วงเสวนาถกปัญหางานสอบสวนทุกหน่วยงานร่วมหนุนอัยการตรวจสอบคดีตั้งแต่เกิดเหตุ ตั้ง’สป.ยธ.’ขีดเส้นประยุทธ์1ปีปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่30ก.ค.2562 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดเสวนา เรื่อง “จะปฏิรูประบบงานสอบสวนและการสั่งคดีของอัยการอย่างไรให้เกิดความยุติธรรม และประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่น” โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา มีคุณชนิตร์นันทน์ ปุณณะนิธิ เป็นผู้ดำเนินรายการ
พร้อมกับเปิดตัว สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.),Institute for Justice Reform (IJR) และหนังสือ “ปัญหาการสอบสวนไทยกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ประชาชนและการปฏิรูป”เขียนโดยพ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสป.ยธ.
โดยศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และประธานที่ปรึกษาสป.ยธ. กล่าวปาฐกถา พิเศษหัวข้อ “วิกฤตกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย จะปฏิรูปอย่างไรให้ผู้คนเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่น” ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา ทั้งระบบ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาด้นสังคมด้วย ดังนั้นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องให้หลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และการสร้างความเข้าใจแก่สังคม ปัญหาปัจจุบันของกระบวนการยุติธรรม คือ การวางเฉยของศาลยุติธรรม และ การขาดองค์ความรู้บทบาทอัยการ ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรมไทย มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก รวมถึงองค์กรในการกระบวนการยุติธรรม ระบบภายในใหญ่โตขาดประสิทธิภาพ จึงต้องลดค่าใช้จ่าย แต่สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ดีขึ้น และอัยการต้องสังกัดในกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการการทำงาน
“กระบวนการที่ดี คือ การบังคับใช้กฎหมาย ที่เข้มแข็ง ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ แต่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเท่าไร ขณะที่เกาหลีใต้ สิ่งแรกของผู้นำประเทศเข้ามารับตำแหน่ง คือ ปราบคอร์รัปชัน โดยใช้ อัยการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามคอร์รัปชัน”
“สายพาน” กระบวนการยุติธรรมไทยตั้งแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล และ กรมราชทัณฑ์ ที่สร้างปัญหา “นักโทษล้นคุก”ดังนั้นต้องลดคดีเข้าสู่สายพานกระบวนการยุติธรรมให้น้อยที่สุด จึงอยากเสนอแนวทางในการปฏิรูป ดังนี้ ควรมีการผลักดันการศึกษาด้านกฎหมายโดยเฉพาะฝ่ายอัยการ ต้องมีความรับผิดชอบ 4 ประการ คือ 1.ความถูกต้องของกฎหมาย 2.ความถูกต้องตามระเบียบ 3.ความรอบคอบ และ 4.ความเชื่อถือศรัทธาของอัยการ จึงต้องปฏิรูปการตรวจสอบความจริงก่อนการประทับรับฟ้อง เพื่อลดปริมาณคดีในชั้นศาล
สิ่งที่ต้องทำการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย คือ การสอบสวนฟ้องร้องต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน องค์กรที่มีอำนาจตรวจสอบความจริงชั้นเจ้าพนักงานต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ หรือแม้แต่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันการทุจริตภาครัฐ(ปปท.) ที่สำคัญฝ่ายการเมืองต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้ บทบาทอัยการในการร่วมสอบสวนคดีพิเศษ และการปฏิรูปการทำงานองค์กรต่างๆ ต้องกล้าทำ รวมถึงการปฏิรูป “ศาลพิจารณา” คือ ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา ต้อง เป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจทางสังคม เพราะปัจจุบันสังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้อ่อนมาก
“พฤติกรรมของคนในกระบวนการยุติธรรม ขาดภาวะวิสัย ทำงานด้วยความกลัว และร้ายที่สุด คือ กลัวการเมือง มักประจบประแจงฝ่ายการเมือง หากเป็นแบบนี้ประชาชนจะพึ่งพาใครได้ ยิ่งประสิทธิภาพการบริหารจัดการยิ่งแย่ คุมคามสิทธิ และ ค่าใช้จ่ายในการกระบวนการยุติธรรมสูง จึงถึงเวลาในการปฏิรูป” ศ.ดร.คณิต กล่าว
ด้านดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้ “คนชั่วทำเลวไม่ได้” คือ ทำอย่างไรให้การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานสมบูรณ์ที่สุด เพื่อนำไปเสนอในชั้นศาล ที่เหลือเป็นอำนาจในการตัดสินของศาล แต่หากพยานหลักฐานในพื้นที่เกิดความหละหลวม โดยมีหน่วยงานเดียวผูกขาด คือ ตำรวจ เก็บพยานหลักฐานเพียงหน่วยงานเดียว เช่น กล้องวงจรปิด ลายนิ้วมือ หรือ รอยเลือด ฯลฯ เช่น คดีเสือดำ หรือ คดีจ่านิว ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมที่ดี คือ การเก็บพยานหลักฐานที่ดีครบถ้วน แต่ปัจจุบันการเก็บพยานหลักฐานถูกผูกขาดเพียงหน่วยงานเดียวนั้นคือ ตำรวจ
กระบวนการยุติธรรมไทย ปัจจุบัน คือ จับผู้ต้องหาเข้าคุกทันที แต่กลับพบว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ในภายหลังและอัยการไม่สั่งฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาติดคุกฟรีและไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐด้วย ขณะที่บทบาทอัยการต้องเป็นสากลคือ ต้องได้มาซึ่งความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ทำคดีให้ได้มาซึ่งบทลงโทษ การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอย่าไปกังวล หากมีพยานหลักฐานสามารถสั่งฟ้องได้อีก และหากอัยการอยู่ในกระบวนการเก็บพยานหลักฐานถือเป็นการคานอำนาจ “ตำรวจ” จึงไม่ควรกลัวอัยการจะเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะที่การสั่งคดีของอัยการในต่างประเทศ จะสั่งคดีเมื่อมั่นใจว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ ไม่ว่าคดีนั้นจะร้ายแรงเพียงใด และ การกักขังผู้ต้องหาด้วยเหตุผล คือ หลบหนี คดีร้ายแรง ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือ ภัยอันตรายต่อสังคม แต่สังคมไทย คือ จะปล่อย หรือ ขังใคร คือ มีเงินมีอำนาจหรือไม่
“การฟ้องคดีปัจจุบัน อัยการไม่เห็นพยานหลักฐานจนวันสืบพยาน หรือวันฟ้องร้อง นี่คือจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างมาก นี่คือ กระบวนการยุติธรรมกบในกะลา เพราะไม่รู้ว่าระบบยุติธรรมสากลเป็นอย่างไร คือ ขังก่อน สั่งไม่ฟ้องทีหลัง นี่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ดังนั้นถ้าให้คะแนนความยุติธรรมแก่ประชาชน คือ ศูนย์” ดร.น้ำแท้ กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมไทยวิปริตจากความไม่ยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม จับแพะ จับผิด และ ศาลยกฟ้องคนบุริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังฟรี โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม “ในชั้นสอบสวนที่เป็นคนยากจน” ที่สำคัญชั้นสอบสวน อัยการ และ ศาล แต่สังคมกลับมุ่งจับผิดไปที่ศาล แต่อย่าลืมว่าการเริ่มต้นทำคดี คือ “ตำรวจ” อำนาจสอบสวนและสั่งฟ้องอยู่ในคนๆเดียวกัน ระบบไทยถอยหลังไปไกลยิ่งกว่าสมัยอดีตรัชกาลที่ 5 ด้วยซ้ำไป เพราะระบบสอบสวนในอดีตฝ่ายปกครองเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย แต่อำนาจสอบสวนได้เปลี่ยนไปอยู่ในมือตำรวจ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมาก และไม่ถูกตรวจสอบหรือถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่นๆ ยกเว้นประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ดังนั้นการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ฝ่ายปกครองจังหวัด เป็นต้น นี่คือปัญหาใหญ่ ให้เข้ามารับรู้การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานด้วย
“คำพิพากษาที่ดีคือต้องมีมาตรฐานทั้งคนจน หรือ คนรวย อย่างเช่น ศาลชั้นต้น พิจารณาพิพากษาอย่างหนึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณากลับอีกอย่างหนึ่ง จึงควรปฏิรูปได้แล้ว เพราะคนจนอึดอัดมากจากผลกระทบจากกระบวนยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม หลายๆประเทศในโลกเจริญได้เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ดีนี่คือเหตุผลทำไมนักโทษล้นคุก”
กระบวนการยุติธรรมที่ดี คือ ติดตามจับกุม สืบสวนสอบสวน และ การสั่งฟ้องต้องมีประสิทธิภาพ แต่ฝ่ายนโยบาย หรือ รัฐสภายังให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวน้อยมาก แต่จะมุ่งไปเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะคุมตำรวจและดูแลการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเอง จึงอยากให้เวลา พล.อ.ประยุทธ์ 1 ปี ในฐานะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ว่าจะทำได้จริงหรือไม่
จากนั้นผู้ร่วมเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
คุณวินัย บัวประดิษฐ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แสดงความคิดเห็น ว่า ได้ฟังอาจารย์คณิต ท่านวิรุตม์ และทุกท่านแล้ว ยินดีที่ได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเสวนา แสดงว่ามีการตระหนักเห็นปัญหา และรัฐบาลหลายสมัยควรดำเนินการ แต่ไม่เห็นเสียที ผมเป็นผู้ว่าราชการมา 11 ปี 7 จังหวัด เจอพี่น้องประชาชนมาร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดมากมาย น่าสงสารมาก!
ในอดีตผู้ว่าฯ มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้พวกเขา แต่ปัจจุบัน ผู้ว่าฯ ไม่สามารถช่วยได้ การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการสอบสวน ถูกยัดเยียดความผิด เป็นปัญหาอันดับต้นๆ อันดับที่สองคือความล่าช้าในกระบวนการ พวกเขาไม่สามารถทราบว่าเรื่องของเขาไปถึงไหนอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหน ต้องมาตามคดีที่ผู้ว่า อีกเรื่องการถูกบังคับ ขู่เข็ญ เมื่อมีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบตลอด
ในกระบวนการยุติธรรม สิ่งสำคัญที่จะเข้ามาสู่อัยการ ศาล ก็คือการสอบสวนของตำรวจ เป็นจุดที่เราน่าจะหยิบยกมาแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราเคยมีการถ่วงดุลอำนาจ ผู้ว่าฯแต่งตั้งปลัดอำเภอเข้าไปเป็นพนักงานสอบสวนร่วมได้ แต่ตอนหลังอำนาจเหล่านี้หายไป
การไม่มีหน่วยงานอื่นถ่วงดุลอำนาจ ทำให้การสอบสวนตกอยู่ในอำนาจของตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ถูกสายบังคับบัญชาสั่งให้ทำตาม ทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขเป็นจุดแรก
ศาลเองก็ควรปรับกระบวนการให้สามารถทบทวนความผิดได้ น่าจะมีการปรับอำนาจของศาลทบทวน ในความเป็นจริง การสอบสวนเป็นอย่างไร ผลคดีก็จะออกมาอย่างนั้น เรามีแพะเยอะ ก็เพราะมีปัญหาจากการสอบสวนทั้งสิ้น
อัยการจันทิมา ธนาสว่างกุล ยอมรับว่าอัยการตกเป็นจำเลยสังคม ถูกเพ่งเล็ง แต่ก็เป็นสิ่งดีที่จะช่วยกันแก้ไข การสั่งคดีจะมีคุณภาพ ถ้าเราได้พยานหลักฐานได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน
ท่านวิรุตม์พูดถูกต้อง คืออัยการอ่านนิยาย อ่านแต่กระดาษล้วนๆ ไม่เคยเห็นพยาน อัยการแค่ review จากสิ่งที่เขาส่งมาเป็นตัวอักษร จะทำอย่างไรให้อัยการสัมผัสพยานหลักฐานที่เป็นจริง สามารถกำหนดประเด็นต่างๆ เอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาสู่สำนวนโดยรู้ว่าสำนวนนี้มีมูลเหตุจูงใจอย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องสอบจนสิ้นกระแสความ
ในฐานะที่เป็นอัยการมา 30 ปี ขอเรียนว่าไม่สามารถกำหนดสำนวนคดีได้เอง อัยการต้องมีบทบาท รู้มูลเหตุจูงใจในการทำผิด จะทำอย่างไรให้ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายที่เราตั้งข้อหาเขานั้นสมบูรณ์ เราไม่มีโอกาสเอาข้อเท็จจริงมาปรับกับข้อกฎหมายและตั้งข้อหาเขาเลย มีแต่ตำรวจตั้งข้อหาเองมาโดยตลอด จึงเป็นปัญหา
อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนิติวิทยาศาสตร์ เราต้องรับรู้จากผู้เชี่ยวชาญได้ ให้เวลากับอัยการในการสอบพยาน สัมผัสหลักฐานที่เพียงพอ ไม่ใช่มีเวลา 3-4 ชั่วโมงหรือสองสามวัน กฎหมายต้องปรับใหม่ อัยการต้องมีบทบาทในการเพิ่มเติมพยานหลักฐานได้ในระหว่างพิจารณา แม้ว่าพยานหลักฐานจะมาหลังจากที่สอบสวน มันจึงจะเป็นสิ่งที่อาจารย์คณิตพูดว่าทุกคนต้องมาค้นหาความจริงให้ปรากฏ อัยการต้องไม่ถูกบล็อกในการค้นหาความจริง
ผู้แทนอัยการสูงสุด ขอยืนยันว่าที่ ดร.คณิตสอนมา อัยการส่วนหนึ่งได้ปฏิบัติตาม อัยการถูกฟ้องได้ และถูกฟ้องมาแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองเหมือนศาล เมื่ออัยการถูกฟ้อง ก็มีหน้าที่ต้องแก้ตัวว่าบริสุทธิ์ การสั่งคดีมีเหตุผล เราสอนแนวนักกฎหมายมาผิด ให้จำหลักฎีกา โดยเฉพาะเนติบัณฑิต ซึ่งฎีกาคือคำตัดสินที่ไม่ใช่กฎหมายโดยแท้ เราเอาหลักของอังกฤษมาใช้ คนมีเวลาเยอะมีโอกาสดูหนังสืออ่านฎีกาเยอะก็มีโอกาสสอบได้ เรามีทนายเก่ง เป็นคนดีก็มาก ทำไมไม่มีโอกาสได้เป็นศาล
ทำไมเราไม่คัดเลือกคนจิตใจดีมากกว่าคนเก่ง อีกประการหนึ่งกระบวนการหาพยานหลักฐานที่พูดกันมาก เรามีวีดีโอตามท้องถนนมากมาย ในศาลเรามีนโยบายมานานแล้วว่าจะบันทึกวีดีโอ ถ่ายสีหน้าทุกอย่าง ศาลสูงก็ต้องเอาวีดีโอไปดู ไม่ใช่อ่านแต่กระดาษ วีดีโอมีความสำคัญแต่ศาลไม่ทำ แม้แต่อนุญาโตตุลาการเราก็มีการบันทึกเทปแต่ว่าเวลาถอดเทปจะถอดเฉพาะข้อความสำคัญไม่มีข้อความในการเถียงโต้แย้งกัน
ข้อบกพร่องมันหลายจุด สิ่งที่เราจะทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้อยู่ที่อัยการฝ่ายเดียว เราต้องทำจากสูงลงล่าง คือเปลี่ยนแปลงจากศาลซึ่งเป็นผู้ควบคุม ถ้าเราควบคุมกันดีๆข้างล่างก็จะตามหมด ต้องแก้ไขกฎหมายให้มีการคานอำนาจกัน
ดร. คณิต ณ นคร กล่าวว่า ครั้งนี้เราพูดถึงปัญหามากจริงๆ ความจริงผมได้เขียนไว้ในหนังสือไว้หมดท่านหาอ่านได้มีอยู่ห้าเล่ม ในเล่มสุดท้ายคือ “สิทธิของข้าพเจ้าในคดีอาญา” เขียนให้ประชาชนอ่าน
การกระทำในทางกฎหมายมี 3 อย่าง คือการกระทำของรัฐ หรือ Government Act รัฐบาลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้แถลงนโยบายให้รัฐสภาทราบ แล้วดำเนินการตามความรับผิดชอบ ก็ถือว่าเขาทำตามนโยบาย ซึ่งนักกฎหมายเราก็ไม่เข้าใจ เรื่องที่สองเรียกว่าการกระทำในทางรัฐบาลหรือ Administrative Act ขึ้นศาลปกครอง ส่วนการกระทำที่สามที่เรียกว่า Justice Act คือการสั่งคดีของอัยการกับการพิพากษาของศาล ถ้าอัยการทำผิด อัยการติดคุกจะไม่มีการเยียวยา หลายคนเรียนกฎหมายไม่แตกฉานพอ ปัญหาจึงเกิดขึ้นเยอะ ถ้าอัยการทำหน้าที่ทุจริตจริงก็ต้องว่าไปตามนั้น
ศาลก็เช่นกัน ที่ท่านพูดถึงมาตรา 157 นั้นประชาชนฟ้องไม่ได้นะครับ เพราะมาตรานี้ สิ่งที่คุ้มครองเป็นนามธรรม คือความบริสุทธิ์สะอาดของอำนาจรัฐและของตำแหน่ง การต่อสู้คดีนั้น ต้องการให้เราเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับผู้เสียหาย ให้มีหลัก และต้องดูสิทธิคุ้มครอง ถ้าท่านขโมยนาฬิกาผมไป สิทธิที่คุ้มครองคือกรรมสิทธิ์กับการครอบครองของผม แต่ถ้านาฬิกายืมเพื่อนมา สิทธิครอบครองและเสียหายเป็นของสองคน กล่าวคือคนหนึ่งครอบครองอีกคนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย
อันที่จริงกฎหมายบกพร่องน้อยมาก มันเกิดจากการเรียนการสอนที่มีปัญหา เช่นการออกหมายจับ เราต้องไปหาอัยการก่อน แต่ประเทศเราให้ไปศาลเลย ศาลประเทศเราไม่ทำงานเชิงรุก เมื่อคดีถึงศาล ศาลต้องเป็น master of ceremony ที่ต้องรับผิดชอบความจริง
มนุษย์เราต้องการในชีวิตสองอย่าง คือความจำเป็นในชีวิต และความยุติธรรม แม้จะมีเงินล้นฟ้าแต่ไม่มีความยุติธรรม มันก็ทุกข์ การที่อัยการฟ้องกันอยู่ปัจจุบันก็มีผิดกฎหมายมาก การฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่จำเลยทำผิด ให้เหตุผลว่าฟ้องเพราะอะไร ขอถามว่ามีการบรรยายกันบ้างมั้ย เห็นบรรยายกันแต่ไม่ครบองค์ประกอบ และต้องแจ้งข้อหาการกระทำที่ถูกกล่าวหา เรายังทำผิดๆกันมาก คณะนิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาเราก็สอนกันผิดๆถูกๆ
ทนายจุติเสฎฐ์ บุญดี กล่าวว่า ตอนยังไม่ได้เป็นทนายเคยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ซื้อที่ดินถูกกฎหมาย ไม่เคยโกงใคร ไม่เคยได้เจอหน้าอัยการ เจอเฉพาะวันฟ้อง พอโทรไปถามว่าต้องใช้หลักประกันเท่าไหร่ อัยการบอกไม่ต้อง ให้เดินทางไปได้เลย พอไปหาก็โดนล็อกตัวเข้าห้องขังให้ใช้เงินประกันคนละสามล้าน แต่ดิฉันมีเงิน เลยวิ่งไปหาท่านผู้พิพากษา ก็ตำหนิอัยการว่าทำไมไม่บอกอะไรเลย แนะให้กลับไปเอาหลักทรัพย์มาจึงได้ประกัน ในที่สุดศาลยกฟ้องหลังสู้คดีสองปี หมดค่าทนายไปห้าแสนและใช้เงินไปเป็นล้าน
จึงอยากให้แก้ไขที่ต้นทางโดยแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ แล้วให้อัยการลงไปร่วมสอบด้วย เมื่อดิฉันไปเป็นทนายก็สงสารประชาชน ความยุติธรรมไม่ถึงคนจนจริงๆ เมื่อไม่กี่วันนี้ก็ได้ช่วยพาคนที่ไม่ได้กระทำผิดออกจากคุก เราทะเลาะกับอัยการมาแล้ว ประชาชนคนนี้ถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติดไว้เสพ 23 เม็ด ไม่มีเงินประกันตัว เขาให้ใช้ EM (Electronic Monitoring) ซึ่งก็ไม่ฟรี ต้องจ่ายเงินสี่แสนบาท
คดีแพะลังส้มที่มียาเสพติด เราได้ไปช่วย ตร.ก็รู้ว่าใครเป็นเจ้าของยา แต่เอาผู้ต้องหาไปขังไว้เดือนกว่า เมียร้องเรียนหลายที่ ดิฉันและทีมงานไปช่วยเอาตัวออกมา เราขอบคุณสื่อที่เผยแพร่เรื่องนี้ คนที่โดนคดีจริงๆ ก็จะไม่เข้าใจ ส่วนอีกคดีหนึ่งเราได้ส่งเอกสารหลักฐานไปให้ตำรวจ แต่เขาไม่ส่งให้อัยการ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คดีนโยบายมีปัญหาการเข้าถึงความยุติธรรมมาก เช่นคดียาเสพติด คดีความมั่นคง ก่อการร้าย และคนเข้าเมือง เมื่อเป็นเป็นนโยบายก็จะมีกฎหมายพิเศษในหลายๆรูปแบบ กรณียาเสพติดก็จะสามารถควบคุมตัวได้ 3 วัน อะไรจะเกิดขึ้นใน safe house หรือสถานที่ลับ หลายครั้งนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งเราก็ทราบกันอยู่ว่ามันรับฟังไม่ได้ เป็นหลักฐานที่ห้ามรับฟัง ต้องยึดหลักการป้องกันคนที่ไม่ได้กระทำผิดได้รับความเป็นธรรม และทำให้คนที่กระทำความผิดจริงๆ ถูกลงโทษ
ผู้ต้องขังในเรือนจำ 359,000 คน 78 % เป็นคดียาเสพติด จึงอยากจะเสนอให้ทำเรื่องนี้ก่อน เพราะผู้ต้องหาคดียาเสพติดนั้นหาทนายยาก ไม่มีคนอยากยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นนักสิทธิมนุษยชนก็มีความเสี่ยง ชาวบ้านก็ระมัดระวังไม่อยากเป็นพยาน เพราะกลัวจะโดนไปด้วย
ส่วนคดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นคดีนโยบาย มีกฎหมายพิเศษเช่นกัน กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน ถูกละเมิดตั้งแต่จับกุมควบคุมตัวโดยหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม แต่ปฏิบัติตัวเหมือนคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมคือ จับกุม ควบคุมตัว สอบสวน สืบพยาน ซักถาม นำหลักฐานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และมีแนวโน้มว่าศาลจะฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกฎหมายพิเศษเหล่านี้ด้วย
อีกส่วนหนึ่งคือคดีที่เกี่ยวกับคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่มีการจับเอง กักเอง ปล่อยตัวเอง ควบคุมตัวบุคคล และจะส่งศาลหรือไม่ส่งศาลก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของหน่วยงานเดียว
ข้อเสนอคือ ควรยุติการดำเนินคดีนโยบายภายใต้กฎหมายพิเศษเหล่านี้โดยเร็ว แล้วหันไปใช้กฎหมายปกติในทุกกรณี และปฏิรูประบบงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้มีการตรวจสอบได้ ตอนนี้มีบุคคลที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ตรวจสอบไม่ได้มากมาย และที่ ตม. สวนพลูก็เหมือนเป็นสหประชาชาติน้อยๆ เพราะมีหลายร้อยคนจากหลายประเทศอยู่ที่นั่น ถ้าไม่รีบแก้ไขจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศชาติ
นิกร วีสเพ็ญ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่า ถ้าคนดีอยู่ในหมู่คนไม่ดี ก็ลำบาก เราอยากให้คนดีอยู่ได้ในระบบที่ดีด้วย สสส.เราทำเรื่องปฏิรูปกระบวนการทางอาญาโดยภาคประชาชน สิ่งแรกอยากให้ปฏิรูปคือการสร้างการถ่วงดุลอำนาจตั้งแต่เป็นคดี จะทำอย่างไรทั้งตำรวจ นิติเวช กองพิสูจน์หลักฐาน อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าถึงพยานหลักฐานได้ทกหน่วย
คดีชัยภูมิ ปะแส ที่โดนวิสามัญฆาตกรรม มีกล้องวงจรปิดนับสิบตัว แต่กองพิสูจน์หลักฐานไม่สามารถเข้าไปถึงที่เกิดเหตุได้ทันที เขาบอกว่าต้องรอพนักงานสอบสวนร้องขอ ถ้าไม่ร้องขอก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงได้ครบถ้วน มันเป็นไปได้อย่างไรที่กล้องวงจรปิดทั้ง 9 ตัวใช้การไม่ได้เลย และทราบภายหลังว่ากว่า พฐ.จะสามารถเข้าถึงกล้องวงจรปิดได้ต้องใช้เวลาหลายวัน ถ้าเราทำให้หลายหน่วยงานเข้าถึงที่เกิดเหตุ ได้ข้อเท็จจริงที่เหมือนกัน ก็จะไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ บิดเบี้ยวไม่ได้ ทำลายไม่ได้
กรณียาเสพติดที่ถูกวิสามัญที่แม่วาง เชียงใหม่ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีการนำอาวุธไปวางไว้ในมือผู้ตาย ตอนนี้เขากำลังประท้วงกันอยู่ ถ้าเราไม่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายให้มีการถ่วงดุลกัน ชาวบ้านก็จะถ่วงดุลด้วยตัวเอง เขารู้ว่ามันอันตรายและเจ็บปวด แต่ผู้ถูกฆ่าเป็นลูกหลานของเขา เราต้องมามองภาพทั้งหมด ว่าากระบวนการก่อนที่จะถึงพนักงานสอบสวนมันมีอะไรบ้าง ระหว่างที่อยู่ในมือพนักงานสอบสวนมีอะไรบ้าง ในมือพนักงานอัยการมันมีอะไรบ้าง และผู้พิพากษาด้วย ขอฝากผู้เกี่ยวข้องให้พิจารณา
ตัวแทนอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีที่ท่านได้พูดถึงการถ่วงดุล ผมทราบว่าปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่างวิอาญาฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำลังรอเข้าสู่สภา เกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดี 11 ข้อ แต่ขอพูดสั้นๆเกี่ยวกับเรื่องการถูกจับ บันทึกภาพวีดีโอขณะค้น ห้ามแถลงข่าว มากมายไปหมด
แนวทางที่ท่านพูดมาขอสรุปในฐานะที่อยู่สถาบันกฎหมายอาญาของอัยการสูงสุด มีหน้าที่พิจารณาโครงสร้างต่างๆ มีอยู่หลายมาตราที่คุ้มครองประชาชนอยู่แล้วแต่ไม่ได้ปฏิบัติ เช่น การประกันตัวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ก็ได้ ท่านทนายทราบดี กฎหมายแก้ไขแล้ว ทำไมไม่นำมาใช้ ส่วนเรื่องความรวดเร็ว ท่านคิดหรือว่าความรวดเร็วจะทำให้เกิดความยุติธรรม ทนายทราบดีว่าบางทีอยากจะสืบเพิ่มเติมต่อเนื่อง หรือบางที่เกิดหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นพิจารณาก็ทำไม่ได้
ส่วนการเรียนการสอน เราไม่เอาคนดี เอาแต่คนเก่งเขียนเก่ง พวกที่จบต่างประเทศไม่เห็นเอา อาศัยฎีกาเป็นหลัก เรื่องยาเสพติด ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมถือว่าผู้ที่มียาอยู่ที่ตัวให้ถือว่าผิดไว้ก่อน ฝ่ายที่ครอบครองต้องแก้ตัว ถือเป็นบาปมหันต์
แล้วยังสงสัยไปถึงกระบวนการได้มาของพนักงานไต่สวนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของ ปปท.ด้วยทราบว่าอนุกรรมการไต่สวนบางคนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจยศนายพัน และมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จเอง ในคดีนี้มีการดำเนินการกับพยานเท็จอีกหลายคน แล้วมีการลงโทษด้วย
อีกกรณีหนึ่งที่อยากจะสะท้อนไปถึงราชทัณฑ์ด้วยในเรื่องการปล่อยตัว มีกรณีหนึ่งที่เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่าเมื่ออัยการเจ้าของสำนวนรับคดีจากพนักงานสอบสวนแล้วเหลือเวลาสามวันเท่านั้นจึงจะครบกำหนดฝากขัง อัยการบอกว่าต้องสั่งฟ้องแน่นอนเพราะมีเวลาจำกัด ขณะที่เจ้าตัวร้องขอความเป็นธรรม ทนายได้นำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังอธิบดี แล้วอธิบดีเอาหนังสือไปยังสำนักงานเรียกร้องให้สอบพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก สงสัยว่าอัยการมีอำนาจสอบเพิ่มเติมมีความอิสระแท้ แต่ทำไมไม่ทำ ผมสรุปว่าเห็นด้วยที่จะปฏิรูปแต่จะปฏิรูปได้อย่างไรในเมื่อปัจจุบัน คปก.มีข้อเสนอมากมายควรมีการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ถ้าวิทยากรทุกท่านในที่นี้จะร่วมรณรงค์ด้วยก็จะมีน้ำหนักมาก
ทนายพีรวิชญ์ เกื้อสังข์ พิธีกรกฎหมายชาวบ้านจากสมาพันธ์ทนาย กล่าวว่า ฟังวิทยากรทุกท่านแล้ว รู้สึกยังมีความหวัง ที่อัยการบอกว่ามีเวลาสั่งคดีน้อย เลยต้องสั่งฟ้องไว้ก่อน เจ้าพนักงานต่างๆ safe ตัวเองในการสั่ง แต่ไม่ safe ประชาชน หมายถึงอัยการมีข้อมูลอยู่น้อยนิด ยังไม่สิ้นกระแสความ แล้วสั่งฟ้องทุกคดี เพราะถ้าสั่งไม่ฟ้องก็ต้องชี้แจง ทำให้ประชาชนต้องรับกรรม
พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสป.ยธ. ผมเห็นว่า “ความยุติธรรมที่มาช้า ก็ยังดีกว่าความยุติธรรมที่ไม่มา” เพราะบางคดีนอกจากล่าช้าแล้ว สุดท้ายยังไม่มาอีกด้วย สาหัสเลยนะครับ
พ.ต.อ.สมคิด สมบูรณ์ ผกก.สอบสวน ตัวแทน สตช. กล่าวว่า ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วิรุตม์ฯ ในการปฏิรูปให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนแต่ต้น เพื่อให้ตำรวจหลุดพ้นจากการเป็นจำเลยของสังคม ตอนนี้อะไรที่ไม่ดีก็มักจะโทษพนักงานสอบสวน จึงควรให้อัยการเข้ามาแต่แรก แต่ไม่ใช้ให้มาเป็นผู้บังคับบัญชาอีกคนหนึ่ง สำนวนจะได้เดินไปได้อย่างสมบูรณ์
ตัวแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ เราทำงานในรูปของคณะทำงาน มีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนอยู่แล้ว เดิมทีคดีพิเศษมี 41 ความผิด แต่ปัจจุบันมีการปรับแล้วให้มี 23 ความผิด ดูเฉพาะคดีที่มีความผิดซับซ้อนยุ่งยากจริงๆ ในการรับเป็นคดีพิเศษจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณารับเรื่อง เป็นการทำงานเป็นองค์คณะ เมื่อเป็นคดีพิเศษก็จะเชิญอัยการเข้ามาร่วมสอบ การจะแจ้งข้อกล่าวหาใครก็จะมีพนักงานอัยการเข้ามาร่วมด้วย มีการโทรหารืออัยการ หรือเชิญเข้ามาพิจารณา ให้ความเห็นว่าคดีนั้นๆควรออกหมายค้นหรือจับ จะเชิญมาสรุปสำนวนคดี สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้อย่างไร ที่ประชุมนี้มีข้อเสนออะไรทางดีเอสไอก็จะรับข้อเสนอแนะนำผู้บริหารต่อไป
นายมานะ สิมมา ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนจากการสอบสวนจะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น ตามกฎหมาย คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/56 ที่ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจส่งสำนวนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอตรวจสอบเมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ ผบ.ตร.ออกคำสั่งได้เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่เป็นเรื่องการบริหารงานภายในเท่านั้น ยังดีนะที่มีองค์กรอัยการทำการวินิจฉัยว่า คำสั่ง ตร.ที่ 419 ไม่มีผลตัดอำนาจของฝ่ายปกครองในการตรวจสอบการสอบสวน แต่ในทางปฏิบัติก็มีมีปัญหาที่สร้างความยุ่งยากให้ประชาชนอยู่
อีกประการหนึ่ง ขอเสนอให้อัยการมีบทบาทเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุล ให้คำแนะนำหรือ มารับรู้กับคดีแต่แรก และให้เวลาอัยการในการตรวจสอบสำนวนที่มากพอ
ผู้แทนอัยการสูงสุด ตามมติ ครม.ผ่านร่าง วิ อาญา ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่มี 11 ข้อ ในข้อที่ 6 เขียนไว้ชัดเจน ให้มีการร่วมสอบสวนระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ตามมาตรา 121/1แต่ต้องเป็นคดีที่มีโทษเกิน 10 ปี จึงจะให้อัยการลงมาร่วมสอบได้ เราต้องไปผลักดันในสภา
อัยการจันทิมา ธนาสว่างกุล กล่าวว่า ในเรื่องกำหนดเวลาที่จะให้เวลาอัยการทำอะไรได้บ้างนั้น ต้องแก้ข้อกฎหมาย นอกจากการให้สามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มได้แล้ว อัยการยังมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยคดีที่ยอมความกันได้ ถ้าอัยการมีโอกาสดูสำนวนก็จะเป็นยุติธรรมทางเลือกได้ ควรกำหนดเวลาชัดเจนว่าให้สำนวนมีเวลาเท่าไหร่เพื่อสั่งคดี
เรื่อง DSI มันมีปัญหาว่า เวลาที่ส่งอัยการไปเป็นกรรมการใน DSI และเมื่อส่งสำนวนกลับมาที่อัยการสูงสุดแล้ว บางครั้งอัยการสูงสุดไม่ยอมรับว่าคนที่ส่งไปอยู่ใน DSI จะมีความเห็นที่สมบูรณ์ ยังต้องมีการปรับความเห็น ตรงนี้ก็เป็นข้ออ่อน
พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ กล่าวว่า เรื่องการส่งสำนวนให้อัยการและให้มีเวลาคิดน้อยนั้น หลายคดีมันเป็นเทคนิคของตำรวจ อัยการก็ทราบดี แต่ทำไมปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกินเวลานานหลายสิบปี ไม่มีการแก้ไข เมื่ออัยการไม่มีเวลาพิจารณา ทำให้ต้องรีบฟ้องไปทั้งที่ไม่แน่ใจในพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ต้องแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจังได้แล้ว ไม่แน่ใจหลักฐานไม่พอพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้ ก็ต้องกล้าหาญที่สั่งไม่ฟ้อง
ส่วนปัญหาของกระทรวงมหาดไทย ขอเสนอคุณมานะว่าปลัดกระทรวงก็ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีและเสนอท่านนายกฯ ว่า สตช.ออกคำสั่ง 419/56 มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากการสอบสวน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องสั่งการให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
Mr. Pascal ตัวแทนงานตำรวจของสถานทูตเบลเยียม ผมมีข้อสังเกตสองส่วน ผมคิดว่าความร่วมมือระหว่างประเทศน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาประเทศไทย อำนาจสอบ ”ผู้ต้องสงสัย” ในต่างประเทศแค่ “สงสัย” ไม่ได้ ต้องมีความชัดเจนก่อนจึงจะดำเนินการ แต่ถ้าเป็นผู้ต้องสงสัยจริงๆ ก็ต้องปฏิบัติกับเขาแบบผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่ผู้กระทำผิด ไทยควรให้มีกลไกการสอบสวนที่เป็นกลาง ส่วนบทบาทอัยกา รในประเทศเบลเยียม อัยการเป็นผู้นำในการสอบ ตำรวจทำตามที่อัยการสั่ง
ทนาย กล่าวว่า ผมตกใจที่ คำสั่ง 419 ออกโดยไม่ชอบ แต่ในทางคดีมันดำเนินมาตลอด เราจะแก้ไขอย่างไร ชาวบ้านเดือนร้อนนะ!
อัยการน้ำแท้ มีบุญสล้าง กล่าวว่า ต่างประเทศเขาส่งอัยการไปทำหน้าที่แต่แรกเลย ไม่ต้องมามีเวลาให้ทีหลัง มันซ้ำซ้อน เรื่องพนักงานสอบสวนเป็นคนกลางที่น่าเห็นใจ ส่วนใหญ่มักจะรับคำสั่งมา แต่ถ้ามีอัยการก็จะแทรกแซงไม่ได้ มันต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามาเห็นพยานหลักฐานได้ สรุปคือ ให้มีหลายหน่วยงานร่วมคดีได้ เห็นพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุร่วมกัน
พ.ต.อ.วิรุตม์ฯ กล่าวว่า อัยการในประเทศที่เจริญมีบทบาทสูง เรื่องการแก้ไขกฎหมายอะไร ก็ว่ากันไป แต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำได้ง่ายๆ ขณะนี้ คืออัยการสูงสุดสามารถออกระเบียบกำหนดแนวทางการสั่งคดีได้พรุ่งนี้เลย “การสั่งฟ้อง จะใช้คำว่า พยานหลักฐานพอฟ้องต่อไปอีกไม่ได้ ต้องยึดหลัก “คดีที่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้เท่านั้น”
เมื่อ อสส.ออกระเบียบอะไรแล้ว อัยการทุกคนทุกตำแหน่งทั่วประเทศก็ต้องถือปฏิบัติตาม
กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยที่มีปัญหาตลอดมาจะพลิกกลับทันที ไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไขกฎหมายฉบับใดที่ต้องใช้เวลาอีกนานทั้งสิ้น
ดร.คณิต ณ นคร กล่าวว่า เรานำเสนอปัญหากันเยอะมาก ในต่างประเทศเมื่อมีคดีเกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบเขาจะแจ้งอัยการทันที และอัยการเขาจะเข้าไปทำเฉพาะคดีใหญ่ๆ และมีความสำคัญ เท่านั้น และเมื่ออัยการเข้าไปสอบสวนแล้ว ก็ต้องดูแลให้ดี ให้มีการรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน ไม่ใช่ส่งมาแล้วสั่งไม่ฟ้อง
หลักสำคัญก็คือ เราต้องปฏิรูปให้การสอบสวนและการฟ้องคดีของอัยการเป็นกระบวนการเดียวกัน
วันนี้ เราได้ข้อมูลปัญหาเยอะ แต่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรเท่านั้น
การที่คุณวิรุตม์หยิบปัญหานี้มามันตรงใจกับหลายองค์กร ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ