วงสัมมนาชี้ความมั่นคงสัมพันธ์กับประชาธิปไตย เยอรมันมีกองทัพที่เข้มแข็งปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐแต่ไม่รัฐประหารเด็ดขาด 

เมื่อวันที่ 14พ.ย.2562 ที่โรงแรม ฮิลตัน กรุงเทพฯ มีการสัมมนา เรื่อง ความมั่นคงแห่งปี 2020 การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี -Security 2020: Thai-German Perspective Sharing and Cooperation จัดโดย Konrad Adenauer Stiftung,   Institute of Democratization Studies,มหาวิทยาลัยบูรพา,     สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (IDS) และสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ( สป.ยธ.)

เวลา 10.00o.  กล่าวต้อนรับและปาฐกถาเปิดงาน โดย มร. จอร์จ แกฟโรน  ผู้แทนมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์

จากนั้น ปาฐกถาพิเศษ 1: ความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทยและเยอรมนี  โดยพันโท เอ็กเซล โดห์เมน  ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ว่า ความร่วมมือของไทย เยอรมัน มีมานาน เป็นความร่วมมือทางการทหาร ที่สถาบันฝึกอบรมทางการทหาร การแพทย์  การควบคุมอาวุธ และหลักสูตร UN ที่ผ่านมามีทหาร 450 คนที่ได้รับการอบรมจากเยอรมัน ได้รับผลดี มีเครือข่ายทางการทหารที่กว้างมากขึ้น เมื่อพบกันที่ October Fest  ที่มิวนิคมีการสร้างสมาชิกของคนที่ได้ผ่านการอบรมจากเยอรมัน และเป็นที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 10  ได้ใช้เวลายาวนานในเยอรมันเช่นกัน เรามีเจ้าหน้าที่มาดูงาน ติดตามการฝึก Cobra Gold มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถอดบทเรียน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

“เราควรเพิ่มปริมาณและคุณภาพแบบทวิภาคี แต่เมื่อมีการรัฐประหารมา รัฐบาลเยอรมันได้ลดระดับความสัมพันธ์ลง แต่ในปีนี้ดีขึ้น ฟื้นความสัมพันธ์กลับมาใหม่ เพราะเห็นว่าประเทศไทย มีสภา มีสื่อ และฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ทางไทยยังมีความท้าทายอีก เมื่อมีประเด็นวุฒิสมาชิก 250 คน   เยอรมันมีการพิจารณาตัดสินใจเป็นกรณีๆไป  ยังไงเราก็ยังต้องมาทบทวนยุทธศาสตร์กันใหม่”พันโท เอ็กเซล โดห์เมน  กล่าว

เวลา 10.45น.        ปาฐกถาพิเศษ 2: พัฒนาการด้านความมั่งคงเปรียบเทียบ อดีต ถึงปัจจุบัน ประสบการณ์จากเยอรมนี  โดย พันเอกคาร์ล เบิร์นฮาร์ด มูลเลอร์ (Col.ret. Karl Bernhard Mueller)  อดีตผู้ช่วยผู้บริหารรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่า มาไทยเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ผมอยากกล่าวในข้อมูลเชิงลึก ในการสั่งการ เยอรมันมีการปฏิบัติ การประพฤติตน มีการยอมรับความผิดตนเอง  ไม่ทำร้ายหน่วยงาน ดูแลประชาชน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เยอรมันมีมุมมองการเป็นศัตรูกันใหม่ เราอยู่ท่ามกลางประเทศในยุโรป มีกองทัพอยู่หลายแห่ง ไทยมีกองกำลังทหารร่วมกับตำรวจในการพิทักษ์ประเทศ ซึ่งแตกต่างจากไทย มี กฎหมาย Defense เพื่อป้องกันศัตรูจากนอกประเทศ แต่รุ่นนี้โชคดีที่ไม่ได้อยู่ในยุคนั้น เยอรมันเรามีเอกสารนโยบายความมั่นคงที่เรียกว่า White Paper 2016 on German Security Policy and the Future of Bundeswehr  จะดูว่าทุกวันนี้ศัตรูของเราคือใคร เข้าไปมีข้อกำหนดนาโต้ แค่ไหน แล้วต้องมี เศรษฐกิจอย่างไร file:///C:/Users/computer/Downloads/2016%20White%20Paper.pdf

 

พันเอกคาร์ล เบิร์นฮาร์ด มูลเลอร์ กล่าวว่า แม้ทหารเยอรมันเข้าไปร่วมทำงานในบอลข่าน อัฟกานิสถาน  แต่เยอรมันก็มีกองกำลังสำรองน้อยลงเหลือระดับหมื่นคนในขณะนี้ เราไม่มีความสามารถมากพอในการทำงานในโลกปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง หากมีปัญหาในที่ต่างๆ เจ้าหน้าที่ 128000 คนคงไปช่วยลำบาก (ไทยมีกำลังพล 335000 คน เยอรมันมี 128000 คน) มีการป้องกันทางไซเบอร์  เยอรมันมีกองทัพอากาศและกองทัพเรือ  เราไม่เคยฝึกทหารให้มาร่วมงานกับตำรวจ และ ตร.มีกองกำลังของตัวเอง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะให้ทหารทำงานกับตำรวจ แต่ถ้าจะให้ทหารเข้าร่วมต้องได้รับการอนุมัติจากสภา เยอรมันมี กม.ที่จำกัดความรับผิดชอบของกองทัพ

 

“งบทหารใช้ที่ต้องใช้งบน้อย ใช้เงินไปกับการฝึกอบรม บรรเทาสาธารณภัย มนุษยธรรม เหยื่อค่าไถ่ในต่างประเทศ และทำงานในการสร้างเสริมสันติภาพ  ส่วนจะใช้ทหารจัดการกับการชุมนุมประท้วงหรือไม่ ต้องถามประเทศไทยที่มีประสบการณ์มากกว่า”พันเอกคาร์ล เบิร์นฮาร์ด มูลเลอร์ กล่าว

 ความมั่นคงแห่งปี 2020

จากนั้นนายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ยินดีและขอบคุณในการที่ทุกท่านมาเพื่อแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลกัน หวังว่าเวทีนี้จะเป็นประโยชน์  มีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องความร่วมมือไทย เยอรมัน ฝึกอบรมบุคลากรทางการทหาร   ไทยควรมีสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งมหาอำนาจ และจีน  เยอรมันเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ มีความสำคัญในยุโรป ซึ่งเยอรมันมีความรุ่งเรืองในสินค้า มีทีมฟุตบอลที่เข้มแข็ง   เมื่อมีการหยิบยกประเด็นที่คล้ายคลึงกันบางประการในการอยู่ร่วมกันในหมู่มิตรเพื่อนบ้านที่ไม่มีการสู้รบกันมานาน   และไทย เยอรมันมีความคล้ายกันในการพัฒนาเรื่องความบรรเทาภัยพิบัติ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

เอกสารปกขาวที่พูดถึงเรื่องการร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ประชาธิปไตย   เรื่องความมั่นคงและเรื่องอื่นมารวมกัน เยอรมันมีการปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่เมืองไทยนั้นกลับกัน “เราสละเสรีภาพเพื่อความมั่นคง”

“เยอรมันเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องประเทศ  สร้างคุณูปการให้กับยุโรปและประชาคมโลก  เป็นแบบอย่างที่ดีมีกองทัพที่เข้มแข็งมีเป้าหมายที่ถูกต้อง ปกป้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ  การพูดถึงภาคใต้ไทย กองกำลังติดอาวุธที่ต่อต้านรัฐ นั้นแตกต่างจากเยอรมัน  การแก้ปัญหาใต้ไม่จำเป็นต้องใช้กองทัพเท่านั้นมันต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่หลากหลาย  มีตำรวจที่อาจขอความช่วยเหลือจากกองทัพได้ และสุดท้ายหวังว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันต่อไป”นายจาตุรนต์ กล่าว

 

ต่อจากนั้นเป็นการอภิปราย “ความมั่นคงแห่งปี 2020 การแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ดำเนินรายการโดย  ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล  ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า   วิทยากร ไทย 3 ท่าน เยอรมัน 2 ท่านจะพูดถึงความมั่นคง  การทหารจัดการกับความมั่นคง  ภารกิจของทหารลับและไม่ลับ  การป้องกันการค้ามนุษย์ ภัยธรรมชาติ  ความร่วมมือต่างประเทศ  บทบาททหารในต่างประเทศในการส่งเสริมหลักนิติรัฐ

 ความมั่นคงแห่งปี 2020

พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง อดีตผู้อำนวยการวิทยาลับป้องกันราชอาณาจักร และที่ปรึกษากองทัพไทย  มอง corrective security เป็นการมองว่าถ้าไม่เป็นแบบเราก็เป็นศัตรู  เช่นการมองคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูเป็นต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็น cooperative security เป็นความคิดที่ออกมาชัดเจน ไม่มองเหมือนเดิม อยู่ที่การรักษาผลประโยชน์ของชาติ สร้างขีดความสามารถมากขึ้น แต่เราก็ยังเป็นรองสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่เป็น Strategic Lift ที่เขาสามารถเคลื่อนตัวด้วยกำลังเล็กๆเข้าไทยได้ทันที   ไทยมียุทธศาสตร์ที่คล้ายเยอรมันที่มี MOOTW (Military Operations Other Than War)  หรือปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม

“ที่ผ่านมายอมรับว่าทหารเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แทนที่จะเป็นเครื่องมือของชาติ ทหารต้องมี rule of law ที่เป็นกฎหมายที่ตกลงร่วมกัน  ไม่ควรใช้แบบผิดวัตถุประสงค์  ซึ่งจะเห็นว่าเยอรมันใช้อย่างรัดกุมมาก รักษารูปลักษณ์ที่ไม่ให้ข้ามเส้นความเป็นทหาร”พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง  กล่าว

 

พันเอก คาร์ล เบิร์นฮาร์ด มูลเลอร์  อดีตผู้ช่วยผู้บริหารรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี   กล่าวว่า ในเยอรมันท่านจะไม่เห็นทหารเข้าไปยุ่งเรื่องอะไรได้ง่ายๆ นอกจากได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล สภาฯ เช่นการดำเนินงานนอกประเทศ เช่นที่อัฟกานิสถาน เราจะดำเนินการภายใต้นาโต้ เรามีภัยคุกคามที่มีการลอบสังหาร  กองกำลังดำเนินการทางลับที่จัดการกับ IS มุสลิม ถ้ามีข่าวกรองก็จะร่วมปฏิบัติการกับตำรวจเพื่อปฏิบัติการทางลับ  เราไม่สามารถปฏิบัติการโดยพลการได้เลย  ในเรื่องข่าวกรอง ไซเบอร์ โดเมน เราให้ความร่วมมือ ข้อมูล ได้

 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า   งบประมาณเยอรมันด้านความมั่นคง 1.2-1.8% ของ GDP แต่ไทยใช้งบเรื่องทหารมากกว่านั้น  หลังไทยมีการยึดอำนาจ สถานการณ์ดูจะเงียบสงบ แต่เป็นความสงบแบบน่ากลัว  ความมั่นคงมีความเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย ถ้ามีความเป็นประชาธิปไตยมากก็มีความมั่นคงมาก  และการเลือกตั้งของเราก็ไม่เต็มร้อย แม้ประชาชนจะรู้สึกว่าประเทศมีความมั่นคงขึ้น แต่ตอนนี้เราก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ หลายประเทศก็ไม่มีงบทางทหารมากมาย ผมไปประเทศอังกฤษ มีเหตุการณ์รถชนกันหน้าค่ายทหาร  มีนายทหารคนหนึ่งออกมาดูที่เกิดเหตุเข้าไปดูที่รถ  ตำรวจเห็นเข้า  มาไล่ให้ออกไป ทหารคนนั้น ก็เดินเข้าหน่วยทหารไป  ไม่ได้แสดงอาการโกรธอะไร นั่นสะท้อนว่า เขายึดหน้าที่เป็นหลัก  ไม่ใช่หน้าที่ทหาร ก็ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง

“ความมั่นคงมีความสัมพันธ์กันกับประชาธิปไตย เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม เรามีผู้พิพากษายิงตัวเอง  มีการยิงกันในศาลสนั่น แบบนี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร”

พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาความมั่นคงคือ กอ.รมน  และหน่วยงานรัฐ  แต่ต่อมาเรามีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เข้ามาช่วยทหาร ในสามจังหวัดอาศัยการใช้กฎอัยการศึก มีการประกาศภาวะฉุกเฉินแบบเรื้อรัง ทหารใช้อำนาจสอบสวนได้  เรามีด่านมากมาย แสดงว่าไม่มีความมั่นคงหรือ่ไม่   แม้กฎหมายเราไม่ดี ไม่เป็นธรรม แต่กฎหมายที่มีอยู่เราก็ยังใช้ด้วยความไม่เป็นธรรมเลย

 

ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล กล่าวว่า ประเทศไทย ทหารทำงานตำรวจ และตำรวจทำงานทหารเยอะ  ซึ่งแต่ละส่วนไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ   ทหารก็รู้ล่วงหน้าว่าทุกปีต้องมีภัยแล้งน้ำท่วม แต่รัฐก็ยังใช้ทหาร โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ที่มีเป็นแสนไปทำงาน อาจจะเป็นเพราะมีอุปกรณ์พร้อมที่จะช่วย แต่มันกลายเป็นภารกิจหลักไปแล้ว

 

พันโท เอ็กเซล โดห์แมน  ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะไทยจะไม่มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ก็ยังมีสภา มีการเลือกตั้ง มีสื่อที่เข้มแข็ง ทางเยอรมันกำลังคิดใหม่ว่าจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับไทย มีการจัดคุยกันแบบทวิภาคี เยอรมันมีความร่วมมือกับนาโต้  EU และเจอความท้าทายเรื่องผู้ลี้ภัย และอีกหลายเรื่อง      ในสมุดปกขาวที่พูดถึงความมั่นคง ได้เขียนถึงการป้องกันความมั่นคง การเป็นพันธมิตรกัน มีมุมมองให้น้ำหนักกับความร่วมมือนาโต้  สนใจความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ประชาธิปไตยเสรีนิยม  หลายอย่างคล้ายกับอาเซียน แล้วยังมีความมั่นคงทางก่อการร้าย ผู้ลี้ภัย ไซเบอร์   ในส่วนของอียู มีกองกำลังเป็นอันดับสองของโลกที่ต้องสัมพันธ์กับเอเชียแปซิฟิกด้วย  มีการเจรจา มีทุนป้องกันประเทศของอียู และ Tran Atlantic

 

ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า   เห็นว่า กองทัพอย่างน้อย 5 ท่านที่เป็น ผบ.เป็น สว.โดยตำแหน่งน่าจะเชื่อฟัง สภาฯมากหน่อย  เรื่องความมั่นคง มันมีตัวชี้วัดคือ เสถียรภาพทางการเมืองที่ต้องดูเสถียรภาพของรัฐบาล   และมองว่ารัฐบาลมีความเสี่ยง  จริงๆรัฐบาลไทยไม่ใช่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่เป็นเสียงข้างน้อย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ.จะผ่านความเห็นชอบได้ ต้องมีเสียง สส.ที่ไม่มีตำแหน่งในครม. สองในสาม   รัฐบาลไทยมี สส.อยู่ในสภาไม่ถึงครึ่ง  ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการบริหารงาน การต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลระดับ 50 เสียง มีการต่อรองกับรัฐบาลได้มาก เช่นมีการเสนอชื่อประธานกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ   และเนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคก็ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้กับพรรคขนาดเล็กด้วย  สถานะของรัฐบาลที่เสียงข้างน้อยจึงมีปัญหา

“แต่ต่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้  หรือถ้าไม่ยุบสภา การโหวตนายกครั้งใหม่ก็จะได้นายกคนเดิม ด้วยการโหวตของ สว.  นายกท่านก็สามารถตั้ง ครม.ใหม่   ดังนั้นเสถียรภาพของนายกยังคงอยู่  อีกประเด็นหนึ่ง คือ อนาคตของพรรคอนาคตใหม่ ที่เราจะรู้จากคดีวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้  ถ้าเรื่องคุณธนาธรที่ถือหุ้นแล้วไม่ผิด เขาก็สามารถจะกลับมา   แต่การไม่มีคุณธนาธรก็ไม่มีผลอะไร คอยไปเลือกตั้งครั้งหน้าก็ได้    คงไม่ถึงกับยุบพรรค  คืออาจจะตัดสิทธิ์ธนาธร แล้วตัวพรรคก็จะอยู่เหมือนเดิม   แต่ถ้าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณธนาธร สถานการณ์โดยรวมจะมีการต่อต้านหรือไม่ อีกสี่ปีข้างหน้าจะมีคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าเหลืออยู่เท่าไหร่ เป็นภาพความมั่นคงทางการเมืองทั้งนั้น”ดร. สติธร กล่าว

 

พลเอกสุรสิทธิ์  กล่าวว่า ทหารเข้าใจบทบาทตัวเองดีพอหรือยัง  เป็น civilian control มีพลเรือนหรือนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง  ผมไม่เคยชอบการรัฐประหาร ไม่คิดว่าคนๆเดียวจะช่วยลดความเสี่ยง ไม่ได้ชอบทั้งทหารและนักการเมืองทั้งคู่  ประเทศไทยใช้งบกับทหารถึง 8 % จริงหรือไม่ เข้าใจว่าใช้ 2% ต้องตรวจสอบอีกทีเพราะใช้งบเกินกว่านี้ก็อันตรายแล้ว ไม่ทราบเอางบ กอ.รมน.มาใส่หรือเปล่า  ปกติหลายประเทศที่จะใช้กฎอัยการศึกได้ต้องผ่านสภาเท่านั้น และเขามักจะใช้กับทหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ

 

พันเอก คาร์ล เบิร์นฮาร์ด มูลเลอร์  กล่าวเสริมว่า ถ้าทหารทำอะไรมันต้องผ่านสภาผู้แทนฯ มันมีเรื่องของกองทัพเราที่มีการแยกกัน เช่นที่อัฟกานิสถานก็มองแบบหนึ่ง ในฟิลิปปินส์ก็มองแบบหนึ่ง เราพูดถึงบทบาททหารกันมาก แต่ความจริงประชาชนมีความเชื่อในกฎหมายมากกว่าที่จะเรียกทหารมาทำอะไรให้  ใครทำหน้าที่ไม่ดี ทหารก็จะไม่เข้าไปยุ่ง

พ.ต.อ. วิรุตม์  กล่าวเสริมว่า ประเทศที่เจริญแล้วเขาเชื่อมั่นในระบบ ให้แต่ละฝ่ายแก้ปัญหากันเอง เมื่อถึงระยะหนึ่งมันจะเป็นระบบเอง  แต่บ้านเราคนที่มีอำนาจไม่ใช้อำนาจ คนไม่มีอำนาจก็เข้าไปทำเสียเอง  ประชาชนต้องการความยุติธรรม  ประเทศไทยตำรวจทำหน้าที่ของอัยการไปในตัว ในประเทศที่เจริญแล้วอัยการเข้ามามีบทบาทตรวจสอบดูแลการทำงานของตำรวจ

พันโท เอ็กเซล โดห์แมน  กล่าวว่า ผมเป็นผู้ช่วยทูตทางการทหารก็จริง แต่มี Chain of command ถึงจะมีสิทธิพิเศษอยู่บ้าง แต่เราก็ต้องเคารพกฎหมายไทย

ดร.สติธร   กล่าวเพิ่มเติมว่า พูดถึงความไว้ใจในรัฐบาล เราจะวัดจากคนว่ามีความเชื่อมั่นในนายกหรือไม่ ซึ่งตัวชี้วัดส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในตัวนายก แต่คนมักจะเทียบกับท่านทักษิณในอดีตที่มีความนิยมมากกว่าอยู่ดี  เมื่อดูความหมายกว้างจะเห็นว่าคนมีความเชื่อมั่นในกองทัพ และเชื่อมั่นศาลยุติธรรมมากอยู่ เมื่อมีคำพิพากษาในคดีใดออกมาคนก็ยังรู้สึกว่าคำตัดสินนั้นผ่าทางตันไปได้ แต่ใน รธน.ปี 60   ที่ให้อำนาจศาลมาก ก็ทำให้มีปัญหาไปบ้าง ในระยะหลัง สถาบันทางรัฐสภา  NGOs สื่อมวลชน ได้รับความเชื่อมั่นน้อยลง ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง  แต่เป็นความน่าภาคภูมิใจสำหรับทหารไทย

 พันโท เอ็กเซล โดห์แมน  กล่าวสนับสนุนให้เพื่อนร่วมชาติในเยอรมันเข้าใจเรื่องต่างๆ โดยสื่อทำหน้าที่กระจายการรับรู้ ทหารไม่ผูกติดกับพรรคการเมือง  แต่พรรคการเมืองไม่ใช่สถาบันที่ทำอะไรตามอำเภอใจเช่นกัน  เยอรมันมีระบบที่ไม่สมบูรณ์แบบ  แต่จะไม่มีทางจะเห็นเยอรมันมีการรัฐประหารเด็ดขาด

พันเอกมูลเล่อร์ กล่าวว่า  ทหารเป็นทหารและเป็นมนุษย์คนหนึ่ง  เรามีการสร้างภาวะ การเป็นผู้นำโดยการให้ทหารอยู่ภายใต้การเมือง รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะส่งกำลังทหารไปที่ไหน เราไม่มีผู้ก่อความไม่สงบ  เราร่วมกับสหภาพยุโรป  และมีแนวทางในการจัดการความไม่สงบที่บางเรื่องต้องอาศัยประเทศเพื่อนบ้านด้วย   เยอรมันคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และไม่ประเมินความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่ำเกินไป  เช่นการระเบิดที่ผ่านมา ต้องเข้าไปดูวิธีการต่างๆในการจัดการ  ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

พลเอกสุรสิทธิ์  กล่าวว่า ทุกประเทศมีระบบอุปถัมภ์  แต่ไทยมีอุปถัมภ์มากเกินไป มีทหารในกองทัพสเปนคนหนึ่งที่ทำผิดแล้วลาออก แต่ประเทศไทยไม่มีการลาออก   เรื่องสามจังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับว่าเรายังไม่ได้ค้นหาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  เรื่องนี้ทางมาเลเซียดีใจอย่างหนึ่งคือสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย   ที่ประเทศอังกฤษเคยมีการใช้ทหาร และตำรวจ ช่วยกันแก้ปัญหาที่ไอแลนด์เหนือเหมือนกัน

พ.ต.อ.วิรุตม์  กล่าวเสริมว่า  ระบบอุปถัมภ์ เป็นคำที่ยกมาเพื่อให้คนไทยยอมจำนน แต่แท้ที่จริงมันคือการทุจริตประพฤติมิชอบ  เราไม่ทำตามกฎหมาย ทหารตำรวจไทยถ้าทำผิดกฎหมายจะไม่โดนลงโทษ ถ้าทำผิดก็จะมีการช่วยเหลือกัน

ดร.สติธร   กล่าวเสริมว่า ระบบอุปถัมภ์เป็นแนวความสัมพันธ์แนวดิ่ง มีการทำตามคำสั่ง มีการพึ่งพา  เราต้องปรับให้มันเป็นแนวราบให้มากขึ้น  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

 ความมั่นคงแห่งปี 2020

 

About The Author