วิกฤติยุติธรรมชายแดนใต้!วงสัมมนาแฉกระบวนการซ้อม-ทรมานลั่นความยุติธรรมไม่เกิดดับไฟใต้ไม่ได้ จี้ยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงแรมตันหยง จ.นราธิวาส มีการสัมมนา เรื่อง “วิกฤติความยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้ จากบทเรียนสู่การปฏิรูป” จัดโดย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ดำเนินรายการโดย คุณบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กรรมการสป.ยธ.
โดยคุณสมศรี หาญอนันทสุข กรรมการ สป.ยธ และผู้ประสานงาน คป.ตร. กล่าวรายงานว่า การพูดถึงวิกฤตกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนใต้ จากบทเรียนสู่การปฏิรูปนั้น มาจากความพยายามที่จะให้กระบวนการยุติธรรมต้นธาร ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดี เราพูดกันมาในเรื่องความรุนแรง การแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี การเจรจาสันติภาพ แต่ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ยังดำรงอยู่ มีเรื่องที่ต้องร่วมกันแก้ไขในหลายมิติ ทั้งปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างอำนาจ ปัญหากฎหมายทางอาญา การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ทัศนคติ และปัญหาที่มีการพูดกันมากที่สุดคือการใช้กฎหมายพิเศษ
ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่จะพูดถึงกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นที่ดูจะเป็นเรื่องที่พี่น้องในสามจังหวัดยังให้ความสำคัญน้อย เพราะสถานการณ์ที่นี่จะเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของทหารมากกว่า โดยหารู้ไม่ว่าการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง เราต่างต้องการความปลอดภัย ความเป็นมิตร ทุกคนไม่ต้องการผู้บังคับใช้กฎหมายทำหน้าที่ที่เกินเลย บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือละเลยไม่ทำหน้าที่ และต้องยอมรับว่าภายในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมนั้น มีปัญหา มีการทุจริตประพฤติมิชอบ มีการแทรกแซงในทุกระดับ และละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชนผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน ถูกตำรวจรีดไถ ยัดข้อหา ยัดยา และใช้อำนาจนอกกฎหมายซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย คนได้รับความทุกข์ร้อนอย่างหนักดังที่เป็นข่าวให้เห็นตามสื่อทุกวัน ภายในวงการตำรวจกันเอง มีตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม ช่วง 3 เดือนที่ผ่านตำรวจฆ่าตัวตาย 5 คน มีการลาออกนับ 100 คน ผู้พิพากษายิงตัวเองที่ยะลา ประชาชนเข้าไปอยู่ในเรือนจำเกือบ 4 แสนคน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นคดียาเสพติดที่มีการลงโทษอย่างไม่ได้สัดส่วนจำนวนมาก แบบนี้แล้วจะไม่ใช้คำว่า “วิกฤติกระบวนการยุติธรรม” แล้วจะใช้อะไร
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร) ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้ จนได้มีการศึกษาที่มาที่ไปของปัญหาต้นธารกระบวนการยุติธรรม ทำการรณรงค์มาสามปี จนมีการตั้งเป็นสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. ขี้นมาทำงานวิชาการคู่ขนานกันไปและได้จัดกิจกรรมร่วมกับภาคประชาสังคมหลายครั้ง จนทุกฝ่ายยอมรับว่า ในช่วง 5 ปีทีผ่านมาเป็นช่วงวิกฤติศรัทธาของตำรวจทั่วประเทศที่ตกต่ำสุดขีด ไม่เพียงแต่ประชาชนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตำรวจเท่านั้นแต่ตำรวจจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยทั้งหลายก็ต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะการรวมศูนย์อำนาจ และการเพิ่มงาน ย้ายงานให้ไปทำในสิ่งที่ต้นไม่ถนัด การไม่สามารถทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทำให้ตำรวจไม่มีกำลังใจทำงาน
เรายอมรับว่าตำรวจดีๆหลายคนอยากทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่อยากจับแพะ หรือรีดไถ หรือเบียดเบียนประชาชน แต่ก็ต้องทำตามตำรวจผู้ใหญ่หรือทำตามนายสั่ง ปัญหาที่เกิดกับประชาชนและเกิดกับตำรวจเองเป็นที่รับรู้ของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย จนเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้ตราเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกในหมวดปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 (ง) ที่ต้องการให้ปฏิรูปเพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชนโดยไม่ล่าช้า
คุณพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าการจังหวัดนราธิวาส กล่าวเปิด ด้วยการพูดปัญหาที่เกิดขึ้นยังดำรงอยู่ ในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเรา ทำงานภาคใต้มาตลอด เกิด และศึกษาที่นราธิวาส และมีชีวิตอยู่ตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ อยู่ในพื้นที่นี้ และอยากให้พวกเราช่วยกันนำพาสิ่งที่ดีๆมาสู่คนทั้งประเทศ ถ้าที่นี่เป็นห้องเรียนหรือห้องทดลองเพื่อสร้างสรรค์ เป็นที่นำเสนอ ก็อยากจะให้ที่นี่ เป็นต้นแบบเรียนรู้ไปสู่ข้อเสนอที่จะนำมาสู่ความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่นำความแตกต่างทางศาสนา วิถีการดำรงชีวิตมาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความอยุติธรรมต่อกัน มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันและเรียนรู้กัน เอาความหลากหลายที่ประสบพบเจอมาแชร์กัน มาสร้างและเสนอรูปแบบที่จะดำรงความเป็นมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกัน โลกสร้างมนุษย์มาสองส่วนคือชายและหญิง ถ้าเอาความรู้สึกความจริงใจความเชื่อมั่นมาวางด้วยกัน นำไปขยายผลเพื่อพึงปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม นำบทเรียนมาขยายผล เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ในเชิงโครงสร้าง แนวทางปฏิบัติ เป็นต้นทางในกระบวนการยุติธรรม
ก่อนที่จะพูดถึงกระบวนการสอบสวน ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติต่อกันเป็นอย่างไร เราต้องให้กำลังใจกัน แม้จะยังมีความสงสัย ความไม่วางใจกัน ก็สามารถมีโจทย์คำถามต่อกันได้ ถือโอกาสให้เราช่วยกันดูพิจารณาร่วมกัน กระบวนการยุติธรรมของเรามันมีสายป่านที่ยาวมาก ยาวไกลเหมือนจากนราธิวาสไปสู่เมืองจีน ฝากพวกเราทุกคนในฐานะที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลจากหลายๆสิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายเรื่องมากกว่ากระบวนการยุติธรรม ที่เราต้องช่วยกันใช้พื้นที่นราธิวาสเป็นโอกาสของนราธิวาส แต่ก็เป็นคำถามที่อยากจะถามเช่นกันว่า “นราธิวาสพลาดได้อย่างไร” เราถูกทำลายความยุติธรรมอย่างมหาศาล 15 ปีที่เราพลาดไปกับ 3 จังหวัดภาคใต้ เราทำลายความเป็นจังหวัดชายแดนอย่างรุนแรง แล้วยังเอาความเป็นโครงสร้างมาซ้ำเติมให้พวกเราอีก วันนี้เราเป็นกลุ่มเล็กๆที่จะต้องร่วมกันดูแลกลุ่มเล็กๆด้วยกัน
คุณอนุพงศ์ พันธชยางกูร (กำนันโต๊ะเด็ง) อดีตจำเลยคดีปล้นปืน กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ”ค่ายปิเหล็ง”ปี2547 กล่าวว่า ผมโดนคดีปล้นปืน หลายคนมองว่าเป็นคดีที่เท่ห์มาก เพราะคดีที่หนักขนาดนี้จึงมีคนมาคอยดูแลผมในเรือนจำ แต่เรื่องของผมเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จินตนาการเป็นเรื่องของต้นทางกระบวนการยุติธรรม ในตอนนั้นผมเคยเป็นคนเจรจาค้าขายธุรกิจกับต่างประเทศ แต่ตอนนี้นักธุรกิจเขาหนีหายไปหมดเพราะผมต้องคดีร้ายแรง “จากอดีตนักโทษชาย ปี 2547 ถึงผู้พิพากษาคณากร ปี 2562” อ่านข้อความของผู้พิพากษา 25 หน้าแล้วสะดุดที่หน้าที่ 20 ในคำบางคำที่คนๆหนึ่งใช้ไม้ซีกงัดไม้ซุงอย่างกล้าหาญ หลังจากที่ผมถูกซ้อมทรมานและพอออกมาจากเรือนจำผมก็ใช้ไม่ซีกฟ้องรอง ผบ.ตร.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยรู้ว่าเราสู้ไม่ได้สู้มาอยู่ 10 ปี แล้วมาฟ้องที่ดีเอสไอ ก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา เจอท่านณรงค์ จันทึก แล้วผลที่ออกมามันทำให้ผมเข้าใจว่าเรางัดไม้ซุงไม่ได้ การต่อสู้ของเราเพื่อสร้างความเป็นธรรม
ท่านคณากรตัดสินใจยิงตัวเองแสดงว่าอัดอั้นตันใจอย่างมาก ทำไมท่านต้องมาเจ็บปวดกับอะไรหลายอย่าง อยู่ดีๆก็ท่านก็สบายอยู่แล้ว ถ้าเขาให้ทำอะไรท่านก็ทำตามไปซะ ประชาชนจะเดือดร้อนก็ช่างมัน ท่านก็อยู่ได้สบายๆ แต่นี่ท่านต้องยอมเจ็บตัวเพื่ออะไรกัน ผมคาดไม่ถึงที่จะได้ข่าวนี้ และเสียงผมไม่ดังมาก แต่ท่านคณากรนั้นเสี่ยงกว่าผมมาก เสี่ยงเพื่อใคร เสียงปืนของท่านเป็นไม่ซีกที่งัดไม้ซุง แต่ยังไงก็ตามทุกอย่างต้องมีครั้งแรก ผมตื้นตันกับความเจ็บปวดของท่านรู้สึกเช่นกันแม้เหตุการณ์มันจะห่างกัน 10 ปี
ต้นน้ำคือกระบวนการสอบสวน ปลายน้ำคือคุก ผมเจอกับมันมาสองรอบและเจอมาหมดแล้ว ท่านผู้พิพากษาบอกว่า แถลงการณ์ของผมเบาหวิวเหมือนขนนก แต่หัวใจของผมหนักแน่นดั่งขุนเขา ผมเชื่อว่าหลายคนที่มาวันนี้จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมาแล้ว เราเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ถูกกล่าวหา ผมเคยเป็นกำนันมาก่อนได้เหรียญมา แต่ตอนนี้กลายเป็นโจร หมดสิ้นทุกอย่าง ธุรกิจหมดสิ้น ลูกชายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ลูกสาวเป็นโรคซึมเศร้า ต่อมาลูกสาวเรียนนิติฯ ม. รามคำแหง ลูกชายผมเครียดมากเมื่อมาโดนข้อหาว่าเป็นผู้ดูต้นทางให้ผมไปปล้นปืน จนเส้นประสาทในสมองบวมต้องนอนติดเตียงทำอะไรไม่ได้ สงสารลูกอย่างมาก
เรื่องของการซ้อม และทรมาน สองคำนี้มีความแตกต่างกัน การซ้อม ผมอยากบอกว่าผมถูกซ้อมทรมานมาทุกรูปแบบ เป็นการโดนแมกไม้มวยไทย โดนทุกอย่างสารพัด เจ้าหน้าที่มักจะพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการซ้อมจริงหรือไม่ และใครเป็นคนซ้อม เราต้องพูดกันในเชิงวิทยาศาสตร์ คนที่ซ้อมได้ต้องมีจิตใจที่โหดเหี้ยมอย่างมากจึงจะทำได้ขนาดนั้น ส่วนการทรมาน
การทรมาน มักจะเป็นการ กดน้ำ เปิดแอร์ ถอดเสื้อผ้า เอาผ้าขนหนูไว้ที่หน้าแล้วหยดน้ำให้หายใจไม่ออก เกือบตาย จนผมต้องถามกลับไปในขณะที่จะเสียชีวิต จนต้องถามไปว่า “ท่านจะให้ผมทำอะไร” แค่นี้เจ้าหน้าที่ก็นำคำที่ผมพูดไปใช้ประกาศได้แล้วว่า “ผมสารภาพแล้ว”
เรื่องการซ้อมทรมานผมเจอหนังสือที่เขียนโดย Dr. Mark Goulston เขียนหนังสือเชิงจิตวิทยา ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาของ FBI มีการศึกษาระบบการทำงานของอเมริกา มาร์ก บอกว่าสมองเรามีอยู่สามลูก เป็นสมองชั้นสัตว์เลื้อยคลานคือไม่สู้ก็ถอย ต่อมาวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ เป็นชั้นเลี้ยงลูกด้วยนม แต่สมองชั้นแรกมันยังไม่ได้ลบทิ้ง และต่อมามีชั้น private layer ที่ทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วมีอีกชั้นหนึ่งที่คอยควบคุมสมองส่วนอื่นอีกที การศึกษานี้มีการให้ผู้เชี่ยวชาญ Robert Hair คอยตรวจสอบอีกที จนทราบว่าคนเรามีคลื่นสมองซึ่งมีอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านคลื่น เมื่อเอาสมองของผู้กระทำความรุนแรงดังกล่าวไปให้ท่านตรวจดู ท่านก็ถามว่าเอาสมองอันนี้มาทำไม มันไม่ได้เป็นสมองปกติ เป็นสมองของความเกรี้ยวกราด ฮึกเหิม มีอารมณ์ที่สามารถสั่งการให้คนทำอะไรได้ แต่ไม่ใช่คนบ้านะ มันเป็นการตรวจสอบของผู้ชำนาญการ
ต่อมาเรามาดูว่ามันทำงานอย่างไร คือมันทำงานโดยมีประจุไฟฟ้า และมีของเหลว ที่เราสื่อสารกันด้วยประจุไฟฟ้าและของเหลว หากมีไฟฟ้าหรือของเหลวมากระตุ้น สมองจะมีอาการ shock ถ้าเอาน้ำไปคลุม หรือเอาถุงดำมาคลุมหัว สมองจะ shock โดยถุงดำจะช่วยให้เกิดอาการ knock เร็วกว่าการคลุมด้วยถุงขาว ที่สามารถมองเห็นได้จากด้านนอก ผมเจอมาหมดแล้ว รวมทั้งเคยถูกไฟฟ้าจี้ที่ของลับด้วย แล้วจะให้ผู้สงสัยพูดอะไร เขาก็ต้องถามนำ “ใช่หรือไม่” ถามไปมาจนเรามึน แล้วพูดไม่รู้เรื่อง แล้วก็มักเอารูปต่างๆมาให้ดูแล้วถามว่าใช่หรือไม่ ขณะที่สมองเราไม่ทำงานก็จะผงกหัวอย่างเดียว แล้วผู้ซ้อมก็บอกว่า “เขารับสารภาพหมดแล้ว” ผมอยากจะบอกว่าการรับสารภาพแบบนี้มันไม่น่าเชื่อถือ ดังที่ท่านผู้พิพากษาคณากรเขียนไว้ ดังนั้นแรงกดดันดังกล่าวทำให้ท่านหาทางออกด้วยการยิงตัวตายดังที่ท่านเห็น
อีกประการหนึ่ง ผมอยากให้เจ้าหน้าที่ให้ผู้ต้องสงสัยได้สิทธิ์พบทนายได้ ไม่ใช่แจ้งว่าแค่มีสิทธิ์ และการสอบสวนต้องมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพและเสียงแล้วนำภาพวงจรปิดเก็บไว้ให้อัยการและศาลได้ดูด้วย ผมเคยเป็นกำนันและสถานการณ์ในขณะนั้นสงบสุข ขออ้างว่าในรัฐกาลที่ 5 เคยมีการใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมในการสอบสวนด้วย แล้วรายงานให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ เรามีผู้ต้องขังที่ใช้งบประมาณถึง 12,141 ล้านบาท ในการดูแลนักโทษในเรือนจำแก้ปัญหาคนล้นคุกด้วย
คุณสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของผู้ถูกซ้อมทรมานจาก จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเห็นด้วยว่าการลงโทษคนใดคนหนึ่งไม่ใช่เฉพาะคนนั้นถูกลงโทษ แต่ครอบครัวของเขาถูกลงโทษไปด้วย มันเป็นความฉิบหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าเขาเป็นจตุรเทพ ที่ทำอะไรก็ได้ เดิมผมเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องทรมาน ไม่คิดว่าจะเกิดกับผม ผมไม่มีการศึกษา มีต้นทุนชีวิตต่ำ มัวแต่ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว เคยเห็นการทำร้ายทรมานเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่คงจะอยู่กับสังคมไทยไปตลอด แต่พอเกิดกับลูกชายผม มันเป็นความฉิบหาย วิบัติกับครอบครัวผม มันเกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับลูกชายผมไปซ้อม แล้วใช้ถุงดำครอบหัวไม่ให้มีอากาสหายใจเพื่อให้ยอมรับว่าไปลูกชายไปฉกชิงวิงราวทรัพย์ การทรมานทำให้สมองเขาได้รับการกระทบกระเทือน จนลูกผมต้องยอมรับและให้ไปหาของที่เอาไปในที่เกิดเหตุ โดยไม่มีการบันทึกจับกุม แต่ดำเนินคดีลูกผมไปแล้ว แล้วผมต้องต่อสู้ในสิ่งที่ลูกไม่ได้ทำเลย
ในเรื่องทั้งหมดเป็นความซวยของคนสามคนมาเจอกัน คือคนที่ถูกกระชากทรัพย์แต่คนๆนี้เห็นแก่ตัวมากคือชี้ตัวไปก่อนเพื่อให้ได้เงินคืนมาก่อน ซวยที่สอง คือตำรวจที่ขอจับตัวคนไปก่อนแล้วกระทืบทรมานไปก่อนให้สารภาพ ซวยที่สามคือลูกและครอบครัวผม ผมเจอมาแล้วเป็นทั้งโจทก์และจำเลย ผ่านมาทุกรูปแบบ เงินทองหมดกับการวิ่งคดีมา 10 ปีไปทุกกระทรวงทบวนกรม และลูกผมตอนนี้ก็ถูกฟ้องกลับ โดยพิพากษาให้เราต้องจ่ายเงิน 1 แสนบาท หรือไม่ต้องจำคุก 5 ปี เรายืนยันจะสู้จนชีวิตจะหาไม่ แต่ต้องสัญญาว่าจะไม่เอาชีวิตไปกระโดดตึกศาล เวลาเราพูดถึงการทรมาน เรารู้ว่ามันเกิดขึ้นจริง ศาลก็รู้ว่าความเป็นจริงคืออะไร แต่เจ้าหน้าที่มักตั้งโต๊ะแถลงว่ามันไม่มีการทรมานจริง เป็นการหกล้ม เตะโต๊ะล้มเอง เจ็บเอง ตายเอง
การละเมิดสิทธิฯเป็นอาชญากรรม เป็นการละเมิดที่ร้ายแรง มันโหดร้ายทารุณ สร้างความเดือนร้อนมาก ลูกผมตกเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชที่เรียกว่า PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) -สภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก) คือความเครียดอย่างรุนแรง ต้องไปหาแพทย์รับยาเป็นประจำ ถ้าทุกคนใช้สมองส่วนกลางที่เป็นสมองศีลธรรมก็จะไม่ละเมิดสิทธิฯคนอื่น แต่ถ้าเอาสมองของสัตว์เดียรัจฉานมาใช้ ก็จะทำร้ายคนอื่น สิ่งที่ทำก็เพื่อเอาใจนาย ทำเพื่อให้จบๆ มันจะเป็นอย่างที่เห็นกัน
ผมเป็นเขยของตากใบ ผมเห็นว่าการแก้ไขที่มันไม่มีผลสัมฤทธิ์ เราจะเห็นว่าการกล่าวอ้างกรณีที่กำนันโต๊ะเด็งพูดให้ฟัง หรือกรณีลูกชายผม ซึ่งชนะคดีไปบ้างแล้ว ที่ชนะนั้นก็เพราะผมสู้ แต่ก็ยังเชื่อว่าลูกผมไม่ใช่แพะตัวสุดท้าย ยังมีแพะตัวต่อไปอีก
อ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ บอกว่า ปีที่แล้วผมทำการสำรวจความรับรู้ของประชาชนที่มีต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นผลการทำวิจัยมีตัวชี้วัดของสหประชาชาติ รัฐธรรมนูญ และกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิม พบว่าคนเข้าถึงขั้นตอนของกฎหมายน้อย แต่จะรับรู้เรื่องกฎหมายพิเศษมากกว่ากฎหมายปกติ มองว่าการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในชั้นที่มีกฎอัยการศึก หรือกฎหมายพิเศษ มีน้อยกว่าสถานการณ์ปกติ มันสะท้อนในภาพรวมว่าความเชื่อมั่นอยู่ในระดับน้อย แต่ก็มีความเชื่อมั่นศาลมากกว่าอัยการและส่วนอื่นๆ แล้วความเชื่อมั่นในเรื่องความมั่นคงมีน้อยเช่นกัน จะเห็นว่าประชาชนมองกระบวนการยุติธรรมในเชิงลบ ส่วนใหญ่ความเห็นทั้งสองเพศไม่มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ และคนมุสลิมมองกระบวนการยุติธรรมต่ำกว่าคนพุทธ คนปัตตานีจะมองกระบวนการยุติธรรมติดลบมากกว่าคนในจังหวัดยะลาและนราธิวาส
ส่วนประเด็นที่อยากจะพูดต่อเป็นเรื่องผู้พิพากษาคณากร ที่เขียนถึงการใช้กฎหมายพิเศษทำให้ผู้ต้องสงสัยกรณีนี้ซึ่งมีความบริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่ศักดิ์และสิทธิด้อยกว่าผู้ต้องหา เราเห็นแล้วว่าการเอากฎหมายความมั่นคงมาใช้มีปัญหามากกว่า คือใช้กฎหมายกฎอัยการศึกในสภาวะสงคราม มาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ผมขอเสนอให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง เพราะมีเยาวชนถูกจับมากมาย มันเคยมีกรณีที่พ่อเคยถูกจับแล้วซ้อมทรมาน ต่อมาลูกชายก็ถูกจับในลักษณะแบบเดียวกัน จึงไม่แปลกที่หากลูกชายจะเข้าร่วมกับกระบวนการก่อการร้าย ถ้าเราให้ความเป็นธรรมไม่ได้ เราก็แก้ปัญหาสามจังหวัดไม่ได้
มีงานหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงมันไม่แก้ปัญหา จากการสำรวจล่าสุดของคณะนิติศาสตร์ ม.สงขลา จะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความเชื่อมั่นต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในชั้นสืบสวนสอบสวนว่าจะเป็นไปอย่างถูกต้อง เราต้องแก้ไขกฎหมายให้รับรองสิทธิโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็พอแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลเองก็ควรปฏิเสธการใช้กฎหมาย ฉฉ. หรือ พรบ.ฉุกเฉิน เวลาขอขยายการควบคุมตัวต้องนำเจ้าตัวมาด้วย แต่สมัยนี้เรามีวิธีการมากมายที่จะควบคุมตัว ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดิมๆ ที่สามจังหวัด เรามักใช้ พรบ.ดังกล่าวกับคดีอื่นๆ คือพอจับมาแล้วก็ใช้ กฎหมายพิเศษจัดการก่อน
ในการใช้ กฎหมายวิธีพิจารณาความมั่นคงมันมีความจำกัดสิทธิมากกว่าการใช้วิธีพิจารณาความอาญา การตรวจสอบ DNA และบังคับให้ลงทะเบียน sim card ซึ่งสร้างความกังวลกับประชาชน การใช้ DNA ก็ต้องระวัง ใครเข้าไปในที่เกิดเหตุก่อน จะยืนยันอย่างไรว่า DNA นั้นเป็นตัวที่เกิดในที่เกิดเหตุจริง หน้าที่ของศาลคือผู้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการ ตำรวจ มันต้องตรวจสอบกัน ไม่ใช่แค่เรื่องถ่วงดุล check and balance
ในเชิงหลักการการแทรกแซงที่เกิดกับกรณี คณากร เพียรชนะ การตรวจร่างสำนวนผู้น้อยโดย ผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ต้องมีความชัดเจนว่ามีขอบเขตแค่ไหน ไม่น่าจะตรวจสำนวนโวหารที่ทุกคนเขียนแตกต่างกันอยู่แล้ว ควรตรวจเฉพาะข้อกฎหมาย ไม่ควรตรวจสำนวน เพราะผู้ตรวจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เอง และต้องแก้ไขการตราในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้มีรายละเอียดที่ชัด รวมทั้งการคัดเลือกผู้พิพากษา และการอบรมภายใน
ในกฎหมายฉบับเดียวกัน เราจะเห็นว่าคนยังมองต่างกัน และมีความเห็นต่างกัน กฎหมายมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ้าเรามีผู้พิพากษาที่มีแนวคิดสิทธิ เสรีภาพ ก็จะมีความเข้าใจปัญหามากกว่า ต่อข้อซักถามเรื่องการใช้กฎอัยการศึกนั้นขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เราอาจจะร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดินได้ ส่วนเรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายที่ศาลบอกว่าไม่มีหลักฐาน คิดว่าหากประชาชนอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเพื่อให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการหาพยานหลักฐานมาหักล้างการกล่าวหาดังกล่าว
คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ติงในเรื่องกฎหมายพิเศษที่มีความพิเศษมายาวนาน มีความพิเศษในทุกรัฐบาลที่ยังใช้ความพิเศษมาจนปัจจุบัน ตอนแรกที่ดิฉันและชาวบ้านได้ไปเยี่ยมต้องไปกันด้วยรถกระบะหลายคัน เราต้องหาทุนและพกหัวใจมาทำงานด้วยกัน และเมื่อเห็นว่าผู้ถูกจับกุมมากมาย แล้วให้ผู้หญิงต้องรับภาระหนัก เราเห็นทุนทางสังคมมันกำลังจะหมด เมื่อวานได้ไปเยี่ยมครอบครัวหนึ่งที่มีการจับกุมผู้หญิงรายหนึ่งที่ครอบครัวมีรายได้วันละ 50 บาทต่อวัน ต้องประสบปัญหามากมาย เราเห็นว่าที่สามจังหวัดชายแดนใต้เราต้องต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่ไม่บอกว่าใช้กฎหมายอะไร ฉบับไหน เราไม่สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้เลยว่า เราต้องตั้งสมมุติฐานว่าคนที่จับกุมมานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน แต่เจ้าหน้าที่มักจะบอกว่าเขาเชิญตัว ซึ่งเป็นการเชิญตัวที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราไม่มีกลไกไหนที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจได้เลย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอ้างถึงการใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐยังคงใช้วิธีการทหารนำการเมือง และต้องถามต่อว่า “ทหารนำตุลาการ” ด้วยหรือไม่
เราอยากให้มี ศอ.บต. ให้มีอยู่ในรูปแบบของพลเรือน ไม่ใช่ในรูปแบบทหารดังที่เป็นอยู่ อยากให้กฎอัยการศึกเป็นกฎที่เอาเจ้าหน้าที่รัฐมารับการรับโทษด้วย และควรยุติการควบคุมตัวบุคคลไว้ใน 7 วัน และต้องยกเลิกหมายจับ ฉฉ ที่เจ้าหน้าที่ใช้ได้ตามอำเภอใจ ในการจับกุมควบคุมตัว ตำรวจก็ไปให้ความร่วมมือกับทหารไม่มีการตรวจสอบอำนาจว่าการใช้อำนาจของทหารนั้นถูกต้องหรือไม่ ในการจับกุมตำรวจควรต้องดูว่ามีคดีค้างที่ไหนบ้าง และในการใช้ที่ดินค้ำประกันในเรื่องต่างๆ คิดว่าตอนนี้ที่ดินที่สามจังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ใช้ค้ำประกันอยู่ที่ศาลเกือบหมดแล้ว
เราอยากได้ความจริง และอยากให้จับกุมตัวจริง ให้ความเป็นธรรม เราให้ความหวังกับการเจรจากับทุกฝ่าย ขอให้เจรจาให้สำเร็จ ส่วนเรื่องของเงินเยียวยา ที่จะช่วยนำเงินมาฟื้นฟูครอบครัว รักษาพยาบาล ใช้หนี้สิ้น แต่ก็ต้องบอกว่าเงินภาษีที่จ่ายให้กับการเยียวยาไม่ได้หมายถึงเราจะยุติการจับตัวผู้กระทำผิด เงินเยียวยาเป็นการใช้เพื่อฟื้นฟูเพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีการตรวจสอบในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ต้องยอมารับว่าตอนนี้องค์กรอิสระก็หวังพึ่งไม่ได้ เราควรจะทบทวนคำพิพากษากันใหม่กับกรณีโทษประหารชีวิต หากรื้อฟื้นได้ยากแต่น่าจะคุยกันภายในก็ได้ว่า จะทบทวนกันได้อย่างไร
และอย่าไปจับกุมคนที่ใช้สื่อ social ที่อัดอั้นตันใจแสดงออกความคิดเห็น ขอให้รัฐตรวจสอบเนื้อหาไม่ใช้ไปหาว่าใครโพสต์อะไรเข้าไป ในส่วนของประชาสังคมก็ต้องสื่อสารให้ครบถ้วนด้วย ส่วนการให้องค์กรระหว่างประเทศที่รัฐไม่ต้องการให้องค์กรต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาดูแลและบอกว่าไทยจัดการกันเองได้นั้น อย่าลืมว่าเราได้ให้สัตยาบันใน ICCPR และอนุสัญญาต่าง แต่เวลารายงานต่อ UN ก็ยังมีการปกปิด ไม่พูดว่าเรามีการใช้กฎอัยการศึกมา 16 ปี ไม่เคยแจ้งเลขาธิการ UN ให้รับรู้ว่าเราบริหารจัดการพื้นที่สามจังหวัดใต้ด้วยกฎหมายปกติไม่ได้ ทั้งที่เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม หากเราจะรบกันก็ต้องไม่ใช้อาวุธเคมี ต้องไม่ทำร้ายเด็กหรือใช้อาวุธกับโรงพยาบาล ตลาด โรงเรียน เราต้องการให้ใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่กฎหมายมนุษยธรรม ยืนยันว่าพื้นที่สามจังหวัดไม่จำเป็นต้องใช้สถานการณ์ฉุกเฉินและให้หน่วยงานรัฐทบทวนเรื่องนี้ทุกสามเดือน
คุณอับดุลอาซิซ ตาเดอินทร์ ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) เราไม่เคยเอาเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้เลย ตั้งแต่คดีตากใบที่บอกว่าขาดอากาศหายใจ เราต้องแก้ปัญหาโครงสร้างการกระจายอำนาจ ใช้ระบบไต่สวน ไม่ใช่กล่าวหา ควรยกเลิกกฎอัยการศึก พรบ.ความมั่นคง พรบ. ฉุกเฉิน แล้วหันมาใช้ ป.วิอาญาทั่วประเทศ เราต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่อยากยิ่งตัวตายเพราะศาสนาอิสลามถือว่าบาปหนัก ชาวบ้านเราอ่อนแอ ไม่สู้เหมือนกับคุณสมศักดิ์ และกำนันโต๊ะเด็ง เราต้องสู้กันในรัฐบาลด้วย เพราะเรามีฝ่ายค้านแล้ว
คุณแอน กล่าวว่า อันที่จริงปัญหามันอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย กระบวนการยุติธรรมมันเริ่มจากต้นน้ำไปปลายน้ำ ที่ผ่านมาเราเจอสภาวะการขาดพนักงานสอบสวน ขาดตำรวจมืออาชีพ มีแต่อาชีพที่เป็นตำรวจ เราเจอแต่กริยาบู้ๆ กับโรงพักยะลา ที่เราได้บอกกับตำรวจว่าอย่าเพิ่งตัดสินอะไร ขอให้เป็นหน้าที่ของศาล เราเจอพนักงานสอบสวนทุกรูปแบบทั้งที่ ขี้เกียจ ทำงานไม่เป็น เราเห็นผู้พิพากษาที่ดีอย่างท่านคณากร แต่มีไม่มาก เรารู้ว่าท่านโดนอะไร แต่คนทั้งประเทศพยายามบอกว่ามันเป็นเรื่องการเมือง เราไปเยี่ยมท่านทุกวัน โชคดีที่กระสุนมันทะลุ ถ้าไม่ทะลุ ก็คงตายไปแล้ว
ส่วนกรณีล่าสุดที่ตำรวจซ้อม ซายูตี สาและ เรื่องยาเสพติด ซายูตีผูกเชือกเตรียมผูกคอตาย คุณแอนได้พยายามช่วยเพื่อให้เธอไปพุดความจริงที่ศาล มีการผิดพลาดในการจับกุมซึ่งเธอไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง มีการตั้งกรรมการสอบ แต่ก็ผลักปัญหาไปที่ตำรวจที่ตายคนเดียว ซายูตี มีพี่สาวคนเดียว ที่ไม่มีพ่อแม่คอยช่วย ถ้าเราทุกคนไม่ยอมๆๆๆๆ เราก็จะไม่มีแนวร่วมมุมกลับ
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ถามถึงกรณีที่มีทหารมานั่งฟังการพิจารณาคดีทุกครั้ง เป็นการคุกคาม กดดัน หรือไม่ มีภาพจำเลยผู้ต้องหาที่ติดประจานในที่สาธารณะนั้นทั้งที่ยังไม่มีการพิจารณาถึงที่สุดนั้น ถูกต้องหรือไม่ มีการตรวจสอบคำพิพากษาหรือไม่
คุรพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ตอบ กรณีการติดกล้องวงจรปิดในห้องพิจารณาคดี ในต่างประเทศเขาสามารถติดกล้องไว้ให้เห็นอากัปกริยาของผู้ต้องหาเพื่อช่วยการพิจารณา การสังเกตการณ์ในศาล ในต่างประเทศถือว่าทำได้เพราะเป็นสาธารณะที่ตรวจสอบได้ คงห้ามไม่ให้ทหารเข้าไปฟังคดีไม่ได้ แต่ต้องไม่ให้มีการรบกวน เช่นแต่งชุดทหารเข้าไปหลายคน ชุมชนก็ควรเข้าไปรับฟังมากๆได้ และถ้าเดือดร้อนเราอาจจะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาได้บ้าง
คุณแอน เสริมว่า ตอนนี้ที่นราธิวาสมีผู้พิพากษาน้ำดีคนใหม่ที่มาจากยะลาแล้วมาประจำที่นราธิวาสที่น่าจะเป็นคนให้ความเป็นธรรมได้ ส่วนกำนันโต๊เด็ง ขยายความเรื่องการขังและอุทธรณ์ ว่าไม่ใช้หน้าที่ของศาล และเป็นหน้าที่ของอัยการ ถ้าขังไปครบเดือนแล้วอัยการไม่อุทธรณ์ก็ต้องปล่อยตัว
อ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ กล่าวเสริมว่า ปกติจะสามารถคุมตัวไว้ได้ 12 ผลัด ๆ ละ 7 วัน คือ 84 วัน เรื่องการตรวจสอบระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ เราสามารถยื่นเรื่องไปที่สภาผู้แทนราษฎรได้ ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องการให้แก้ไขมาตรา 1 แต่อยากให้สลับเรื่องความมั่นคง โดยเอาเรื่องสิทธิของประชาชนที่สำคัญมากไปไว้มาตรา 1 ได้หรือไม่ ไม่ได้บอกว่าจะตัดมาตรา 1 ออก
บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องจริยธรรม คุณธรรม เป็นที่มาของปฏิญญาสากลของสหประชาชาติ และรัฐธรรมนูญ ในที่ประชุมโคเปนเฮเกนเคยพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์ และได้รับการเอาไปใส่ในรัฐธรรมนูญของบางประเทศ ส่วนปัญหาภาคใต้มันมีปัญหาในเรื่องของความมั่นคงอย่างเดียวหรือไม่หรือมีเรื่องอื่นด้วย ขอให้ดูเอกสารประกอบการสัมมนาที่เขียนถึง “สิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม 14 ข้อที่อ้างอิงจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฯลฯ”