาอีกรายการหนึ่งด้วย”พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

About The Author