‘คุกมีไว้ขังคนจน…จริงหรือ?’ประธานศาลฎีกายกสถิติยันไม่ได้ขังคนระหว่างพิจารณาคดีเกินจำเป็น รับยังไม่มีการนิยามว่าคนรวย-คนจน ลั่นไม่ปล่อยอาชญากรที่เป็นคนรวย
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2562 ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เข้าร่วมงานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20 จัดโดยชมรมเพื่อนโดมและสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ผู้นำนักศึกษายุค พ.ศ.2494 นำนักศึกษาขับไล่ทหารซึ่งยึดอาคารเรียนท่าพระจันทร์ไว้ เพราะความระแวงว่าธรรมศาสตร์เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการกบฏแมนฮัตตัน ออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ โดยภายในงานมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ร่วมปาฐกถา, นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายมานิตย์ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การต้อนรับ ขณะที่ทางศาลมีนายไมตรี สุเทพากุล ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายคมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ เลขานุการศาลฎีกา ร่วมงาน
นายไสลเกษ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจน…จริงหรือ?” ใจความว่า ตนสัมผัสกับความทุกข์ยากของประชาชนมาตลอด พ่อของตนเป็นเพียงเสมียนศาล และตนผ่านวิกฤตเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516, 6 ตุลาฯ 2519 เห็นคนบริสุทธิ์ถูกแขวนแขนคอกับต้นมะขาม รวมถึงเหตุการณ์วิกฤตตุลาการปี 2534 พบว่าสังคมเรายังมีความไม่ยุติธรรม ยังมีการเอารัดเอาเปรียบกัน ความที่ตนเป็นชาวธรรมศาสตร์มีสำนึกเสมอว่า เรารักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน มันสะท้อนในใจเสมอมา ตนยึดหลักต้องละเว้นจากการรับสินบน ต้องมีลมหายใจไว้เพื่อทำงานในช่วงดำรงตำแหน่ง หลักสำคัญคือ รักษาคนบริสุทธิ์และปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตนจึงขอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดเป็นนโยบาย และพบว่าทุกวันนี้ยังมีปัญหามากมายต้องแก้ไขจึงต้องลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขทำได้จริง ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ตนจะแถลงนโยบายต่อผู้พิพากษา และสื่อมวลชนเพื่อสะท้อนถึงประชาชน หัวใจสำคัญคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม ผู้ต้องหา จำเลยที่รอการพิสูจน์ว่าผิดหรือบริสุทธิ์
นายไสลเกษ กล่าวว่า มีกระแสความคิดว่า ศาลปล่อยผู้ต้องขังน้อย ไม่ให้โอกาสคนออกมาสู้คดี และคุกมีไว้ขังคนจนจริงหรือไม่ ขออธิบายว่า จากการวิจัยของหลายหน่วยงานพบว่า คนที่ต้องขังส่วนใหญ่เป็นคนจน แต่ก็ไม่มีนิยามว่าอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่าคนนี้จน คนนี้ไม่จน มีการตั้งสมมติฐานว่าคนที่มีความรู้ การศึกษา มีฐานะ มีโอกาสทางการศึกษา จึงรู้ว่าอะไรผิดถูก โอกาสติดคุกก็น้อยลง แต่เราแน่ใจหรือว่า คำพูดที่ว่ารวยแล้วไม่โกง มันจริงหรือ การศึกษาสูง ทำให้คนทำผิดน้อยลง มันจริงหรือ คนจนคนด้อยโอกาสทางการศึกษา ขาดสติยั้งคิด ไปก่อเหตุลักวิ่งชิงปล้นก็ง่าย คดีเกิดบ่อย จับได้บ่อย จริงหรือไม่ ส่วนคนรวยเป็นคนมีความรู้ทางการเงิน มักจะทำผิดข้อหาฉ้อโกง ฟอกเงิน ปั่นหุ้น มีวิธีการก่ออาชญากรรมที่มีการใช้องค์ความรู้ มีรายละเอียดสลับซับซ้อนกว่าการลักวิ่งชิงปล้น ทำให้ถูกจับยากกว่า จริงหรือไม่ และมีใครเคยเห็นคนจนทำผิดข้อหาปลอมใบกำกับภาษี หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรนำเข้าส่งออกสินค้าบ้าง ไม่มีใช่หรือไม่
“จึงมีคำถามว่าแล้วในคุก มีคนจนกับคนรวยใครมากน้อยกว่ากัน จากรายงานของคณะทำงานของผม พบว่าปี 2561 มีผู้ต้องขังทั่วประเทศ 680,000 กว่าคน มี 90,000 กว่าคน ถูกศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้จำคุก ที่เหลือร้อยละ 42 ศาลปล่อยเพราะรอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ และร้อยละ 58 ศาลสั่งปรับ กักขัง แสดงว่ามีคนติดคุกจริงๆ เพียงร้อยละ 16.5 ในจำนวนนี้ยังไม่มีการวิจัยว่า ในร้อยละ 16.5 นี้ เป็นคนรวยกี่คน อาจเพราะว่ายังไม่มีการนิยามว่าคนรวยคนจน หรืออาจจะไม่มีการแยกประเภทมาก่อน แต่ยอมรับหรือไม่ว่าอาชญากรที่เป็นคนรวยถูกจับยากกว่า และคนที่หลบหนีระหว่างศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวมากที่สุดคือคนรวย”
ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า ดูรายงานปี 2562 นับถึงเดือน ต.ค. มีผู้ต้องขัง 360,000 คน แยกแยะดังนี้ คือถูกขังในระหว่างช่วงการสอบสวน ก่อนฟ้องคดี 20,000 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ถูกขังไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น 10,000 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 2.8 ถูกขังในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์และฎีกา 20,000 กว่าคน ร้อยละ 8 รวมๆ แล้วคือร้อยละ 16 ที่เหลือร้อยละ 84 คือคนที่ถูกขังเพราะคดีเสร็จเด็ดขาด ให้ต้องรับโทษจำคุก ซึ่งเป็นขั้นตอนชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาที่คนรวยหรือจนต้องรับเหมือนกัน เราต้องดูที่ตัวเลข เพราะเป็นข้อมูลที่แท้จริง คราวนี้มาดูเรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ขอปล่อยตัวชั่วคราว พบว่าปี 2560 มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัว 220,000 กว่าราย ศาลพิจารณาปล่อยตัว 210,000 กว่าราย แสดงว่าปล่อยถึงร้อยละ 93.6 และขังอยู่ระหว่างพิจารณาเพียงร้อยละ 16.4 เท่านั้นเอง ถามว่าที่กล่าวกันว่า ศาลขังไว้ระหว่างพิจารณาเกินความจำเป็นจริงหรือ ขอยืนยันว่า ที่พูดกันว่าศาลขังคนไว้โดยไม่จำเป็นนั้น ไม่เป็นความจริง
“แล้วคนที่ยังถูกขังมีโอกาสจะได้ออกมาหรือไม่ ทางราชทัณฑ์เองก็บอกว่าคุกไม่พอขังแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 29 ก็บอกว่า ถ้ายังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตนเห็นว่า คำว่าผู้บริสุทธิ์นั้น เมื่อคนที่ถูกจับมายังถูกดำเนินคดีในชั้นสอบสวน ในชั้นศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องประทับฟ้อง อาจมองได้ว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่าผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน อย่างนี้ยังจะเรียกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่อีกหรือไม่ หันมาดูจากหลักการที่ว่า “คำพิพากษายังคงใช้ได้ จนกว่าจะถูกยกเลิกเพิกถอนเปลี่ยนแปลงโดยคำพิพากษาในภายหลัง” ก็ย่อมแสดงว่า คดีที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว ผ่านการสืบพยานชั่งน้ำหนักหักล้างต่อสู้กันอย่างเต็มที่แล้ว ต้องใช้บังคับได้”
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า ที่รัฐธรรมนูญยังพูดว่า ตราบใดถ้าศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาผิด ให้สันนิษฐานว่าเขาบริสุทธิ์ ในขณะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วว่าคนๆ นี้เป็นผู้กระทำความผิด ยังจะต้องปฏิบัติต่อคนผู้นี้เช่นเดียวกับหลักคิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเอาหลักสามัญสำนึกมาใช้ มันจะใช้กันได้หรือไม่ เราได้มองในมุมของผู้เสียหาย เหยื่ออาชญากรรม เด็ก สตรี คนชรา ที่ถูกทำร้าย ข่มขืนฆ่าบ้างหรือไม่ เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ จึงจะมองด้านผู้ต้องหาจำเลยด้านเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมด้วย ผมเชื่อว่าศาลยุติธรรมจะไม่ปล่อยอาชญากรที่ปล้น ฆ่า ฆ่าข่มขืนอย่างแน่นอน ต่อให้รวยแค่ไหนก็ตาม
“ในยุคสื่อโชเชียล มีข่าวดราม่าเกิดขึ้นชี้นำสังคมมากมาย ขอให้รับฟังข้อมูลที่แท้จริง ตัวอย่างเช่นคดีตายายเก็บเห็ดถูกจับ ใครจะรู้บ้างว่าที่แท้จริงเป็นคดีที่คนถูกจับเป็นนอมินีของคนรวยไปบุกรุกที่ดินกว่าสิบไร่ มีการครอบครองไม้ต้องห้าม หรือคดีอาจารย์มหาวิทยาลัยฆ่าภรรยาเพราะมีเรื่องระหองระแหง ฝ่ายชายเกิดโมโหทำร้ายภรรยาด้วยของที่อยู่ในถุงกอล์ฟ สื่อเสนอข่าวกันเป็นสิบวัน แรกๆ ก็มีข่าวว่าอาจารย์ตีเมียด้วยอุปกรณ์หัวไม้ 1 ต่อมากลายเป็นตีด้วยหัวไม้3 ต่อมากลายเป็นหัวเหล็ก 7 พอศาลพิพากษากลายเป็นว่าจำเลยตีด้วยร่ม ศาลสั่งสืบเสาะประวัติพบว่าครอบครัวขอให้ศาลรอการลงโทษ เพราะสามีภรรยามีลูกเป็นเด็กเล็กสองคนที่เขาต้องเลี้ยงหลังภรรยาถูกตีตาย ถ้าติดคุกใครจะเลี้ยงลูก ศาลจึงรอลงอาญาให้”นายไสลเกษ กล่าวทิ้งท้าย