กลุ่มชนเผ่า-ประชาสังคมภาคเหนือร่วมประจานเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ-ยัดข้อหา เอาผิดใครไม่ได้ เสนอชำระรากเหง้าปัญหากระบวนการยุติธรรม แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ เพิ่มอำนาจประชาชน
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2562 บรรดากลุ่มชนเผ่าอาข่า กะเหรี่ยง ปะรอง ระดมความเห็นว่าจะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ที่สร้างปัญหาต่อชีวิต ความเป็นอยู่และทรัพย์สินของพวกเขาอย่างไร เพื่อทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุข ไม่ถูกกลั่นแกล้ง เอารัดเอาเปรียบ สร้างความเสียหายในที่อยู่ที่ทำกิน ทางเผ่าอาข่า กะเหรี่ยง และ ปะล่อง
โดยการหารือกับนักกฎหมาย นักวิชาการ ณ ห้องประชุม ชั้น 4 ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ต่างหยิบยกปัญหารากเหง้าที่บุคคล และองค์กรช่วยเหลืออยู่ออกมาตีแผ่ให้เห็นความน่าอดสูของการทำงานของเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน ที่สร้างความเสียหายให้กับคนในชาติทั้งที่เป็นการทำหน้าที่เกินกว่าเหตุ เจตนาฆาตกรรมอำพราง การกดขี่รีดไถ การไม่ใยดีไม่ช่วยเหลือประชาชน และการเอาตัวรอดด้วยระบบอุปถัมภ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ละเว้นการลงโทษกันเอง คนทำผิดในเครื่องแบบลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง
กลุ่มชนเผ่าต่างๆและคนชายขอบของไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองและชนบทห่างไกลต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นสภาพความเป็นอยู่ สถานะความเป็นตัวตนที่ยังไม่ได้รับการยอมรับต้องพิสูจน์สัญชาติ ปัญหาเศรษฐกิจที่ดินที่ทำกิน ความยากจน การศึกษา และการเลือกปฏิบัติ มีอคติ เจ้าหน้าที่รัฐหลอกลวง โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีการหยิบยกมาพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาคือการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานตำรวจซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดเข้าถึงประชาชนมากที่สุด เป็นความสัมพันธ์ในฐานะผู้ให้บริการและผู้รับบริการซึ่งหากผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมไม่มีวินัย ใช้อำนาจอย่างไร้ขีดจำกัด ก็จะเกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างไม่มีขีดจำกัดด้วย
ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา กล่าวเปิดว่า ด้วยความห่วงใยปัญหาที่ผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นกลุ่มชนเผ่าต้องเผชิญมาตลอด ในทรรศนะของนักสังคมศาสตร์ เป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางสังคมในด้านกระบวนการยุติธรรมก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าเราจะรับรู้ว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ ก็จะมีคนบางกลุ่มบางประเภทโดยเฉพาะคนชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มที่เป็นคนชายขอบทั้งหลายที่มักจะถูกมองข้ามไป ถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิและเมื่อจะต้องการเรียกร้องความยุติธรรมก็ไม่ได้รับความยุติธรรม ในภาคเหนือของเราเมื่อประมาณ 2 ปีกว่าเกือบ 3 ปี มีกรณีของชัยภูมิ ป่าแสที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งมีการเรียกร้อง กระบวนการยุติธรรมนี้ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อเร็วๆเราคงทราบข่าวที่น่าสลดใจว่า บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งหายไป 5 ปีแล้วมีผู้ค้นพบเศษกระดูกในถังน้ำมันที่เขตป่าแก่งกระจาน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในสังคมไทยเรา ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ดังนั้นเรื่องของสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า กลุ่มเปราะบาง มีความสำคัญ
“ผมก็หวังว่า พวกเราที่มาร่วมประชุมสัมมนาคงมีโอกาสได้ทำความเข้าใจว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรในการทำให้พื้นที่ โอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมันเป็นจริงมากขึ้น ประชาชนจะมีวิธีการทำงานหรือกลไกใดที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างนี้ได้ เรื่องนี้จะรอฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียวคงไม่พอ แต่อยู่ที่ภาคประชาชนต้องมีบทบาทสำคัญ ก็ขอบคุณอย่างยิ่ง เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจภายใต้สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและมูลนิธิสมาคมต่างๆที่ได้มาจัดเวทีสัมมนาในวันนี้ แล้วก็เชิญพวกเราทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง มีตัวแทนพรรคการเมือง ความจริงพวกเราก็เชิญพรรคการเมืองทุกพรรคที่เชียงใหม่เข้ามา แต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะมาเข้าร่วมหรือไม่ แต่นี้ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่อยากให้ภาคประชาชนมีโอกาสได้เข้ามาร่วมอย่างจริงจัง คำว่าภาคประชาชนก็หมายถึงไม่ใช่เฉพาะองค์กรพัฒนาภาคเอกชนนะครับ แต่หมายถึงนักศึกษา นักวิชาการ แล้วก็ประชาชนทั่วไปที่คิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญที่ทำให้สังคมของเรามีความยุติธรรมและก็ความเป็นธรรม”ดร.ชยันต์ กล่าว
ที่ประชุมเปิดให้ผู้แทนชนเผ่าได้หยิบยกปัญหาต่างๆ กรณีการวิสามัญนาย จะจือ จะอ้อ ในพื้นที่เวียงแหง เป็นกรณีที่คนมองว่าเป็นเรื่องการค้ายาแล้วตำรวจเข้าตรวจค้น โดยสื่อก็เสนอว่าชาวบ้านรุมทำร้ายตำรวจ แต่ความเป็นจริงเขาเป็นผู้เสพมาก่อนแล้วกลายมาเป็นผู้ได้รับการบำบัด ต่อมามีการวิสามัญฆาตกรรมขณะเดินทางกลับบ้าน ตำรวจบอกว่าชาวบ้านมีปืนต่อสู้ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ให้ปากคำว่ามีการจัดวางอาวุธ จัดฉากไว้ทีศพ เหมือนกรณีอาเบ และชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจถีบแม่ของอาเบที่เข้ามาดูศพ ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงทนไม่ได้เข้ามาจะรุมด้วยความไม่พอใจ โรงพักเวียงแหงทำการย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คน แต่กระบวนการยุติธรรมยังไม่คืบหน้า ตำรวจ 5 คนก็ยังอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านกลัวมาก
นอกจากนั้นพฤติกรรมก่อนหน้านี้ตำรวจรีดไถชาวบ้านมีอยู่ทั่วไป ชาวบ้านกลายเป็นตู้เอทีเอ็มให้ตำรวจ เพราะพวกตนยังไม่มีบัตร ไม่มีสัญชาติ บางคนถูกยัดยา พื้นที่เวียงแหง ถูกตำรวจกระทำซ้ำๆ กันมาก ควรมีการปฏิรูปตำรวจ เพื่อทำให้สถานการณ์เวียงแหงดีขึ้น
แม่และป้าของอาเบ พูดถึงกรณีอาเบ ที่ตายไปแล้ว 3 ปี ยืนยันว่าลูกไม่ได้เสพยาหรือค้ายาแน่นอน ในพื้นที่นี้ถูกทหารรังแกตลอด จะเห็นได้ชัดว่าครอบครัวไม่ร่ำรวย มีความทุกข์ยากมาก เป็นเรื่องที่ทหารใช้อำนาจด้วยอารมเสียมาจากไหนไม่ทราบ ทหารให้การว่าสุ่มในพุ่มไม้ก่อนที่จะยิง ทั้งที่แถบนั้นเป็นไร่นา ทหารยิงแล้วก็หนีหาว่าอาเบพยายามหนี มีการสร้างหลักฐานเอาระเบิดมาวางไว้ที่ผู้ตาย แต่ไม่แนบเนียน เพราะผู้ตายถนัดมือซ้าย แต่ศพกำระเบิดด้วยมือขวา ทหารแต่งเรื่อง ให้การที่ศาลเชียงใหม่ในลักษณะที่บิดเบือน และศาลก็ฟังทหารมากกว่าชาวบ้าน ครอบครัวไม่เคยมีอาวุธ
เหตุการณ์เกิด 15 กุมภาพันธ์ 2560 รายละเอียดอ่านได้ใน https://prachatai.com/journal/2018/05/76718
หนึ่งเดือนต่อมา มีการยิงชัยภูมิ ปะแส เพราะชัยภูมิไปช่วยเรื่องนี้ จนมีทหารสามคนเหยียบชัยภูมิ และมีทหารเข้ามาสมทบทำร้ายร่างกายยิงชัยภูมิจนตาย จึงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมันมีมาตั้งแต่ต้นธารถึงปลายทาง คือต้องปฏิรูปศาลด้วย
ดูข่าวได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=zHRerHVmDgo
นส.สาวิณี สายชลรำไพ จาก อำเภออมก๋อย กรณีเหมืองแร่ บนพื้นที่ 284 ไร่ มีการเอารายชื่อชาวบ้านไปลงนามเห็นชอบใน EIA ที่ทำโดยไม่โปร่งใส มีสัตว์ป่า และแม่น้ำสองสายที่ผ่านพื้นที่ดังกล่าว สิ่งที่เขียนใน EIA ไม่ตรงกับสภาพการณ์ปัจจุบัน หาว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม แต่ความจริงเป็นที่อุดมสมบูรณ์ เรื่องนี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม มีการแจ้งความคัดค้านที่อำเภอ และยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และที่กรุงเทพฯ เพื่อให้คำนึงถึงผลกระทบของชาวบ้าน ทางบริษัทพูดแต่ส่วนดีของการสร้างเหมือง ไม่ได้เป็นคดีความ
นายอดินันท์ เลายี่ปา เผ่าลีซู ติดคุก 6 เดือนปัญหาที่ดิน และที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่บนเขาสูง ในปี 2557 ร่วมต่อสู้จนขัดแย้งกับกำนันและฝ่ายป่าไม้อย่างรุนแรง เขาบอกว่าเป็นเขตป่าสงวน หาว่าบุกรุก ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาอุ้มไปสำนักงานป่าไม้ ผู้นำต่างถูกหมายหัว หาว่าทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย อัยการสั่งฟ้อง ทั้งที่เราอยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษ เจ้าหน้าที่บอกว่าเราไม่มีเอกสารอะไรมาพิสูจน์ มีการเสนอข้อแลกเปลี่ยนโดยการให้เช่า 20 ปีจนเราเข้าไม่ถึงความยุติธรรม สารวัตรดำเนินการคนเดียว ไปกรุงเทพฯ เกือบสิบครั้งแล้ว เรื่องนี้เผ่าลีซูต้องการหยุดยั้ง พรบ.อุทยาน ที่ร่างขึ้นมามันไม่สอดคล้อง กับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน พี่น้องภาคเหนือชุมชนอยู่ในเขตป่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายที่ประชาชนเคยเสนอไว้ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้ชาวบ้านทุกชนเผ่าต้องการฟ้องผู้นำรัฐที่ไม่รับเรื่องพิจารณา
นส.ชิชญา กล่าวว่า พื้นที่บ้านดู่ อ.เมือง เชียงราย เป็นพื้นที่บนดอย มีการประกาศว่ามีรังวัดที่พร้อมจะออกโฉนด มีผลไม้ นายทุนหลอกให้หลงเชื่อ ซึ่งไม่มีเอกสารแสดง ถูกหลอกลวง ให้ซื้อโดยไม่ถูกต้อง จน 27 กันยายน 2561 มีหมายมาบ้านแจ้งว่าบุกรุกป่าสงวน ต่อมาเจ้าของโครงการหนีไป ทางยุติธรรมจังหวัดให้ไปร้องทุกข์ที่หลายๆสำนักงาน มีการแอบอ้างต่อจากนั้นหลายกลุ่มหลายครั้ง เพื่อเอาเงินซึ่งทราบว่าเป็นกลุ่มของนายทุนเดียวกัน และมีการสั่งฟ้องชาวบ้านแล้ว
นางหมี่จู มอแลกู่ ประธานเครือข่ายอาข่าลุ่มน้ำโขง บอกว่า ส่วนใหญ่ชนเผ่าที่โดนเล่นงานจะเป็นคนดอย ไม่ใช่คนพื้นราบ อาศัยการเอารับเอาเปรียบคนไม่รู้กฎหมาย เลือกปฏิบัติ อ้างว่าไม่มีบัตรประชาชน มักจะแยกฟ้อง ไม่ฟ้องเป็นหมู่ และใครที่เป็นเจ้าของพื้นที่ให้มารายงานตัว และมักบอกว่าให้ซื้อไปก่อน แล้วจะออกโฉนดที่หลัง มีการฟ้องกันแล้ว เป็นความอยุติธรรมที่ซ้อนทับหลายชั้น
นายสิทธิพล สอนใจ พูดถึงกรณีอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 298 ราย เป็นการปฏิบัติงานตามโครงการทวงคืนผืนป่า มีการปลูกป่าทดแทน 7820 ไร่ ไปทับซ้อนที่ดินทำกินชาวบ้าน หลังจากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ ตร.สั่งให้ชาวบ้าน กว่าสองร้อยคนไปรายงานตัวหาว่าเป็นที่บุกรุก การประกาศไม่มีการพูดคุยกันก่อน ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นประเด็นความท้าทายกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง
นายไวยิ่ง ทองบือ เครือข่ายกะเหรี่ยงแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหานายนอดี ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ออมก๋อย เจอเจ้าหน้าที่ตั้งด่าน ตรวจคนต่างด้าว มีการนำคนต่างด้าวเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย มีการยิง หลบหนีเข้าป่า คนมาเจอตัวในตอนเช้า กรรมการสิทธิฯลงไปถึงบ้านแต่ชาวบ้านไม่เอาความเพราะคิดว่าตัวเองผิดอยู่แล้ว กับกรณีที่มีการพบยาบ้า แล้ววิสามัญฆาตกรรม เป็นการทำเกินกว่าเหตุ ไม่มีใครให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่มีกระบวนการเยียวยา ชาวบ้านไม่มีเงินสู้คดีความ เลยยอมความ
กรณีที่ เจ้าหน้าที่รับส่วย คุ้มครองให้ถางไร่แบบผิดกฎหมาย ชาวบ้านระดมเงินส่งให้สถานีตำรวจแห่งนี้ มาหลายปี
กลุ่มเปาะบาง แรงงานข้ามชาติ จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นตำรวจที่ปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ ตรวจจับอ้างว่าไม่มีเอกสารทั้งที่ไม่จำเป็น
“กรณีที่เกิดรถชนกัน เรื่องภาษา มีส่วนสำคัญ ไม่มีล่าม กล่าวหาความผิดอย่างเดียว ไม่มีกองทุนยุติธรรม แม้ว่าแรงงานจะถูกรถชนตาย รายนี้บัตรหมดอายุพอดี ในส่วนของศาล แรงงานข้ามชาติไม่มีล่ามให้ในศาล ล่ามหายากมาก และเจ้าหน้าที่มักมีอคติกับคนที่มีมูลนิธิคอยช่วยเหลือหาว่าถูกสอนมาให้พูด”
นายสมัคร ดอนนาปี อดีตผู้อำนวยการสำนักอุทยาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พูดถึงการออกโฉนดไม่ได้เพราะเป็นเขตป่าสงวน แต่มี สค.1 เป็นสิทธิที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ออกโฉนด ต้องฟ้องศาลจึงจะยอมออกโฉนด ราชการทำเรื่องออกโฉนดมา20 ปีแต่การออกโฉนดก็ยังมีปัญหา คนที่มีสิทธิในเรื่องนี้ แต่ถูกลากยาว ในวงราชการถ้ามีงบมามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทุจริตมากมาย และหลอกชาวบ้านเสมอ
ส่วนเรื่องที่ผมได้รับผลกระทบมาเอง จากนายชัยวัฒน์ หัวหน้าชุดพญาเสือ ที่กล่าวหาว่าผมฮุบที่หลวง ทำแผนที่ปลอมทำให้ผมอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมายกลายเป็นที่บุกรุกป่า ศาลไม่เชื่อผมแต่เชื่อนายชัยวัฒน์ผมเต้องฏีกาต่อไป ทำให้เห็นว่าวิธีการของราชการมันกลั่นแกล้งกันได้
นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหานี้มีมานานนับสิบๆปี สภากำลังจะมีกรรมาธิการชาติพันธุ์ กรรมาธิการเด็ก สตรี มีอำนาจในการเรียกผู้กระทำผิดและทุกฝ่ายมาได้ และพรรคอนาคตใหม่ก็มีฝ่ายที่รับเรื่องร้องทุกข์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งได้ สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกนี้ เกิดมาเป็นชาวเขา หรือชาติพันธุ์ก็ผิดแล้ว เหมือนคนที่เกิดมาไม่มีเสื้อผ้าใส่ แต่งตัวชนเผ่าเข้าสภาก็ผิด ไทยมีความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษามาก คนบนดอยไม่มีโอกาสเข้าถึง กศน. เพราะอยู่ป่าเขา ห่างไกลการศึกษา ดังนั้นเราต้องเข้าถึงอำนาจให้ได้ในทุกรูปแบบ
นายมานพ ตัวแทนกะเหรี่ยง จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงการใช้อำนาจด้วยอารมณ์ ใช้กระบวนการเหมือนที่ใช้ในพื้นที่ชายแดน โชคดีที่จอมทองชาวบ้านเข้มแข็งต่อรองได้ จะเห็นว่าที่ไหนมี NGOs มีองค์กรพี่เลี้ยง จะได้รับการดูแล เกรงใจ แต่ถ้าไม่มี ก็จะมีปัญหาเสมอ ผมอยากเห็นอนุกรรมการในกรรมาธิการที่เป็นคนนอกเข้าไปด้วย เพื่อช่วยเป็นกลไกหลักในการคลี่คลายปัญหาเหล่านี้
นายอัสณู ชาวเขาลีซู อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่มีหน่วยงานรัฐที่ดูแล ผู้นำชนเผ่าเองก็ยังรีดไถ เอาเงินเป็นตัวตั้ง ใช้เงินในการพิสูจน์สัญชาติ สถานะบุคคล
ช่วงบ่าย เสวนาหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน และการเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่า กลุ่มเปราะบาง กับการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม”
นายสิทธิพล สอนใจ ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า กรณีอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ชาวบ้าน 298 ราย ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกป่า เป็นผลจากการปฏิบัติงานตามโครงการทวงคืนผืนป่า มีการปลูกป่าทดแทน 7820 ไร่ ไปทับซ้อนที่ดินทำกินชาวบ้าน หลังจากนั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวหาว่าเป็นที่บุกรุก ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นประเด็นความท้าทายกระบวนการยุติธรรมอย่างยิ่ง
นางหมี่จู มอแลกู่ ประธานเครือข่ายอาข่าลุ่มน้ำโขง เป็นผู้ที่ถูกตำรวจอุ้มสองครั้งเพราะเรียกร้องเรื่องสัญชาติ เอาปืนจ่อหัวเอาเท้าเหยียบที่หน้า เธอถูกตำรวจภาค 5 อุ้มที่สนามบินในปี 2545 แล้วพาไปที่บ้านซึ่งมีตำรวจคอยอยู่ 30 นาย จึงติดต่อให้พี่น้องเครือข่ายมาจำนวนมากกว่าตำรวจ แต่มาถูกอุ้มอีกที่เชียงราย ตำรวจงัดบ้านเอาทรัพย์สินเงินทองไป จึงไปแจ้งหลายหน่วยงานรวมทั้งสภาทนายความซึ่งมีสมชาย นิลไพจิตรเป็นทนายช่วยเหลือ จนตนต้องหนีไปอยู่อเมริกา 5 ปี และกลับมาช่วยเหลือชาวบ้าน จนเจ้าหน้าที่บอกว่าได้รับการสอนให้พูดจากเอ็นจีโอ พวกเราอยู่บนดอยก็ผิดกฎหมาย อยู่ในเมืองก็ถูกต่อต้าน การต่อสู้หวังพึ่งใครได้ยากต้องพี่งตัวเอง
ทนายสุมิตรชัย หัตถสาร ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR) หยิบยกประเด็นยาเสพติดและป่าไม้ที่ดิน ที่กลุ่มชนเผ่าถูกละเมิดโดยส่วนใหญ่ เป็นการเลือกปฏิบัติ มีอคติ ประเทศไทยไม่เคยยอมรับว่าเรามีกลุ่มชนชาติพันธุ์ มีแต่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งการเข้าถึงกระบวนการยุติมันยากมาก เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีสมมุติฐานไว้ก่อนเลยว่ากลุ่มชนเผ่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน ประเด็นที่มีการหลอกให้ซื้อที่อยู่อาศัย บ้านจัดสรร โดยบอกว่าผู้ซื้อกลุ่มชนเผ่ารุกล้ำเขตป่าสงวน ซึ่งต่างจากการใช้พื้นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ที่คนมีฐานะสามารถทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง
“กรณีชัยภูมิ ปะแส เราไม่สามารถได้พยานหลักฐาน หรือได้กล้องวงจรปิดมาจากศาล หรือกองทัพ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีภาพถูกอัดทับไปแล้ว แค่สิทธิเข้าถึงพยานหลักฐานจากพนักงานสอบสวนก็เข้าไม่ถึง หลายคดีก็บอกว่าเป็นความลับ โอกาสโต้แย้งในชั้นสอบสวนมันยากมาก มันไม่มีการเปิดเผยความจริง การกล่าวหาชัยภูมิเอาระเบิดจากรถไปหรือไม่ก็ต้องเอาจากกล้องวงจรปิด ชัยภูมิต้องวิ่งผ่านป้อมตำรวจ ดังนั้นต้องเห็นภาพแน่นอน แต่เราก็ไม่ได้ภาพนั้นมา”
เรื่องของป่าสงวน และที่ดินเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ในเชิงนโยบาย แต่ชาวบ้านก็ต้องต่อสู้ไปอีกนานและสู้ได้ยาก เรื่องยาเสพติด มีการเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรง กรณีที่เวียงแหงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ชาวบ้านถูกมองว่าเป็นผู้ที่พยายามใช้อาวุธ ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ก่อนเสมอ แต่ไม่ดูความจริงก่อนหน้านั้น
พ.ต.อ. ไตรวิช น้ำทองไทย อดีตรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนภาค 7 และหัวหน้าทีมสืบสวนคดีการหายตัวของบิลลี่ กล่าวถึงวิจารณญาณ การตีความ ที่ต้องมีเส้นแบ่งของความชั่วร้าย สังคมต้องมีเส้นแบ่ง ณ ขณะนี้ผมไม่มีหวังต่อชนเผ่าที่จะเข้าถึงความยุติธรรมได้ สตช.ทุกวันนี้ยังบีบพนักงานสอบสวนให้ทำงานไม่ได้ ชาวบ้านจึงเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ การทำงานของตำรวจอย่างไร ศาลไม่รู้เลย ตำรวจมีระบบอุปถัมภ์ เป็นหนี้บุญคุณกันไปมา คนดีๆที่มีอยู่มันอยู่ไม่ได้
พ.ต.อ.ไตรวิช ยังยืนยันกรณีบิลลี่ว่าไม่มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ ยืนยันว่าการเอาน้ำผึ้งไปนั้นมันมีอยู่ 35 กก. มันไม่สามารถเอาเข่าประคองน้ำผึ้งขนาดนั้นลงมาได้ และมีนักศึกษาอ้างว่าเห็นบิลลี่ขับรถสวน แต่ดูคลิปก็เห็นว่าไม่ใช่ และอ้างว่าเห็นการปล่อยตัวก็ไม่ใช่ เมื่อดูกล้องที่บันทึกภาพตั้งแต่สี่โมงถึงหนึ่งทุ่ม มีรถวิ่งผ่านมาคันเดียว และหากปล่อยบิลลี่ตรงไหนก็ต้องเจอหลักฐานตรงนั้น แต่เมื่อเรียกเจ้าหน้าที่อุทยานที่บอกว่าได้เห็นการปล่อยตัว ทุกจุดไม่มีการเห็นปล่อยตัว และเมื่อไล่สอบไปตามที่บอกว่าบิลลี่หลบไปยังกะเหรี่ยงนั้นไม่เป็นความจริง และยิ่งไปกล่าวหากะเหรี่ยงค้ายาเสพติดนั้น พอไปดูสภาพบ้านแต่ละหลังแล้วยิ่งไม่น่าจะใช่ เรามีภาพการตัดไม้ซึ่งจะบอกได้ว่าใครเป็นคนตัดไม้ ส่วนเรื่องการสร้างภาพการปลูกป่าที่มีการปกป้องคนของอุทยาน ยิ่งทำให้มีอิทธิพลยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการกลุ่มอิทธิพลมือปืนที่คนของรัฐโอบอุ้ม มันสร้างปัญหาสาหัสสากรร ถ้ารัฐลงโทษกันจริงจังก็จะไม่มีอิทธิพลแบบนี้
นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เสนอหลายประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก กฎหมาย และสิทธิตามกฎหมาย ที่เป็นการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่ม คือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีกฎหมายอยู่ในมือ ทำตัวเป็นกฎหมาย แล้วเห็นชาวบ้านเป็นตัวผิดกฎหมาย กับกลุ่มชาวบ้านที่มักเป็นฝ่ายแพ้เสมอ คอยรับกรรมเรื่อยไป เจ้าหน้าที่ไม่สนใจสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิชุมชน
ประเด็นที่สอง เมื่อพนักงานของรัฐพูดอะไรมักมีความน่าเชื่อถือ ศาลก็ฟังเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าฟังชาวบ้าน ชาวบ้านพูดอะไรให้ใครก็บอกว่าเป็นพวกเดียวกัน ชาวบ้านพูดภาษากลางไม่ได้ ก็ถูกมองว่าไม่ใช่ไทย ไม่น่าเชื่อถือ
ประเด็นที่สาม มักมองว่าชาวบ้านทำผิด ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมักปกป้องเจ้าหน้าที่ทั้งที่ไม่รู้เลยว่าความจริงคืออะไร มีใครที่ปกป้องชาวบ้านบ้าง สถานะชาวบ้านเรามีครบเหมาะที่จะเป็นคนผิดอย่างยิ่ง กรณีแพะจอบิ กรณีที่มีการยิงรถนักเรียนตาย พอหาคนยิงไม่ได้ ก็ขอให้จอบิรับผิดว่าเป็นคนยิง ซึ่งเราก็พอทราบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
ประเด็นที่สี่ เจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าชาวบ้านจะรวมตัวกันก็ยากมาก
ประเด็นที่ห้า เรื่องของรายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่หารายได้ให้เจ้านาย ทำผิดมาตลอด ชาวบ้านมีหน้าที่เสียรายได้ โดยเฉพาะคนชายขอบ คนไม่มีสัญชาตินั้นเสียรายได้ง่ายมาก เป็นกระบวนการที่กระทำโดยมิชอบ
นายสุรพงษ์ มีข้อเสนอดังนี้
- ลดอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วเพิ่มอำนาจประชาชน การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนต้องตรวจสอบอำนาจรัฐได้ กรณีบิลลี่ และการเผาบ้านปู่คออี้ ใช้เวลานานหลายปี ปปช. ปปท. ทำอะไรได้น้อยมาก ต้องเพิ่มสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิท้องถิ่น อยู่ดีๆเจ้าหน้าจะขอตรวจสอบบัตรประชาชนนักศึกษามุสลิมซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด
- ต้องมองคนเท่ากัน ไม่มองชาวบ้านต่ำกว่าตน และเมื่อตำรวจฟ้องศาล ศาลน่าจะตรวจสอบข้อมูลได้
- รัฐที่มีการทำบัญชี black list ต้องมีการทำ white list ดังที่กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเคยคิดทำ แล้วไม่มีการสานตอ เราต้องรื้อฟื้นให้มีกลับมาเพื่อคุ้มครองคนที่ทำงานเพื่อประชาชน
- คืนอำนาจให้ประชาชน
- ต้องปฏิรูปตำรวจ โดยตำรวจต้องไม่มาจากศูนย์กลาง ต้องกระจายอำนาจ ตร. ให้เป็น ตำรวจชุมชน ให้ประชาชนได้รับรู้เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบถ่วงดุล
- การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ต้องแก้ปัญหาอย่างจริงจังดังที่มีการเอาจริงในญี่ปุ่นและเกาหลีมาแล้ว
- ต้องทำให้ประชาชนไว้ใจเจ้าหน้าที่ และรัฐคือประชาชน ไม่ใช้เจ้าหน้าที่ ต้องรับใช้ประชาชน
ส่วนตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ มองว่า การปฏิรูปตำรวจนั้นทำไม่ยากแต่เห็นว่าต้องมีการกระจายอำนาจให้ได้ก่อน
พระฐาปนพงศ์ ฐานิสสโร เครือข่ายพระนักพัฒนา อ.ลี้ จ.ลำพูน เสนอให้แยกสอบสวนเป็นเอกเทศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอิสระในการสอบสวน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วย