‘อุ้มฆ่า’กับปัญหา’การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน’ป้องกันได้ด้วยกฎหมายสอบสวนที่ก้าวหน้า -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร   

ยุติธรรมวิวัฒน์

ในการปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหา กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างร้ายแรงนั้น

ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะต้องตามใจนายพลตำรวจทั้งในและนอกราชการกลุ่มไหนหรือคนใด

แต่ต้องคิดและตระหนักว่า ระบบตำรวจและการสอบสวน ที่ดีในประเทศที่เจริญทั่วโลก เขามีโครงสร้างการจัดองค์กรและระบบบริหารอย่างไร จึงไม่ได้มีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ตำรวจผู้ใหญ่ รับส่วยสินบน จากผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายสารพัดจนร่ำรวยกันมากมาย   อ้างขาดงบประมาณจำเป็นต้องหาเงินมาใช้ในการทำงานโน่นนี่ จนแทบเป็นวิถีปกติเหมือนประเทศไทย

ปัญหาสำคัญในปัจจุบันก็คือ หน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกคนตามหน้าที่ของตนด้วยความยุติธรรมตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือ การปกครองโดยกฎหมาย อย่างแท้จริง

หากเป็นคนยากจนหรือบุคคลฝ่ายไร้อำนาจรัฐ ก็จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

“ถูกตำรวจออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหา” หรือ “เสนอศาลออกหมายจับ” ด้วยข้อหาสารพัดกันแสนง่าย

แม้สุดท้ายอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง หรือ “ศาลยกฟ้อง”

ทั้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและ พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ ตำรวจผู้ใหญ่ที่สั่งให้สอบสวนโขมงโฉงเฉงอย่างนั้นอย่างนี้ รวมทั้งอัยการ ก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายของบุคคลผู้ตกเป็นผู้ต้องหาอย่างไม่เป็นธรรมนั้นกันแต่อย่างใด?

แต่เมื่อคนจนได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา กลับแจ้งความร้องทุกข์ด้วยความลำบากยากเย็น  บางคดีต้องติดตามทวงถามกันเลือดตาแทบกระเด็นกว่าพนักงานสอบสวนจะยอม บันทึกเลขคดีอาญาเข้าสารบบราชการ ให้!

หลายคดีที่ญาติพี่น้องถูกฆ่า ถ้าไม่ได้ แห่ศพ ไปศาลากลางให้เป็นข่าว หรือไปร้องไห้ออกสื่อโทรทัศน์ช่องใด

คดีก็ไม่คืบหน้า อาชญากรเดินลอยนวลเยาะเย้ยอยู่แถวละแวกบ้านก็มี

อาจกล่าวได้ว่า คดีอาชญากรรมทุกประเภทที่เกิดขึ้น  ถ้ารัฐให้ความสนใจต่อการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างจริงจัง โอกาสที่จะจับอาชญากรมาลงโทษมี เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสิ้น

พอละจี รักจงเจริญ

กรณีที่เป็นปัญหาแท้จริงและมักจับคนร้ายได้ยากหรือกระทั่งไม่ได้ก็คือ คดีที่มีเงื่อนงำผู้คนสงสัยว่าคนร้ายน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเอง เช่น คดีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ หายตัวไปอย่างลึกลับหลังถูกเจ้าพนักงานป่าไม้จับในป่าแก่งกระจาน

ยิ่งถ้า ผู้มีอำนาจสอบสวน เป็นผู้ก่ออาชญากรรมเสียเองและทำกันเป็น “ทีม” ยิ่งแล้วใหญ่!

ไม่ว่าจะเป็นคดี ทนายสมชาย นีละไพจิตร

หรือ นายกมล เหล่าโสภาพันธ์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตแห่งอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ที่เมื่อปี 2551 ได้ถูกตำรวจนัดให้ไปพบที่สถานีตอนหัวค่ำเพื่อพูดคุยเรื่องการแจ้งความกล่าวหาว่าตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีแจ้งให้สอบสวนการทุจริตคดีหนึ่ง

ซึ่งหลังจากนั้น นายกมลได้หายตัวไป ไม่ได้กลับบ้านจนกระทั่งบัดนี้ พบแต่ รถยนต์ส่วนตัวที่มีเบาะเปื้อนเลือด จอดอยู่ในลานจอดรถโรงพยาบาลแห่งหนึ่งห่างจากสถานีประมาณ 30 กม.ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา

แต่ ผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์กลับยืนยันไม่ได้ว่าเป็นเลือดใคร?                   

หรือคดีนาย เอกยุทธ อัญชัญบุตร ถูกจับจากรถมัดมือนำไปขังไว้ในบ้านหลังหนึ่งสองสามวันแล้วคนร้ายนำขึ้นรถตู้ไปจังหวัดพัทลุงเพื่อฆ่าฝังอำพรางศพ

การสอบสวนก็มีเงื่อนงำให้ผู้คนพูดกันแม้กระทั่งปัจจุบันว่า ผู้เกี่ยวข้องมีเพียงนายบอลกับนายเบิ้มสองคนเป็นผู้ จับและตัวควบคุมไว้แล้วนำไปฆ่าเพื่อชิงทรัพย์  ตามที่ตำรวจนำไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพจริงหรือ?

นอกจากนี้ กรณี ฆาตกรรมอำพราง 2,500 ศพ ในช่วงปราบยาเสพติดปี 2547 ช่วงเวลาเพียง 3 เดือนที่เหยื่อเกือบทั้งหมดถูกคนร้ายซึ่ง ทุกคดีไม่รู้ว่าเป็นใคร ยิงตายกลางถนน ตามตลาด หรือแม้กระทั่งอยู่บ้านพัก โดยแทบทุกรายตำรวจผู้ใหญ่ผู้รับผิดชอบการสอบสวนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลังเกิดเหตุว่าน่าจะเป็นการ ฆ่าตัดตอน โดยผู้ค้ายาเสพติดด้วยกัน!

หรือกรณี จ่านิว ถูกตีหัวสั่งสอน ที่จนป่านนี้คดีก็ไม่มีความคืบหน้าในการสืบจับผู้กระทำผิดมาลงโทษแต่อย่างใด

นอกจากนั้น หลายคดีที่ศาลพิพากษาไปแล้ว ผู้คนก็ยังสงสัยว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกระทำผิดจริงหรือไม่?

เช่น  “นายมิก หลงจิ” ผู้ต้องหาและจำเลยคดีฆ่าคนตายและถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาให้ตายไปแล้ว  แต่หลังการประหารไม่กี่วัน กลับปรากฏพยานบุคคลออกมาให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ว่า เห็นกับตา มิกไม่ใช่คนร้ายที่ใช้มีดแทงผู้ตาย แต่จำได้เป็นอีกคนหนึ่งอย่างแน่นอน! 

อุ้มฆ่า

ภาพประกอบ cr : Muslimthaipost

ซึ่งในการสอบสวนรวมทั้งคำพิพากษาก็ ไม่ปรากฏหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อะไร ยืนยันการกระทำผิดของนายมิกตามที่ตำรวจผู้ใหญ่คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ออกสื่อในเวลาต่อมาแต่อย่างใด?

นอกจากนั้นก็ ไม่มีใครทราบว่า เหตุใดประจักษ์พยานสำคัญปากนี้จึงไม่ได้ถูกสืบพบและสอบปากคำไว้ให้ปรากฏในสำนวนการสอบสวน รวมทั้งมีโอกาสให้การเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ของนายมิกตามที่พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นในชั้นอัยการหรือการพิจารณาของศาล?

ปัญหาสำคัญร้ายแรงของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยก็คือ อำนาจตรวจที่เกิดเหตุและการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานวัตถุและบุคคล ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจซึ่งมีระบบบังคับบัญชาตามชั้นยศและวินัยแบบทหารเพียงหน่วยเดียวตามลำพังทั้งสิ้น 

แม้กระทั่งการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์!

ฉะนั้น การจะเก็บรวบรวมวัตถุพยานอะไร อย่างไร เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์หรือไม่? รวมทั้งจะสืบหาหรือเรียกพยานคนใดไปสอบ บันทึกไว้ว่ารู้หรือเห็นอะไร อย่างไร จึงไม่มีใครร่วมรับรู้แต่อย่างใด!

การสอบสวนคดีต่างๆ จึงมีโอกาสที่จะทุจริตสอบสวนให้ผลเป็นไปตามที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งทำงานกันด้วยความสุจริต ก็อาจเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้อย่างมาก!

การผูกขาดอำนาจสอบสวนและไร้การตรวจสอบจากภายนอกดังกล่าว เป็นปัญหามาจาก ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ออกในยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อปี 2506

กำหนดให้ตำรวจเป็นหน่วยรับผิดชอบการสอบสวนฝ่ายเดียวทั้งประเทศ

ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ป.วิ อาญา ที่บัญญัติไว้ที่ให้ ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในส่วนภูมิภาค

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังพิจารณาอยู่นั้น เป็นการปฏิรูประบบตำรวจดีขึ้นระดับหนึ่ง

แต่ พ.ร.บ.การสอบสวนยังล้าหลัง ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลกดังนี้

1.เมื่อมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นทุกคดี ให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รายงานให้พนักงานอัยการและนายอำเภอทราบสำหรับในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลดำเนินการในส่วนเกี่ยวข้องตามหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง

2.คดีที่มีโทษจำคุกสิบปีขึ้นไป หลังจากอัยการได้รับรายงานแล้วให้มีหน้าที่สั่งการสอบสวนและร่วมสอบปากคำผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา พร้อมทั้งบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องเป็นหลักฐานไว้

3.กรณีเป็นคดีฆ่าผู้อื่น ให้พนักงานสอบสวนรายงานอัยการและนายอำเภอทราบทันทีเพื่อร่วมกันตรวจที่เกิดเหตุพร้อมกันทั้งสามฝ่าย บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานไว้

4.คดีที่อัยการได้รับการร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือไม่ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย หรือไม่ได้รับความยุติธรรม ให้มีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนมาตรวจสอบและสั่งการ หรือดำเนินการสอบสวนเองได้

5.กระทรวงและกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย โดยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะสอบสวนไปตามอำนาจหน้าที่ของตน

6.การออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับ ต้องได้รับความเห็นชอบในการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการ

7.อัยการจะสั่งฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่า “การสอบสวนมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้”  เท่านั้น

ไม่ใช่ปฏิรูปแค่ให้อัยการ “ร่วมสอบสวน” ณ สถานี ในคดีที่มี โทษจำคุกขั้นต่ำสิบปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ไม่กี่มาตราตามกฎหมายอาญาตามที่บางคน “วางยา” ไว้ในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนดังกล่าว!.

วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, September 09, 2019

About The Author