แก๊งลิขสิทธิ์ใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือรีดเงินประชาชนได้ เพราะหัวหน้าตำรวจไม่รู้กฎหมาย! – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาแก๊งคนร้ายเดินสายไปแจ้งความกับตำรวจหน่วยเฉพาะทางและสถานีต่างๆ ทั่วประเทศด้วยการ ขอลงบันทึกประจำวัน ว่า เจ้าของบริษัทห้างร้านและผู้ค้าสารพัดที่ตรวจพบละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของจดทะเบียนไว้
ตนได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้มาร้องทุกข์ดำเนินคดี และขอตำรวจช่วยไปจับตัวผู้ละเมิดมาเจรจากันที่หน่วยตำรวจหรือสถานี
รวมทั้ง อำนวยความสะดวก จัดให้มีการเจรจาต่อรองเรื่องค่าเสียหาย หากเสนอแล้วได้รับการสนองเป็นที่พอใจ
ก็จะได้ยอมความ ถอนคำร้องทุกข์ไป
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมาช้านานหลังใช้กฎหมายลิขสิทธิ์แต่ปี 2537 ระยะหนึ่งเป็นต้นมา
กลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนใช้กฎหมายฉบับนี้รีดทรัพย์ประชาชน ทั้งผู้ละเมิดและแม้กระทั่งไม่ละเมิด ได้ ด้วยการอาศัยตำรวจผู้รักษากฎหมายเป็นเครื่องมือนั่นเอง
ตามข้อเท็จจริง การละเมิดลิขสิทธิ์ “ไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า” ที่ตำรวจมีอำนาจจับใครมาดำเนินคดีได้โดยไม่มีหมายศาลแต่อย่างใด
ตามกฎหมาย เมื่อมีการแจ้งความร้องทุกข์ ก็จะต้องเริ่มจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นองค์ประกอบของการกระทำผิดให้ได้ความแน่ชัดก่อน
แม้แต่การจะ ออกหมายเรียก ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลใดมาดำเนินคดี ก็ยังมีข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาให้ต้องพิจารณาอีกมากมาย
เริ่มตั้งแต่บุคคลนั้นได้รับมอบอำนาจจริงหรือไม่? เป็นเอกสารตัวจริง หรือ หากเป็นฉบับถ่ายสำเนาก็ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้
มอบอำนาจกันแต่เมื่อใด ให้ใช้เพื่อการละเมิดกรณีนี้ หรือมีการมอบไว้ในคดีอื่นนานมาแล้ว
ผลิตภัณฑ์นั้นมีลิขสิทธิ์ได้จดทะเบียนไว้จริงหรือไม่ จดที่ใด เมื่อใด รูปลักษณ์ทั้งหมดตรงกันหรือไม่ บุคคลใดเป็นผู้ละเมิด นายจ้าง รวมทั้งลูกจ้างผู้รับจ้าง ใครรู้เรื่องอย่างแน่ชัดบ้าง
ที่สำคัญก็คือ มี “เจตนาในการกระทำ” หรือไม่?
เนื่องจากหลักกฎหมายอาญาทั่วไปบัญญัติว่า บุคคลต้องรับผิดต่อเมื่อกระทำโดยเจตนาเท่านั้น
เว้นแต่การกระทำโดยประมาท หรือกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนา เช่น ความผิดลหุโทษตามกฎหมายอาญา ความผิดข้อหาจราจร รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับภาษีหลายกรณี
ปัจจุบันสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่วางขายในท้องตลาดรวม ทั้งที่ปรากฏในโลกยุคออนไลน์ปัจจุบันมีมากมายเหลือคณานับ
ซึ่งไม่มีประชาชนคนใดรู้อย่างแท้จริงว่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ ภาพ หรืองานใดจดทะเบียนลิขสิทธิ์ไว้บ้าง ที่ใด?
เมื่อบุคคลไม่ได้เจตนา ก็ถือไม่ได้ว่ากระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
เว้นแต่มีพฤติการณ์ที่ผู้ร้องทุกข์พิสูจน์ได้ว่า ควรรู้ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
หากผู้แจ้งแสดงพยานหลักฐานเช่นนั้นไม่ได้ ก็ยังไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดแต่อย่างใด
แม้แต่การ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา ก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ
แต่ปัญหาสำคัญเกิดจากส่วนแบ่งรายได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นเหตุให้ตำรวจหลายคนขมีขมันในการลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความคดีลิขสิทธิ์
และสั่งให้ตำรวจรีบเดินตามตัวแทนไปจับกุมและควบคุมตัวมาดำเนินคดีที่สถานี
โดยมีเหตุผลอ้างว่า ถ้าไม่ไปจับกุมตามที่ตัวแทนแจ้งความ ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมายเข้าข่ายผิดอาญามาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
เลยต้องจำใจไปจับตัวผู้ละเมิดมาดำเนินคดี
อำนวยความสะดวก ให้มีการเจรจาต่อรองกันที่สถานีตกลงกัน
พร้อมบอกกับ ผู้ถูกจับ ว่า หากตกลงกันไม่ได้ ก็จำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ในห้องขัง หรือหากจะใช้เงินประกันก็ต้องห้าหมื่นบาทขึ้นไป
ทำให้ส่วนใหญ่มักตกลงกันได้ เนื่องจากผู้ถูกจับต่อรองขอจ่ายให้เท่านั้นเท่านี้เท่าที่มีหรือพอหยิบยืมจากบุคคลต่างๆ มาแก้ปัญหา
เพื่อจะไม่ต้องถูกคุมขังหรือใช้เงินสดห้าหมื่นบาทเป็นทรัพย์ประกัน
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนก็จะลงบันทึกประจำวันไว้ อีกข้อหนึ่ง ต่อจากข้อแรกว่า
ตัวแทนตกลงกับผู้ต้องหาได้ มีการชดใช้กันจนเป็นที่พอใจ ผู้เสียหายไม่ติดใจให้มีการดำเนินคดี และจัดให้มีการถอนคำร้องทุกข์ยอมความกันแล้ว
คดีอาญาเป็นอันยุติไป โดยไม่ต้องสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง
เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้มีการ รับคำร้องทุกข์แบบมีเลขคดีอาญา เข้าสารบบตามกฎหมายแต่อย่างใด
ใบมอบอำนาจแม้เป็นตัวจริง ก็ไม่ต้องเก็บเป็นหลักฐานประกอบสำนวนไว้ สามารถนำไปใช้ในแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีที่ตรวจพบสถานีอื่นๆ ต่อไป
ปัญหาสำคัญเกิดจากตำรวจผู้ใหญ่ “ที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย” หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ถูกกล่าวหามาควบคุมตัวไว้ได้นั่นเอง!
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 11 พ.ย. 2562