12องค์กรภาคประชาชน หนุนร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหายฉบับประชาชน ประธานกมธ.กฎหมาย พร้อมผลักดันเป็นร่างพ.ร.บ.ของสภาฯ
ที่รัฐสภา วันที่ 30 มกราคม 2563 ตัวแทนภาคประชาชน 12 องค์กร พร้อมนำรายชื่อบุคคลกว่า 100 คนยื่นร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับประชาชน โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน 12 องค์กร กล่าวว่า รัฐสภาจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทย เรามีปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน ทำให้บุคคลสูญหายในหลายกรณี และเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองตลอดมา โดยทั่วโลกได้เห็นปัญหานี้ และได้ออกอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ฉบับ ซึ่งประเทศไทยเราเห็นด้วยในหลักการเหล่านี้ และพยายามนำมาผลักดันให้เป็นกฎหมายในประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ออกมา รวมถึงร่างของรัฐบาลยังเป็นร่างที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ
“ภาคประชาชนจึงมีความกังวล 1. เรื่องความล่าช้าที่จะทำให้เกิดปัญหา คือยังมีคนคนถูกซ้อมถูกอุ้มหายอยู่เรื่อยๆ เรื่องเก่าไม่คลี่คลาย เรื่องใหม่ก็รอเกิดขึ้น และ 2. ร่างกฎหมายของรัฐบาลออกมาแล้วยังไม่นำสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงได้ ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงร่วมกัน ร่างกฎหมายภาคประชาชน อิงจากหลักระหว่างประเทศ ผู้ประสบปัญหาจริง และหน่วยงานที่ติดตามจัดทำเรื่องนี้ ได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …ฉบับประชาชน โดยหวังว่า กมธ.ชุดนี้ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ผลักดันให้ออกมาโดยเร็ววันต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่า กมธ.เราให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราพร้อมทำงานกับภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ เราเห็นด้วยกับหลักการที่ภาคประชาชนเสนอเข้ามา และจะผลักดันต่อไปให้กับ กมธ.ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้เชิญเพื่อน ส.ส.ให้ลงชื่อ ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และกลายเป็น ร่าง พ.ร.บ. ของสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วย ส.ส.จากหลากหลายพรรคการเมืองต่อไป และทำให้สังคมเห็นว่า ส.ส.ประเทศไทยจำนวนมาก ให้ความสำคัญ กับการป้องกันซ้อมทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แต่เพียงการอนุวัติการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน หรือการที่ใช้อำนาจรัฐบังคับบุคคลให้สูญหาย ประเทศไทยจะต้องไม่มีบุคคลที่ถูกซ้อมทรมาน ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อแบบ หะยีสุหลง, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, พอละจี รักจงเจริญ, นายเด่น คำแหล้, อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, ฤทธิรงค์ ชื่นจิต, สุรชัย แซ่ด่าน ฯลฯ อีกต่อไป ประเทศไทยต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจรัฐซ้อมทรมานผู้คนหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย” นายปิยบุตร กล่าว
นอกจากนี้เครือข่ายกลุ่มชาติติพันธุ์ ยื่นหนังสือต่อนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นสำนวนที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
ทั้งนี้สำหรับเนื้อหาในหนังสือที่ สำเนา ถึง หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง มีเนื้อหาดังนี้ ตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 รัฐบาลไทยหลายสมัย ได้จัดทำร่างกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งสองฉบับแต่ด้วยเหตุผลนานัปการ จนบัดนี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการเรียกร้องและผลักดัน ทั้งจากในประเทศและนานาชาติให้ประเทศไทยจัดทำกฎหมายอนุวัติการดังกล่าวตลอดมาก็ตาม โดยร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาลที่เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเมื่อปี พ.ศ. 2561 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาตราออกมาเป็นกฎหมายปรากฏ
ในการนี้ ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนภาคประชาชน ตัวแทนญาติผู้เสียหาย ตามรายชื่อข้างท้ายจดหมายฉบับนี้ จึงได้ร่วมกันจัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….. (ฉบับประชาชน) ขึ้น พร้อมหลักการและเหตุผลรายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 1 พร้อมทั้งเปรียบเทียบร่างพระราชบัญญัติฉบับของรัฐบาลและฉบับประชาชน ปรากฏตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 3 โดยฉบับประชาชนยืนยันที่จะให้กฎหมายอนุวัติการมีสาระบัญญัติที่ครบถ้วนตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว อาทิเช่น ถือการทรมานเนื่องจากเหตุของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าในด้านใดจะกระทำมิได้ ห้ามผลักดันบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากบุคคลดังกล่าวอาจต้องเผชิญกับการทรมาน ห้ามอ้างเหตุผลหรือสถานการณ์ใดๆ รวมทั้งภาวะสงคราม กฎอัยการศึกหรือสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อกระทำการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาต่อการกระทำทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดมาตรการป้องกันโดยให้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และการให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายทุกกรณี รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจสอบและมีคำสั่งเพื่อระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายเป็นต้น
สำหรับรายชื่อองค์กรที่ร่วมกันยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.)
เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี(HAP)
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน(TLHR)
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม(MAC)
กลุ่มด้วยใจ (Duayjai)
เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch)
สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.)
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
ส่วนรายชื่อบุคคลประกอบด้วย
อนุชา วินทะไชย
อสมา มังกรชัย
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
ประยงค์ ดอกลำไย
ณัฏฐา มหัทธนา
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ
ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
อรอนงค์ ทิพย์พิมล
อารีวัณย์ สมบุญวัฒนกุล
มูฮัมหมัดฟะฮ์มี ตาเละ
บัณฑิต ไกรวิจิตร
อิมรอน ซาเหาะ
ศรันย์ สมันตรัฐ
บารมี ชัยรัตน์ (สมัชชาคนจน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร (คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ภาสกร อินทุมาร (คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
นาตยา อยู่คง (คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
ชลิตา บัณฑุวงศ์ (คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
ทวีศักดิ์ ปิ
พวงทอง ภวัครพันธุ์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)
อภิชาต สถิตนิรามัย (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
ผศ. พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์
ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า
ชลิตา บัณฑุวงศ์
ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
อรชา รักดี
ณรรธราวุธ เมืองสุข
อันธิฌา แสงชัย
งามศุกร์ รัตนเสถียร
อัมพร หมาดเด็น
พูนสุข พูนสุขเจริญ
สุรชัย ทรงงาม
สุมิตรชัย หัตถสาร
ณัฐาศิริ เบิร์กแมน
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล
คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์
สุภาภรณ์ มาลัยลอย
มนทนา ดวงประภา
ผรัณดา ปานแก้ว
อัญชนา หีมมีนะห์