จับผู้ร้ายได้ไม่ถือเป็นความชอบป้องกันเหตุร้ายไม่ได้คือความบกพร่อง-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สังคมไทยในเวลานี้ ล้วนเต็มไปด้วย ภัยอันตรายรอบด้าน ตั้งแต่อุบัติเหตุจราจรซึ่งเป็นความเสี่ยงในชีวิตประจำวันของประชาชนทุกเพศวัยทั่วไปสูงกว่าประเทศใดในโลก!
การทะเลาะวิวาท ถูกทำร้าย ถูกฆ่าตาย ถูกหลอกลวงฉ้อโกง หรือบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์หรือจี้ปล้นแม้กระทั่งในบ้านพักอาศัยหรือสถานที่ต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย
เช่น การปล้นร้านทองที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งมีประชาชนถูกฆ่าไปถึงสามคนและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
หรือกรณีที่คนร้ายยิงปืนใส่รถยนต์ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่จอดอยู่ในย่านสีลมอย่างอุกอาจ
โดยเจ้าตัวบอกว่า น่าจะเพื่อหวังผลต่อการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติมิชอบในการจัดซื้อเครื่องตรวจเอกลักษณ์บุคคลมูลค่า 2,100 ล้านบาทของตำรวจแห่งชาติที่มีผู้ร้องเรียนไว้ต่อ ป.ป.ช.เป็นสำคัญ!
ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครได้ยินประธาน ป.ป.ช. หรือผู้รับผิดชอบคนใดแถลงว่ากรณีดังกล่าวเป็นการร้องเรียน กล่าวหาใครว่ามีพฤติการณ์ปฏิบัติมิชอบ และ “ทำให้รัฐเสียหายอย่างไร?” มากน้อยเท่าใด? รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานคืบหน้าไปเพียงใด และจะสรุปแจ้งให้ประชาชนทราบได้เมื่อใด?
นอกจากนี้ คดียิงปืนใส่รถข่มขู่ก็ยังมีปัญหา โดยไม่มีใครรู้ว่าใครคือผู้รับผิดชอบกันแน่ และไม่รู้ว่าคนร้ายคือใคร ได้รับการ “สั่ง” หรือจ้างวานจากผู้ใด การจะจับตัวคนร้ายและผู้บงการมาดำเนินคดี ต้องใช้เวลานานอีกกี่เดือนหรือ กี่ปี?
ปัญหาอาชญากรรมที่ ร้ายแรงและชุกชุม เช่นนี้ สวนทางกับสถิติคดีอาญาของตำรวจที่รายงานต่อรัฐบาลและประชาชนว่าลดลงตลอดมาอย่างสิ้นเชิง!
เนื่องจากปัจจุบันคดีที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวน ผู้มียศแบบทหาร จะถูกผู้บังคับบัญชาสั่งการในทางพฤตินัยให้ลงบันทึกประจำวันแบบ ไม่มีเลขคดีอาญา เพื่อ หลอก ประชาชนผู้แจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษไว้ ให้ตายใจ และจะได้ไม่ต้องสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อตรวจสอบและสั่งคดี แทบทั้งสิ้น!
สถิติคดีที่ลดลงสวนทางกับความเป็นจริงดังกล่าว ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคิดว่า ประชาชนไม่ได้ประสบปัญหาอาชญากรรมในระดับที่รุนแรงแต่อย่างใด?
จึงไม่ได้สนใจต่อการแก้ปัญหาตำรวจหรือการปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบควบคุมมิให้มี การรับส่วยสินบนจากแหล่งอบายมุขที่เป็นแหล่งเพาะอาชญากรรม ของตำรวจผู้ใหญ่
หรือสั่งการให้เร่งปฏิรูปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อให้ระบบงานตำรวจและการสอบสวนของไทย เข้าที่เข้าทาง ในระดับหนึ่งโดยเร็ว
ในอดีต งานรักษากฎหมายของประเทศโดยเฉพาะส่วนภูมิภาค รัฐได้กำหนดให้ผู้ว่าฯ ผู้เป็นหัวหน้าข้าราชการสูงสุดของจังหวัด เป็นผู้ควบคุมกลไกต่างๆ ในการตรวจตราสอดส่องป้องกันไม่ให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่ประชาชนหรือรัฐเป็นผู้เสียหายทำลายสังคม เช่น การเล่นหวยใต้ดิน บ่อนการพนัน และแหล่งอบายมุขทุกชนิด
มีสถานีตำรวจอำเภอและหน่วยตำรวจจังหวัดเป็นมือไม้สำคัญในการปฏิบัติ
จึงได้มีการจัดตั้ง กรมตำรวจ ขึ้นเป็นหน่วยราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย
กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันอาชญากรรมในหมู่บ้านและตำบล ทำงานประสานกับตำรวจอย่างใกล้ชิด
ส่วนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับคนร้ายไปส่งให้อัยการฟ้องศาลลงโทษ เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครอง คือจังหวัดและอำเภอ
ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมโดยกระทรวงมหาดไทยนั้น ปรากฏในกฎกระทรวงที่ 1 วันที่ 26 สิงหาคม 2465 ลงนามโดย มหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช ผู้เป็นเสนาบดี เรื่อง ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ออกไปสืบจับผู้ร้าย เป็นภาษาในยุคนั้นดังนี้
1.เมื่อเกิดเหตุอุกฉกรรจ์ ปล้น ชิงทรัพย์ ฆ่ากันตาย ขึ้นในท้องที่ใด เมื่อใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดนั้นๆ ต้องออกไปหรือแยกกันไปสืบและไต่สวนในที่เกิดเหตุด้วยตนเองในทันใด ถ้าไปไม่ได้ด้วยเหตุใด ให้รายงานชี้แจงส่งตามลำดับชั้นจนถึงกระทรวง
2.ถ้าในคดีเรื่องใดยังไม่ได้ตัว หรือยังไม่ได้หลักถาน หรือของกลาง ก็ให้ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ทำการสืบสวนโดยเต็มกำลังและความสามารถ
3.ถ้าผู้ร้ายหลบหนีไปที่ใดในจังหวัดใด ในมณฑลใดภายในพระราชอาณาจักร ก็ให้แยกย้ายกันติดตามไปโดยแขงแรงให้ถึงที่สุดเต็มความสามารถ เพื่อให้ได้ตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย ถ้าเป็นเรื่องสำคัญก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกติดตามไปด้วยตนเอง
4.ถ้าเรื่องใดสิ้นความสามารถแน่แล้ว ก็ให้รายงานชี้แจงการที่ได้กระทำไปแล้วมาให้ทราบ
5.ในเรื่องอั้งยี่ สมาคมมั่วสุมประชุมกันที่ผิดกฎหมาย อันเป็นเหตุร้าย ให้ทำการสืบหาหลักถาน แลจัดการโดยแขงแรง เพื่อทำลายและฟ้องร้องหรือจัดการเนรเทศเสียให้จงได้
6.ถ้าท้องที่ใดจังหวัดใดเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ให้สมุหเทศาภิบาล ปลัดมณฑล ผู้บังคับการตำรวจมณฑลแยกกันออกไปประจำจัดการอยู่ในท้องที่อำเภอนั้นๆ จนกว่าจะสงบเรียบร้อยแล้วจึงให้กลับ
7.ให้เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ทุกชั้นจงเป็นที่เข้าใจไว้ให้แน่ชัดว่า การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเปนความชอบ เปนแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่น่าที่เท่านั้น แต่จะถือเปนความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้น อยู่เย็นเปนปรกติศุขพอสมควร เพราะไม่มีเหตุการณ์หรือมีแต่น้อยเป็นการจรแปลกมา
แลจะถือเป็นความผิด ความบกพร่อง เมื่อการปกครองยุ่งยิ่งไม่เรียบร้อย เพราะปราบปรามโจรผุ้ร้ายไม่ราบคาบก็ตาม หรือเพราะแตกความสามัคคีในฝ่ายเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ไม่กลมเกลียวกันด้วยแย่งยื้อถืออำนาจไม่เป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย อันเปนต้นเหตุให้เกิดเสียหายแก่ราชการก็ตาม ให้ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นจงถือเปนข้อสำคัญที่จะระมัดระวังและจัดการตามอำนาจในทันใด แลด้วยเหตุนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาทุกชั้นงดการขอบำเหน็จความชอบในเรื่องเจ้าพนักงานจับผู้ร้ายได้ตั้งแต่บัดนี้ไป นอกจากจะขอให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรที่ช่วยเจ้าพนักงาน หรือขอบำเหน็จบำนาญเปนเงินซึ่งมีระเบียบอยู่แล้ว หรือที่จะมีต่อไปเปนแต่ให้รายงานการกระทำว่ามีผลเพียงไรเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ระบบและมาตรฐานงานป้องกันอาชญากรรมและรักษากฎหมายของรัฐไทยเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอะไรนั้น สูงกว่าปัจจุบันมาก!
ตำรวจทำงานเป็นมือเป็นไม้และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งควบคุมกลไกสำคัญในท้องถิ่นคือ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน
จังหวัดและอำเภอมี เอกภาพในการบังคับบัญชา ข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมในท้องที่และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
แค่เกิดเหตุชิงทรัพย์ ก็บังคับให้ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจต้องไปช่วยกันสืบจับคนร้ายด้วยตนเอง
และเมื่อจับได้แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นความชอบอะไรที่ต้องได้รับการตอบแทนจากราชการอีกด้วย
ซ้ำยังนับเป็นความบกพร่อง เนื่องจากไม่สามารถป้องกันอาชญากรรมทำให้สังคมเกิดความสงบสุขได้!
ต่างจากปัจจุบัน ที่เมื่อเกิดเหตุร้ายแล้ว ประชาชนมักเห็นตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งหลายคน ประชาชนก็รู้ดีว่า “รับส่วยสินบนจากแหล่งอบายมุข” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชญากรรมนั้นอยู่ทุกเดือน!
ทำตัวเป็นพระเอก สั่งการและให้ข่าวต่อสื่อโขมงโฉงเฉงอย่างนั้นอย่างนี้ และเมื่อจับคนร้ายได้ ก็คุมตัวมานั่งแถลงข่าวกันด้วยความภาคภูมิใจ!
ในอดีต เมื่อเกิดเหตุร้าย ข้าราชการผู้รับผิดชอบการรักษากฎหมายต่างรู้สึก “เสียใจ” เนื่องจากตนเองบกพร่องในป้องกันอาชญากรรม ไม่สามารถทำให้ประชาชนดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย และ “อยู่เย็นเป็นสุข” ได้.