‘สมชาย หอมลออ’ชำแหล่ะกระบวนการยุติธรรมไทยพายเรือในอ่างลั่นต้องปฏิรูปทั้งระบบแนะนักสิทธิมนุษยชนอาเซียนปกป้องทุกกลุ่มไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2562 ที่ห้องแซฟไฟร์ 2 โรงแรมโนโวเทล แพลตินัม ประตูน้ำ กรุงเทพฯ ภาคีความร่วมมือเพื่อความยุติธรรม จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ “เข้าถึงความเป็นธรรมด้วยหลักสิทธิมนุษยชน กับความท้าทายในการปฏิรูปตำรวจและความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน”
โดยนายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และที่ปรึกษาสถาบันปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ) ปาฐกถาในหัวข้อเสวนา “เข้าถึงความเป็นธรรมด้วยหลักสิทธิมนุษยชน กับความท้าทายในการปฏิรูปตำรวจและความยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียน” ว่า แม้ไทยจะมีกฎหมาย และ กลไก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือ ฝ่ายตุลาการ และองค์กรอิสระมากมายนับไม่ถ้วน แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังเกิดขึ้นอยู่ คือ นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมกลายเป็น “เหยื่อ” ในกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไทย เหมือน “พายเรือในอ่าง” กล่าวคือแต่ละภาคส่วนของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มองในภาพรวม แต่จะมุ่งมองแต่ภาคส่วนของตัวเอง ดังนั้นการจะก้าวออกจากอ่างใบนี้ได้ต้องรู้จักมองในมุมกว้าง นั้นคือ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
“แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมีเครื่องมือในการปกป้องและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน ในรัฐธรรมนูญของไทยด้านสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ให้การยอมรับความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ การตรวจสอบอำนาจรัฐ และ กระบวนการมีส่วนร่วม หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้รับการรับรองพอสมควร อย่างน้อยไม่มีกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่น่าเกลียดจนไม่อาจยอมรับได้”
นายสมชาย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ประเทศไทยไปไม่ถึงไหนในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แยกไม่ออกจากการปฏิรูปและพัฒนาประชาธิปไตย จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถพัฒนาสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมให้ก้าวหน้าไปได้ เพราะเกิดจากการยึดอำนาจจาก “พลังนอกระบบ หรือ “กองทัพ” นั้นเอง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่ต้อง รื้อ และ ทำความสะอาด ต่อสิ่งที่เป็นตัวถ่วงที่สั่งสมไว้ระหว่างการยึดอำนาจ ดังนั้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ต้องควบคู่กับการพัฒนาประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่การสร้าง นิติธรรมและนิติรัฐที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมไทย
ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูปตำรวจ หรือ กระบวนการยุติธรรม ต้องมีการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือ การเปลี่ยนแปลงทางสถาบัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม เชิงความคิด การออกกฎหมาย หรือ การฝึกอบรมในหลักสูตรการเรียนการสอนโดยเฉพาะ สถาบันตำรวจ มหาวิทยาลัยนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมไทยหลุดพ้นจากการพ่ายเรือในอ่างที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้เสียที เพราะตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมในไทยมีปัญหา อาทิ กรณีฆ่าตัดตอนจากสงครามปราบปรามยาเสพติด ที่ใช้มาตรการรุนแรงด้วยการจับติดคุกและวิสามัญฆาตกรรมโดยไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้แม้แต่เพียงคนเดียว
“กรณีผู้เสียชีวิตหรือ การซ้อมทรมานจากการดำเนินการของรัฐในการจับกุมตัวประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ การสูญหายของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ หรือกรณีการซ้อมทรมานต่อผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง หรือการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบเพราะน่าเชื่อได้ว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเหยื่อจากการซ้อมทรมานที่แสวงหาความเป็นธรรมกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐและกลับกลายเป็นจำเลยแทน จากการถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ บางรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี จากผู้แสวงหาความเป็นธรรม จึงถึงเวลาในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งระบบ”
ที่ปรึกษาสป.ยธ. กล่าวอีกว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาไปทั่วในประเทศอาเซียน ที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และสถานการณ์น่าเป็นห่วงมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ กรณีประเทศไทยส่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปประเทศต้นทาง เช่น กรณีรัฐบาลไทยส่ง อุยกูร์ 109 คนไปให้รัฐบาลจีน หรือ กรณีเดียวกันเกิดขึ้นในประเทศลาว และ กัมพูชา หรือแม้แต่ผู้ลี้ภัยที่เป็นคนไทยแท้ๆ ในต่างประเทศที่ต่อต้านรัฐบาล ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต การกระทำดังกล่าว ถือว่าขัดพันธกรณีระหว่างประเทศเรื่องการซ้อมทรมาน หรือ หลักสิทธิมนุษยชน
อีกประเด็น คือ แต่ละประเทศต่างยึดประเด็นของตัวเอง (Issue Base) จนทำให้ไม่สามารถเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งระบบ หรือในภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เช่น สิทธิแรงงานข้ามชาติ สิทธิ LGTB สิทธิในที่ทำกิน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ล้วนเป็นประเด็นเฉพาะของกลุ่มคนเล็กๆ แต่เมื่อมีประเด็นสิทธิมนุษยชนกลับถูกต่อต้าน หรือ ไม่ได้รับการตอบสนองในการสนับสนุนจากนักสิทธิมนุษยชนด้วยกัน นี่คือ ปัญหาท้าทายไม่ใช่เฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากอำนายรัฐต่อประชาชน หรือ ผู้ละเมิด แต่ต้องตั้งคำถามต่อตัวเอง คือ นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศด้วยว่าเหตุใดละเลยต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มคนเล็กๆในสังคมที่ออกมาต่อสู้และแสวงหาความเป็นธรรมในสังคม
“นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในไทย หรือ ภูมิภาคอาเซียน ต้องคำนึง 4 ด้าน คือ 1.การตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ว่ากรณีเล็กหรือใหญ่ โดยไม่ลำเอียง เพื่อค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหา 2.สิ่งที่ต้องคำนึง คือ เหยื่อของการละเมิด จะถูกละเลยจากกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปสืบสวนสอบสวนแล้วก็ตาม 3.สิ่งที่ภาครัฐละเลยเสมอมา คือ การชดใช้เยียวยาเหยื่อด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ 4.ผู้กระทำผิดต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องบุคคลเหล่านี้มา “กราบขอโทษ” สังคม หรือ “ลงโทษ” ทางกฎหมายให้ได้”นายสมชาย กล่าว